KEY
POINTS
หลายวันมานี้เวลาผมตื่นนอนกลางดึกเพื่อจะเข้าห้องน้ำ มักจะสังเกตเห็นภรรยาของผมเปิดไฟดวงเล็กๆ เพื่อดูละครใน YouTube เงียบๆเสมอ ผมจึงถามเธอว่า “ตื่นมานานหรือยัง?ทำไมนอนไม่หลับเหรอ?” ซึ่งก็จะได้รับคำตอบว่า “ช่วงนี้นอนไม่ค่อยหลับ มักจะตื่นกลางดึกเป็นประจำ แต่พอดูละครไปสักพัก ให้ง่วงๆก็จะหลับต่อได้อีกนิดหน่อย” ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะว่า ช่วงนี้ภรรยาผมต้องดูแลช่างที่มาตกแต่งห้องพักพนักงาน เลยทำให้มีเรื่องให้คิดอยู่เสมอ ผมจึงถามไปว่า “จะลองทานยากล่อมประสาทแบบไม่แรงดูสักหน่อยมั้ย?” ซึ่งเธอก็ไม่ยอมทานยาเลย เพราะเป็นคนที่ไม่ชอบทานยาโดยไม่จำเป็นครับ
ในปัจจุบันปัญหาการนอนไม่หลับ (Insomnia) เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่หลายคนต้องเผชิญ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอัตราการเกิดโรคนอนไม่หลับสูงขึ้น เมื่อเทียบกับคนวัยหนุ่มสาว ปัญหานี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย แต่ยังอาจนำไปสู่โรคและภาวะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตและร่างกายอื่นๆได้ในระยะยาวด้วย ผมจึงอยากให้ภรรยาผมทานยา เพื่อจะได้ทำให้นอนหลับสนิทนั่นเองครับ
อันที่จริงอาการของโรคนอนไม่หลับในผู้สูงวัย ไม่ได้แค่หมายถึง การไม่สามารถหลับได้ในระยะเวลานาน แต่ยังมีการแสดงออกในหลายๆรูปแบบที่มีลักษณะพิเศษ เมื่อผู้สูงวัยประสบปัญหาการนอนไม่หลับ มักจะพบกับอาการในหลายรูปแบบ เช่น การนอนหลับที่ไม่หลับลึก ซึ่งในบางครั้งอาจหลับได้แต่เป็นการหลับที่ขาดคุณภาพ การหลับแบบไม่หลับลึก อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ผู้สูงวัยรู้สึกเหนื่อยล้าในตอนเช้า แม้ว่าจะนอนเป็นเวลานานก็ตาม หรืออาการการตื่นบ่อยๆในกลางคืน ผู้สูงอายุที่มีปัญหาโรคนอนไม่หลับ อาจมีการตื่นขึ้นบ่อยๆ ระหว่างช่วงเวลากลางคืน ส่วนใหญ่จะพบว่าเมื่อพยายามกลับไปนอนหลับอีก ก็ยากที่จะหลับสนิทได้ครับ
อีกอาการหนึ่งคือการตื่นนอนเร็วเกินไปในตอนเช้า จากการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะตื่นนอนเร็วกว่าปกติ และไม่สามารถหลับต่อจนถึงเวลาเช้าได้ ซึ่งทำให้รู้สึกอ่อนเพลียในระหว่างวันได้ด้วย ผมเองก็เป็นคนที่ตื่นนอนแต่เช้าตรู่ทุกวัน ไม่ว่าจะนอนดึกแค่ไหน (แต่ต้องไม่เกินเที่ยงคืนนะครับ เพราะถ้าเกินเที่ยงคืนจะนอนไม่หลับยาวเลยครับ) พอได้เวลาตี 5 ก็มักจะตื่นขึ้นเองโดยอัตโนมัติเสมอครับ นอกจากนี้ก็ยังมีอาการวิตกกังวลหรือความเครียด ซึ่งผู้สูงอายุที่นอนไม่หลับ อาจรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลเกี่ยวกับการนอนหลับของตัวเอง การนอนไม่หลับทำให้รู้สึกกังวลและยิ่งเพิ่มความเครียดให้กับร่างกาย ซึ่งอาจทำให้การหลับยากขึ้นไปอีก นี่คืออาการของโรคนอนไม่หลับ(Insomnia)ละครับ
สาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงวัย เกิดขึ้นจากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุเดียวหรือหลายปัจจัยร่วมกันที่ส่งผลต่อการนอนหลับ อาทิเช่น การเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพในวัยชรา เมื่อผู้สูงอายุ อายุมากขึ้น การผลิตฮอร์โมนของผู้สูงวัยที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เช่น เมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการนอนหลับจะลดน้อยลง ทำให้การนอนหลับยากขึ้น ในขณะเดียวกัน ปริมาณการนอนลึก หรือการนอน REM (Rapid Eye Movement) ก็จะลดลงตามอายุของผู้สูงวัยครับ
อีกสาเหตุหนึ่งคือ การเจ็บป่วยและโรคประจำตัว ซึ่งผู้สูงวัยมักมีโรคประจำตัวหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคข้อเสื่อม หรือแม้กระทั่งภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea) นอนกรน(Snoring) ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถหลับสนิทได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออาการของโรคมีผลกระทบต่อการหายใจ เช่น โรคปอด หรือภาวะการหายใจสะดุด อีกสาเหตุหนึ่งที่เราผู้สูงอายุไม่ควรมองข้าม ก็คือผลข้างเคียงจากยารักษาโรค โดยมากการใช้ยาในผู้สูงวัยที่มีโรคหลายชนิด อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อการนอนหลับได้ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดความเครียด ยาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า หรือยานอนหลับเอง ก็อาจส่งผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดการนอนไม่หลับในบางรายได้
