เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคมช่วงบ่ายโมงเศษ ได้เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหวในเขตเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ที่ส่งผลกระทบมายังกรุงเทพมหานครของเรา ทำให้อาคารที่กำลังก่อสร้างอยู่ได้ถล่มลงมาตามที่เราได้เห็นในภาพข่าว ในขณะที่เกิดเหตุผมอยู่ระหว่างขับรถอยู่บนท้องถนน จึงทำให้ไม่ทราบว่ามีแผ่นดินไหว จนกระทั้งทางเพื่อนๆหลายท่านติดต่อเข้ามา จึงทราบว่ามีปัญหาแผ่นดินไหว สะเทือนมาถึงกรุงเทพฯ ซึ่งน่ากังวลใจมากครับ
ผมเคยเล่าให้ฟังมาตลอดว่า ในประเทศเมียนมามีรอยเลื่อนของเปลือกโลกอยู่สองรอย โดยรอยที่หนึ่งคือ รอยเลื่อนเปลือกโลกเจ้าเพียก(Kyauk kyan Fault) หรือรอยเลื่อนเมียวอู(Maeu Fault) ที่เริ่มต้นที่ทะเลอินเดีย ตัดเข้ามาทางด้านใต้ของรัฐยะไข่ ตัดไล่ผ่านรัฐมะไกว รัฐมันฑะเลย์ ทะลุผ่านเข้ามายังมณฑลยูนนาน เข้าสู่มนฑลเสฉวนไปสิ้นสุดที่เมืองเหวินชวน เมืองเหมียนหยาง มณฑลเสฉวน เป็นเส้นขวางประเทศเมียนมา ส่วนอีกรอยหนึ่ง คือ รอยเลื่อนสะกาย(Sagaing Fault) ซึ่งเริ่มจากตอนเหนือของเมียนมา ทอดยาวลงมาทางใต้ ตัดผ่านเมืองมิตจีน่า(Myitkyina) ไล่ลงมายังเมืองมัณฑะเลย์ และมาตัดเป็นรูปกากบาทกับเส้นรอยเลื่อนเมียวอู(Maeu Fault) จากนั้นจึงไหลลงมาสู่เมืองตองอู เมืองพะโค สู่อ่าวย่างกุ้ง
จะเห็นได้ว่าประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณที่มีความเสี่ยงจากการเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่มีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกที่สำคัญ โดยเฉพาะในเขตที่อยู่ใกล้กับรอยเลื่อนหรือ fault lines ซึ่งมีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวทั้งในระดับเล็กน้อยและรุนแรงมากมาย แม้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นในหลายส่วนของโลก แต่ประเทศเมียนมามีประสบการณ์จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์
ในขณะเดียวกัน ประเทศเมียนมายังอยู่ในบริเวณที่มีรอยเลื่อนที่สำคัญ ซึ่งประกอบไปด้วยรอยเลื่อนที่มีความเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลก ได้แก่ รอยเลื่อนซัสคิน (Sunkin Fault) และรอยเลื่อนมุมใต้ของมุมมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งทั้งสองรอยเลื่อนนี้มีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลกอีกหลายพื้นที่ในมหาสมุทรแปซิฟิก การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกในพื้นที่นี้ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวในบางพื้นที่ โดยบางครั้งแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจะรุนแรง จนสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งที่เกิดปัญหาสึนามิในภาคใต้ของไทย และฝั่งทะเลอาแจะ ประเทศอินโดเนเซีย ที่ผ่านมานั่นเองครับ
ในประเทศเมียนมาเอง รอยเลื่อนทั้งสองรอยที่กล่าวมานั้น ทำให้มีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมามาแล้วหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น แผ่นดินไหวที่เมืองพะโค (Pegu) ในปี พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857) ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเมียนมา ซึ่งมีศูนย์กลางของแผ่นดินไหวตั้งอยู่ในบริเวณพะโค หรือที่รู้จักกันในชื่อเมืองหงสาวดีในอดีต หรือเมืองพะโคในปัจจุบัน แผ่นดินไหวในครั้งนั้น ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงทั้งในแง่ของทรัพย์สินและชีวิตมนุษย์ ประมาณว่าเหตุการณ์นี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และทำให้บ้านเรือนจำนวนมากพังทลายลง
ต่อมาก็มีแผ่นดินไหวที่เมืองลอย (Loi) ในปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) ที่มีขนาดประมาณ 6.0 ริกเตอร์ ซึ่งกระทบต่อพื้นที่ในภาคกลางของเมียนมา เหตุการณ์นี้ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงเท่าแผ่นดินไหวในปี 2400 แต่ก็ยังทำให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่ประชาชนหลายพื้นที่ เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกในพื้นที่ อีกครั้งหนึ่งคือแผ่นดินไหวที่เมืองเนปิดอว์ (Naypyidaw) ในปี พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) ที่มีขนาดประมาณ 6.8 ริกเตอร์ โดยศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ใกล้กับเมืองหลวงของประเทศเมียนมา เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารบางแห่ง และทำให้ประชาชนในเมืองหลวง ต้องอพยพออกจากพื้นที่ชั่วคราวเหตุการณ์นี้ได้สร้างความกังวลถึงความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
อีกครั้งหนึ่งที่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองมัณฑะเลย์ ในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศเมียนมา ก็ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริกเตอร์ ทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารในเมือง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายสิบคน อีกทั้งยังทำให้ระฆังใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีน้ำหนักหลายตันที่ตั้งอยู่ที่เมืองหมินกุน หล่นออกจากที่แขวน ต้องให้รถเครนขนาดใหญ่เข้าไปยกขึ้นมาแขวนใหม่อย่างทุลักทุเลทีเดียวครับ การเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนั้น ได้ทำให้หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่นของประเทศเมียนมา ได้ตระหนักถึงความจำเป็น ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว นอกจากนี้ยังมีแผ่นดินไหวขนาดกลางและขนาดเล็กอีกหลายครั้ง เช่น เมื่อครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวในเมืองเพรียก ใกล้ๆกับเมืองเชียงตุง ทำให้ลุกลามมาถึงอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยาและจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย
การเกิดแผ่นดินไหวในเมียนมา มีผลกระทบหลายด้านทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาพบว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเมียนมา มักจะทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน อาคาร บ้านเรือน และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ผลกระทบที่สำคัญจากแผ่นดินไหว อีกทั้งยังสร้างความสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง สาเหตุอาจจะเป็นเพราะพื้นที่ของอาคาร ไม่ได้ออกแบบให้ทนทานต่อแผ่นดินไหว จึงมีความเสียหายสูงมาก นอกจากนี้การเกิดแผ่นดินไหวยังทำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย อาจทำให้ผลผลิตการเกษตรสูญเสีย หรือทำให้การขนส่งสินค้าต้องหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว บางครั้งยังส่งผลให้เกิดดินถล่มหรือการเปลี่ยนแปลงในลำน้ำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในท้องถิ่นอีกด้วย
จะเห็นว่าแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา เป็นภัยพิบัติที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยประเทศเมียนมาอยู่ในเขตที่มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในระดับสูง เนื่องจากมีการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกในพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งประเทศไทยเรา ที่มีพื้นที่ติดอยู่กับประเทศเมียนมา มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่จะได้รับผลกระทบไปด้วย ไทยเราจึงต้องมีการเฝ้าระวัง และมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับแผ่นดินไหวในอนาคตด้วย จึงจะสร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชนของเราครับ