10 โรคที่คร่าชีวิตของมนุษย์

11 ม.ค. 2568 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2568 | 08:17 น.

10 โรคที่คร่าชีวิตของมนุษย์ คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

KEY

POINTS

  • การพัฒนาของการแพทย์ในปัจจุบันได้เกิดจากการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น CAR T-Cell, Precision Medicine และ AI มาช่วยในการรักษาและการวิจัยทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้การรักษามีความแม่นยำมากขึ้นและอาจช่วยแก้ปัญหาสุขภาพในอนาคตได้
  • ปัจจุบัน โรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยส่วนใหญ่ ได้แก่ มะเร็ง, โรคหลอดเลือดในสมอง, และเบาหวาน ในขณะที่ในประเทศที่พัฒนาน้อยเช่น เมียนมา โรคที่คร่าชีวิตประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อและการขาดแคลนการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกในอนาคตที่อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความเพียงพอของอาหารในการเลี้ยงชีพ

หลังจากที่ลงเรื่อง CAR T-Cell ไปก็มีเพื่อนๆและแฟนคลับหลายท่าน ส่งไลน์เข้ามาให้คำแนะนำ บางท่านก็ส่งคำถามเข้ามา ซึ่งผมต้องขออนุญาตตอบว่า ผมไม่ใช่แพทย์และไม่ใช่นักวิจัย ความรู้ที่ผมได้มาส่วนใหญ่ เป็นเพราะสนใจในเรื่องดังกล่าวและฟังมาจากผู้รู้ทั้งนั้น จากนั้นผมก็จะเข้าไปสืบค้นหาอ่านบทวิจัยใน Google scholar และใน PubMed ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวด้านผลงานวิจัยต่างๆ ดังนั้นสิ่งที่ผมนำมาเขียน เป็นสิ่งที่ทุกคนก็หาอ่านได้ ส่วนใหญ่ผมจะนำมาเสนอในบทความนี้ ให้อ่านเอาสนุกๆและเพิ่มความรู้เล็กๆน้อยๆนะครับ

มีท่านหนึ่งที่ส่งคำแนะนำมา บอกว่าปัจจุบันนี้การใช้ เทคโนโลยีด้าน AI มาช่วยในด้านการแพทย์และหลากหลายช่องทางมาก ผมก็เห็นด้วยนะครับ เราจะเห็นว่าปัจจุบันนี้การแพทย์พัฒนาไปเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) หรือ CAR T-Cell หรือ Cytotoxic T-Cell หรือ Stem Cell ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของวิวัฒนาการทางการแพทย์ ที่มากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งสิ้น ถ้าเป็นเมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว เรื่องเหล่านี้เราไม่สามารถนำมาพูดได้เลย หรืออาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่เพ้อฝันไปเลยครับ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมมีแขกผู้ใหญ่จากประเทศเมียนมาท่านหนึ่ง ท่านเป็นเจ้าของโรงพยาบาล 3 แห่ง ได้แวะมาเยี่ยมเยือนผมที่ออฟฟิศ ท่านเห็นผมคุยโทรศัพท์อยู่กับพนักงานที่ทำงาน ถึงเรื่องการยื่นขออนุญาตจดแจ้งทะเบียนเครื่องจักรทางด้านการแพทย์กับคณะกรรมการอาหารและยา ท่านจึงสอบถามผมว่า ผมทำเรื่องเกี่ยวกับด้านการแพทย์ด้วยเหรอ? ผมจึงได้อธิบายให้ท่านฟังในสิ่งที่ผมทำ สุดท้ายท่านก็ถามผม 2 เรื่อง คือ 1,เรื่องสถานการณ์ปัจจุบัน 10 โรคร้ายที่คร่าคนไทยมากที่สุด คือโรคอะไรบ้าง? และ2,ในปัจจุบันนี้ประชากรโลกได้มีการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เพิ่มมากเป็นก้าวกระโดดเลยทีเดียว  ถ้าเป็นเช่นนี้ อาหารที่เรารับประทานสำหรับการดำรงชีวิตอยู่นั้น ในอนาคตจะเพียงพอต่อมนุษย์หรือไม่? ทั้ง 2 คำถามนี้น่าสนใจมาก

ผมจึงตอบคำถามแรกของท่านไปว่า 10 โรคร้ายที่เป็นภัยและคร่าชีวิตของคนไทย คือ 1,โรคมะเร็ง  2,โรคหลอดเลือดในสมอง  3,โรคเบาหวาน  4,โรคความดันโลหิตสูง 5,โรควัณโรคที่มากับอากาศ  6,โรคปอดเรื้อรัง 7,โรคภูมิแพ้ 8,โรคระบบประสาท 9,โรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นอักเสบ และ 10,โรคอ้วน ก่อนจะตอบคำถามที่ 2 ที่ถาม มาผมจึงขอถามท่านก่อนว่า ทำไมท่านจึงอยากทราบเรื่องดังกล่าวนี้? ท่านตอบผมว่าเพราะท่านมีโรงพยาบาลในประเทศเมียนมาอยู่  3 แห่ง ท่านจึงอยากทราบว่าจะเหมือนกับที่เมียนมาหรือไม่? ซึ่งผมก็ถามท่านว่าเหมือนหรือไม่? ท่านตอบว่าไม่เหมือน ที่ประเทศเมียนมา 10 อันดับแรกของโรคร้ายที่คร่าชีวิตประชาชนชาวเมียนมาคือ 1,โรคหัวใจขาดเลือด 2, โรคหลอดเลือดในสมองอุดตัน 3,โรคปอดเรื้อรัง 4,โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ 5,โรคเบาหวาน 6,โรคมะเร็ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมะเร็งปอด เนื่องจากการสูบบุหรี่ 7,โรคท้องร่วง 8, โรควัณโรค 9,โรคตับแข็ง และสุดท้ายเป็นอุบัติเหตุบนท้องถนน