อีกสาเหตุหนึ่งที่น่าจะเกิดจาก ปัจจัยทางจิตใจและสภาพจิตใจ เช่น ความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ที่เกิดจากการเกษียณอายุ การสูญเสียบุคคลที่รัก หรือความรู้สึกเหงา อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุได้เช่นกัน นอกจากนี้การเครียดหรือวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต ความเจ็บป่วย หรือสภาพร่างกายอาจทำให้สมองยังคงตื่นตัว ในขณะที่ร่างกายต้องการการพักผ่อน บางท่านก็อาจจะเครียดที่เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งสาเหตุนี้ ก็ต้องตัวใครตัวมันละครับ
ผลกระทบจากโรคนอนไม่หลับต่อผู้สูงวัย การนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่ปัญหาที่เกิดขึ้นในคืนเดียว แต่เป็นปัญหาที่ยาวนานและส่งผลต่อหลายด้านของชีวิต เช่น จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค จากผลการวิจัยที่ผมอ่านพบในหลายบทความพบว่า การนอนไม่หลับเรื้อรัง (Chronic Insomnia) สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง การนอนไม่หลับจะทำให้ร่างกายขาดการซ่อมแซมที่จำเป็นในขณะหลับ และทำให้กระบวนการฟื้นฟูระบบต่างๆ ภายในร่างกายมีปัญหาได้ด้วยเช่นกันครับ
ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การนอนไม่หลับทำให้สมองไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ส่งผลให้ความสามารถในการตัดสินใจและการตอบสนองลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องจากการขาดสมาธิและความตื่นตัว นอกจากนี้ ปัญหาด้านสุขภาพจิต จากการนอนไม่หลับ สามารถทำให้ผู้สูงอายุประสบกับปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือแม้แต่โรคจิตเวชบางชนิด เนื่องจากการนอนไม่พอจะทำให้สมองขาดการพักผ่อนก็จะส่งผลต่อความสมดุลทางอารมณ์ได้ครับ
การรักษาอาการนอนไม่หลับ มีหลายวิธี เช่น การสร้างกิจวัตรประจำวันของการนอนให้สม่ำเสมอ สามารถช่วยให้ร่างกายปรับตัวให้รู้จักเวลานอนที่เหมาะสม หรือการหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน เช่นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือทีวี เนื่องจากแสงสีฟ้าจากหน้าจอ อาจจะทำให้รบกวนกระบวนการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินที่ช่วยให้หลับสนิท นอกจากนั้น การลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน โดยเฉพาะในช่วงบ่ายหรือเย็น เช่น ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นระบบประสาท ซึ่งอาจทำให้การนอนหลับยากขึ้น หากลดลงบ้าง ก็อาจจะช่วยได้เช่นกันครับ
นอกจากนั้นยังมีการออกกำลังกาย เพื่อช่วยลดความเครียดและส่งเสริมการนอนหลับที่ดี แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วงก่อนนอน เนื่องจากอาจทำให้ร่างกายตื่นตัวและหลับยากขึ้น ยังมีการรักษาทางการแพทย์และการใช้ยา เมื่อการปรับพฤติกรรมการนอนหลับไม่ได้ผล อาจจำเป็นต้องใช้ยาในการช่วยหลับ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาที่เหมาะสม เนื่องจากผู้สูงวัยอาจมีความเสี่ยงจากผลข้างเคียงจากการใช้ยา วิธีสุดท้ายผู้สูงวัยอาจจะต้องใช้การบำบัดทางจิตวิทยา เช่น การสวดมนต์ก่อนนอน หรือการบำบัดทางพฤติกรรมการนอน (Cognitive Behavioral Therapy for Insomnia: CBT-I) ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าได้ผลในการรักษาผู้ที่ประสบปัญหานอนไม่หลับ
อย่างไรก็ตาม ถ้ายังคงนอนไม่หลับจริงๆ ก็คงไม่มีวิธีใดดีกว่า “ทำใจให้ร่มๆเข้าไว้”เท่านั้นแหละ......เฮ้อ ผมก็คงต้องไปเข้านอนบ้างแล้วละครับ