เข้าใจสูงวัย เมื่อถึงวัย “ใจเป็นเด็ก” (ตอน 1)

22 พ.ย. 2567 | 11:53 น.

เข้าใจสูงวัย เมื่อถึงวัย “ใจเป็นเด็ก” (ตอน 1) : Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์

เชื่อว่าทุกคนคงอยากจะเห็น ภาพผู้สูงอายุในบั้นปลายชีวิตเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข มีแต่รอยยิ้มอยู่บนใบหน้าเสมอ ซึ่งแน่นอนว่าการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมสุขภาพจิตที่ดีนั้น มีหลายปัจจัยด้วยกัน เพียงแค่เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ รอบตัว เพียงหมั่นสังเกตด้วยความห่วงใยจากพฤติกรรม ลักษณะท่าทาง สีหน้า อารมณ์ การแสดงออก เพราะผู้สูงอายุเองก็เปรียบเสมือนเด็กอีกครั้ง มีความเปลี่ยนแปลงตามวัยที่ต้องเผชิญในทุกด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่ง “การดูแลสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ” ให้เหมาะสมที่สุด จึงเป็นเรื่องสำคัญ

แน่นอนว่าภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ พบได้บ่อยไม่แพ้กับในกลุ่มวัยอื่น ๆ เพราะภาวะซึมเศร้าการเจ็บป่วยทางจิตใจชนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้รู้สึก ไม่มีความสุข มองชีวิตไม่มีคุณค่า สิ้นหวังไปกับทุกเรื่อง รู้สึกเป็นภาระต่อคนอื่น ถ้าหากอยู่ในจุดที่มีอาการมาก ๆ จะมีความรู้สึกเบื่อชีวิต คิดอยากตายหรือคิดฆ่าตัวตายได้เช่นกัน

เข้าใจสูงวัย เมื่อถึงวัย “ใจเป็นเด็ก” (ตอน 1)

นอกจากนั้นยังมีการกระตุ้นจากร่างกายที่มีความเสื่อมถอยลงอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากโรคทางกาย เช่น ภาวะสมองเสื่อม มะเร็งของตับอ่อน หลอดเลือดสมองอุดตัน หรือสาเหตุทางจิตใจอย่างมีการขาดหรือลดน้อยลงของสารสื่อประสาทบางชนิดในสมอง อารมณ์ตอบสนองต่อปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตต่อความเครียดที่เกิดขึ้น

ต่อภาวะการณ์สูญเสีย หรือภาวะที่ทำให้เกิดความเสียใจ ไม่สบายใจ หรือเกิดเป็นความทุกข์ทางใจ (ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ. กรมสุขภาพจิต, 2565) ซึ่งบางท่านอาจดูเป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับบางกลุ่ม จนไม่สามารถเข้าใจได้อย่างแท้จริง กว่าจะรู้ตัวว่านี้คือสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุที่แอบแฝงอยู่ไม่รู้ตัว ก็เกือบจะสายไป หรือสุ่มเสี่ยงที่ผู้สูงอายุถูกทำร้ายทั้งทางคำพูด และจิตใจโดยไม่รู้ตัว

เข้าใจสูงวัย เมื่อถึงวัย “ใจเป็นเด็ก” (ตอน 1)

ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุในบั้นปลายชีวิตให้มีความสุขทั้งตัวผู้สูงอายุ และผู้ดูแล ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขที่สุด ดังนั้นก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าทำไมถึงไม่ควรมองข้าม “การดูแลสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ” กันก่อน ผมขอแบ่งปันแนวทางการดูแลสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ช่วยให้ทุกท่านได้เข้าใจตัวผู้สูงอายุมากขึ้น

1. การให้ความรักและความเอาใจใส่ ผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดรวมถึงครอบครัว ควรหมั่นพูดคุยแสดงความใกล้ชิดสนิท ให้ความรักความอบอุ่น ช่วยกันสร้างเสียงหัวเราะเพื่อให้สภาพจิตใจของผู้สูงอายุแจ่มใส

2. การใช้ระดับเสียงที่เหมาะสม การออกเสียงให้ดังฟังชัดจะเหมาะกับผู้สูงอายุในบางกลุ่มแต่ในบางกลุ่มควรมีการปรับเสียงของตนเองให้มีความเหมาะสม ไม่ควรตะโกนหากได้ยินไม่ถนัด ควรพูดซ้ำอย่างช้า ๆ ด้วยน้ำเสียงที่อ่อนนุ่ม ค่อยเป็นค่อยไป ยิ้มให้มาก

3. การให้เกียรติ แสดงความเคารพ การให้เกียรติผู้สูงอายุเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของคนไทย แสดงถึงความกตัญญู และเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ควรแสดงความเคารพและอธิบายอย่างสุภาพ

4. การให้ความใส่ใจกับสภาพแวดล้อม ควรมีการปรับสภาพแวดล้อม ให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อช่วยให้คนที่คุณรักสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ การหกล้ม ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

5. ส่งเสริมให้ทำกิจกรรมที่ชอบ การหากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำเน้นเป็นกิจกรรมที่ ผู้สูงอายุ ชอบ หรือสนใจที่จะทำ เพื่อเป็นการกระตุ้นพัฒนาการด้านสมองและกล้ามเนื้อ รวมไปถึงเป็นการสานสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นช่วยชะลอความเสื่อมร่างกาย และสมอง

เข้าใจสูงวัย เมื่อถึงวัย “ใจเป็นเด็ก” (ตอน 1)

6. กระตุ้นให้ทำกิจกรรมทางกายส่งเสริมกล้ามเนื้อ เพื่อเป็นการฝึกกล้ามเนื้อและบริหารสมอง ทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ควรเริ่มจากการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดินเร็วเดินแกว่งแขน เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ป้องกันการล้ม ทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเองมากขึ้น

7. พาไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ การพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี หรือเมื่อมีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น เช่น เจ็บป่วย ไข้สูง หรือมีอาการเจ็บตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยหมั่นสังเกต ติดตามอาการ ซึ่งอาจตรวจพบโรคได้ในระยะเริ่มต้น และให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน

จะดีกว่าไหมหากผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายวัยเกษียณด้วยการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสม การดูแลเอาใจใส่ และการสนับสนุนจากคนรอบข้างช่วยให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่มีความสุข และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับใครหลายคนครับ

 

คอลัมน์ Healthcare Insight หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,046 วันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567