อุตสาหกรรมไทย: รัฐบาลใหม่กับนโยบายเก่า?

19 ก.ย. 2567 | 08:19 น.

ฟังท่านนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายของรัฐบาลใหม่ในรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ที่นานกว่า 57 นาที ถ้าดูตามเนื้อหาแล้ว ก็คงต้องบอกว่าไม่มีอะไรใหม่จากรัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มา

โดยนโยบายที่แถลงเป็นกรอบกว้าง ๆ ที่พยายามตอบสนองรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และความคาดหวังของประชาชนคนลงคะแนน ซึ่งนักวิชาการและนักวิเคราะห์การเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศก็คิดในลักษณะเดียวกันก็คือ 

ต้องรอดูรายละเอียดของมาตรการที่จะออกมาตามนโยบายดังกล่าว ว่าจะเข้าท่าหรือไม่ เพียงใด หากมองนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น ผมรู้สึกเฉย ๆ กับนโยบายเร่งด่วนที่พูดถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงิน การลดราคาพลังงาน หรือการพัฒนาอาชีพให้ประชาชน ก็ถือว่าปกติไม่เหนือการคาดการณ์หรือความคาดหมายใด ๆ

แต่ที่ผมรู้สึกดีใจและรู้สึกมีความหวังบ้างก็ตรงที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูดถึงแนวนโยบายระยะกลางและระยะยาวในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะตอนนี้พวกเราก็รู้กันดีถึงความจำเป็นที่ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยใหม่
 

เพราะไม่เช่นนั้น เราจะหวังให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศมีอัตราสูงพอที่จะพาให้เราหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางคงลำบาก และโดยเฉพาะโครงสร้างภาคการผลิตของประเทศในวันนี้ ต้องยอมรับว่าเราสู้ชาวบ้านไม่ได้จริง ๆ ซึ่งนโยบายการปรับโครงสร้างที่ท่านนายกฯ กำลังพูดถึงนั้น ผมพอเห็นอนาคตบ้าง อย่างน้อยผู้นำประเทศรู้ถึงสิ่งที่ต้องทำ และผมหวังว่าคนที่รับมาทำต่อนั้น ต้องรู้จริงว่า ต้องทำอะไร และทำอย่างไร 

การปรับโครงสร้างการผลิตนั้น ผมมองอยู่ 2 ทิศทาง คือ 

  • การหาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจใหม่ (New Growth engine) ของเรา เพราะวันนี้สินค้าอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมที่เรามีอยู่เริ่มไม่เป็นที่ต้องการของโลก และสินค้าที่เรามีอยู่แต่ยังเป็นที่ต้องการของโลกนั้น เราผลิตสู้คู่แข่งไม่ได้ ดังนั้น เราจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของเราเพื่อสู้กับคู่แข่งให้ได้ 
  • ภาคอุตสาหกรรมของเราต้องปรับตัวให้เข้ากับเมกะเทรนด์ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องบริบทของความยั่งยืน ซึ่งก็ไม่ใช่ของแปลกใหม่ แต่มาตรการที่จะออกมารองรับขับเคลื่อนนั้นสำคัญมากกว่าว่าจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับข้อแรกด้วย เพราะหากธุรกิจไม่ยั่งยืนทางการเงิน เราก็ทำเรื่องโลกยั่งยืนไม่ได้หรอก

ในประเด็นที่หนึ่ง ว่าด้วยนโยบายการมองหาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ นั้น ผมว่ารัฐบาลชุดนี้มองเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องปรับโครงสร้างใหม่ นโยบายของรัฐบาลกำลังมองหาสิ่งที่เราเคยเรียกว่า S - Curve ตัวใหม่ หรือ Second S - Curve รวมถึง การเพิ่มสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรม ความทันสมัย

การสร้างสรรค์ เข้าไปใน S - Curve ตัวเก่า หรือ First S - Curve ที่ยังมีอนาคต ซึ่งก็คุ้น ๆ กับชื่อนี้ แต่เราจะเรียกชื่ออื่นใหม่ก็ได้แล้วแต่ แต่สิ่งที่เป็นห่วงวันนี้ คือ มาตรการและวิธีการที่จะหานวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เราไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้มาได้อย่างไร