จะเห็นว่าการพัฒนาประเทศและระบบสาธารณสุขของประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยที่นำมาสู่โรคภัยต่างๆเสมอ ประเทศที่ยังไม่พัฒนานั้น จะมีปัญหาเรื่องของการเข้าถึงสาธารณสุขพื้นฐานค่อนข้างยาก ดังนั้นโรคภัยจะเป็นตัวบ่งชี้ที่ค่อนข้างชัดเจนจริงๆครับ เราจะเห็นว่าโรคที่ประชาชนในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ จะเป็นโรคมะเร็ง หรือโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน ซึ่งเป็นเพราะการกินดีอยู่ดี ส่งผลให้ประชาชนทานอาหารโดยไม่ระมัดระวัง จึงเกิดโรคร้ายตามมานั่นเองครับ

ส่วนคำถามที่ 2 ที่ท่านถามมา ผมก็เชื่อว่าด้วยประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น ตามรายงานของสหประชาชาติที่เผยแพร่เท่าที่ผมพอจะหาได้มีดังนี้ ในปี 2014 มีประมาณ 7.243 พันล้านคน, 2015 มีประมาณ 7.383 พันล้านคน, ในปี 2016 มีประมาณ 7.521 พันล้านคน, 2017 มีประมาณ 7.659 พันล้านคน, 2018 มีประมาณ 7.795 พันล้านคน, 2019 มีประมาณ 7.929 พันล้านคน, 2020 มีประมาณ 7.963 พันล้านคน, 2021 มีประมาณ 7.837 พันล้านคน, 2022 มีประมาณ 7.942 พันล้านคน, 2023 มีประมาณ 8.045 พันล้านคน, 2024 มีประมาณ 8.136 พันล้านคน จะเห็นว่าจำนวนประชากรโลก จะมีเพียงในปี 2021 เท่านั้นที่จำนวนลดลง นั่นเป็นเพราะโรคร้าย COVID-19 ที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปเยอะมาก ทำให้จำนวนประชากรโลกลดลง ส่วนในปีอื่นๆก็จะเพิ่มมากบ้างน้อยบ้าง และมีการพยากรณ์ไว้ว่า ในปี 2080 บนโลกใบนี้อาจจะมีประชากรมากถึง 8.2-10.0 พันล้านคนเลยทีเดียวครับ

ดังนั้นท่านจึงมีความกังวลว่า ในอนาคตข้างหน้าอาหารที่จะใช้หล่อเลี้ยงชีวิต จะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ก็เป็นได้ คำถามดังกล่าวท่านจึงถามผมว่าผมคิดอย่างไร? ผมก็ตอบผมว่า อันที่จริงถ้าจะตอบแบบตรงๆ ผมคิดว่าปัจจุบันนี้ ประเทศที่เสพอาหารแบบฟุ่มเฟือยที่สุด พูดแบบเต็มปากเลยว่า คือ ประเทศอินเดียและประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะที่นั่นมีประชากรที่มากที่สุดอันดับหนึ่งและสองของโลก รวมกันมีมากถึง 2.853 พันล้านคน ซึ่งเท่ากับ 35% เท่ากับหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมดของโลก อีกทั้งคนที่มีรายได้ต่ำ มีมากกว่าครึ่งของประชากรทั้งหมด  ถ้าเรามาดูพฤติกรรมของการบริโภคอาหาร คนที่มีรายได้ต่ำมักจะมีการบริโภคที่มากกว่าคนที่มีรายได้สูงเสมอ (แต่ไม่ได้นับรวมเอาคนที่ไม่มีอันจะกินนะครับ) ดังนั้นต้องให้รัฐบาลของทั้งสองประเทศดังกล่าว ออกนโยบายในการส่งเสริมความรู้ในการบริโภคอาหาร ซึ่งเราคงไม่สามารถทำอะไรกับเขาได้หรอกครับ ผมก็บอกท่านต่อไปว่า ท่านกับผมคงไม่ต้องไปกังวลใจอะไรมากหรอกครับ เพราะเราคงอยู่ไม่ถึงวันนั้นแน่นอน อีกไม่เกินยี่สิบปีไม่ท่านก็ผมคงจะไปเฝ้าพระอินทร์กันแล้วละครับ ท่านก็หัวเราะและบอกผมว่า “คุณคงอยู่ถึงแน่ แต่ผมคงต้องขอลาไปก่อนละครับ.....ฮา”