ถึงแม้ว่าท่านนายกฯ จะบอกว่าใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุน และการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้กับคนในประเทศนั้น เรื่องนี้ เชื่อผมเถอะครับ กติกาของโลกที่กำลังจะใช้ในปี 2568 นี้ โดยเฉพาะมาตรการภาษี Pillar II จะทำให้มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ใช้อยู่ และกำลังคิดจะใช้แบบตั้ง “กองทุน” เพื่อหาทางคืนภาษีให้กับนักลงทุนภายหลังนั้นไม่มีประสิทธิภาพ 

และไม่จูงใจมากพอที่จะมีใครมาลงทุน เพราะไม่สามารถเทียบได้กับมาตรการที่ประเทศคู่แข่งในภูมิภาคนี้ยื่นเสนอให้นักลงทุนต่างประเทศได้เลย ลองคุยกับหน่วยงาน BOI และกระทรวงการคลังดูครับว่า Capital Inflow ด้านการลงทุนภาคอุตสาหกรรมของเราตามหลังเวียดนามกี่เท่าตัวแล้ว

แต่ถ้าคิดจะได้ภาษีเพิ่ม ก็โอเคครับ แต่ต้องยอมรับนะว่า FDI ของเราจะตามหลังเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ครับ

ส่วนประเด็นที่สอง ในเรื่องการยกระดับความสามารถในการแข่งขันนั้น ผมมองเห็นเรื่องของการเพิ่ม productivity ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือการทำอย่างไร ให้สินค้าของเรานั้น มีคุณค่ามากขึ้น ดีพอที่จะแข่งขันกับคนอื่นได้ หรือผลิตภายใต้ต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งปกติในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นั้น เราก็ต้องมองไปที่ปัจจัยการผลิตเป็นสำคัญ ซึ่งประกอบไปด้วย ทุน แรงงาน และการจัดการของผู้ประกอบการ 

แนวทางในการเพิ่ม Productivity ก็คือ ทำอย่างไรที่จะพัฒนาปัจจัยเหล่านี้ เพื่อให้ผลผลิตของเรามีมูลค่ามากขึ้น ดีกว่าคู่แข่ง หรือผลิตได้มากขึ้นในต้นทุนที่น้อยลงหรือเท่าเดิม เรื่องนี้ดูเหมือนง่าย แต่ความสำเร็จของการทำเรื่องนี้ อยู่ที่การออกแบบมาตรการว่าจะดีพอและมีประสิทธิภาพในเชิงมหภาคหรือไม่ แต่ถ้ารัฐคิดเรื่องนี้ว่าแค่อบรมพัฒนา ผมว่าก็จบละครับ 

ปัจจัยตัวแรก คือ “ปัจจัยทุน” นั้น แนวการพัฒนาก็คือ การเพิ่มนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น พวกปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ หรืออื่นๆ โดยทำอย่างไรให้คุณภาพเหล่านี้สามารถเข้าไปอยู่ในปัจจัยทุนของเราให้ได้ ซึ่งมาตรการและกิจกรรมก็จะเกี่ยวเนื่องถึงการทำวิจัย การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางวิจัยและวิทยาศาสตร์ การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นต้น 

ส่วนเรื่อง “ปัจจัยด้านแรงงาน” นั้น หลักการก็คือการเพิ่มคุณภาพแรงงาน ซึ่งจะมีทางด้านความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ ทักษะการวิเคราะห์แก้ไขปัญหา และทักษะความชำนาญเฉพาะด้านในสาขาที่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ต้องการ ซึ่งมาตรการที่ออกมาก็เป็นการพัฒนาบุคลากรทั้งทักษะและกระบวนทัศน์การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง 

การออกแบบหลักสูตรและการเรียนการสอนที่ทันสมัย รวมถึงการพัฒนาสถาบันการศึกษาให้ดีพอที่จะรองรับ สร้าง และเผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ อาทิ สิงคโปร์เปิดให้สถาบันการวิจัยและสถาบันการศึกษาดัง ๆ ของโลกเข้ามาตั้งในประเทศได้สะดวกกว่าเรามาก  

ส่วนปัจจัยการผลิตตัวสุดท้าย คือ เรื่องของ “การจัดการ” ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ ตัวผู้ประกอบการโดยผู้ประกอบการจะเป็นผู้ที่เอาปัจจัยทุน และปัจจัยทางด้านแรงงานนั้นมาผสมผสานกัน เพื่อให้ทำงานด้วยกันอย่างลงตัว เหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเพิ่มมูลค่า และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และสำคัญที่สุดก็คือ ดีกว่าคู่แข่งขัน 

ดังนั้น มาตรการที่จะพัฒนาผู้ประกอบการเหล่านี้ จะต้องเป็นมาตรการที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ที่มีความคิดในการสร้างวิสัยทัศน์ต่อการเปลี่ยนแปลงทุกมิติได้ดี 
มีความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมในเชิงกลยุทธ์ รวมทั้งต้องเข้าใจในการเป็นผู้นำที่ทันสมัยในการบริหารธุรกิจ และติดตามการเปลี่ยนแปลงของทุกเทรนด์ในโลกนี้ และในเวทีธุรกิจที่ตัวเองทำอยู่ด้วยเพื่อกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ธุรกิจของตนเองได้อย่างเหมาะสมต่อบริบทของการเปลี่ยนแปลง

ทั้งหมดข้างต้นเป็นเพียงกรอบภาพมหภาคที่เป็นกรอบของการออกแบบนโยบายและมาตรการของการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทย หรือจะเรียกว่าการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย ซึ่งผมมั่นใจจากคำพูดของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าท่านทราบเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว และรู้ว่าด้วยหน้าที่ ภารกิจ อำนาจ ทรัพยากรของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้นไม่สามารถทำภารกิจนี้ได้สำเร็จด้วยตัวเองเพียงลำพัง

ผมยังคิดว่า กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเป็น “เจ้าภาพ” ในการทำยุทธศาสตร์ มาตรการภาพรวมในการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย และการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา ซึ่งตอนนี้ก็ทำอยู่แล้วหลายอุตสาหกรรม แต่วันนี้ ความท้าทายของท่านอยู่ที่การกำหนดกลยุทธ์และออกแบบมาตรการที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นด้วย เห็นดีเห็นงาม กับทิศทางการปฏิรูป รวมถึงรูปแบบการมีส่วนร่วมในกระบวนทัศน์

การปฏิรูปที่เจ้าภาพมองไว้ ซึ่งก็ไม่ง่ายเลย แม้จะมีคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติรองรับเพื่อให้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายต้องดำเนินการได้อยู่แล้วก็ตาม และที่สำคัญภารกิจของเจ้าภาพ นอกจากออกแบบยุทธศาสตร์ร่วมกับทุกฝ่ายจนตกผลึกและเข้าใจร่วมกันแล้ว เราต้องกำหนดรูปแบบการติดตาม ประเมินผล และการปรับเปลี่ยนมาตรการหากจำเป็น เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายปฏิรูปนั้นมีประสิทธิภาพและเดินตามทางที่ควรจะเป็น การกำหนดหน่วยงาน กรอบแผนงาน โครงการ และวิธีการดำเนินงานนั้น
ท้าทายและปวดหัวมาก 

สุดท้ายจริง ๆ คือ เป้าหมายหลายด้านที่ท่านนายกฯ มอบนโยบายการปรับโครงสร้างภาคการผลิตนั้น กลายเป็นเรื่องระยะปานกลางและระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเห็นใจกระทรวง เพราะเมื่อเจ้ากระทรวงทำแต่เรื่องระยะยาวเมื่อไร ก็เสี่ยงต่อการถูกขนานนามว่า “รัฐมนตรีที่โลกลืม” แม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นคุณอนันต์ต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องอาศัยความกล้าหาญทางการเมือง และความสามารถในการบริหารของท่านรัฐมนตรี ซึ่งจะดูได้จากการออกแบบมาตรการต่าง ๆ ว่าเป็นแบบไหน 

แต่ผมมีความเชื่อมั่นและมั่นใจครับว่าท่านรัฐมนตรีจะทำเป็นมาตรการระยะสั้นที่เร่งด่วนเพื่อประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งจะเห็นได้จากคำพูดของท่านที่ได้มอบนโยบายไป แต่กระนั้นก็ต้องมีความชัดเจนและการสร้างมาตรการ การวางรากฐานของการปฏิรูปอุตสาหกรรมระยะปานกลางและระยะยาวที่มี Impact สูง ให้มากและทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศเห็นอนาคตของปฏิรูปอุตสาหกรรม ไม่ใช่เหมือน “การปฏิรูปการเมือง” ที่เราได้ยิน ได้ฟัง แต่ไม่มีความหวัง มาตลอด … เป็นกำลังใจให้ครับ