เปิดตำหนัก พระจอมเกล้าที่วัดราชาธิวาส

16 ก.ค. 2567 | 06:00 น.

เปิดตำหนัก พระจอมเกล้าที่วัดราชาธิวาส คอลัมน์ สังฆานุสติ โดย บาสก

ตำหนักพระจอมเกล้า ตั้งอยู่ที่คณะใต้ วัดราชาธิวาส สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เมื่อทรงผนวช 

ตามปกติแล้ว ชั้นบนซึ่งเป็นที่ประทับนั้น จะไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปขึ้นไปชม ยกเว้นชั้นล่าง ที่ใช้เป็นห้องประชุม ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย

แต่ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมในครั้งนี้เนื่องจากคณะสงฆ์ธรรมยุต จัดงานเฉลิมพระเกียรติในวาระครบ 200 ปีที่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4) ทรงผนวชและมาประทับวัดสมอราย(ผนวช 7 กรกฎาคม 2367)

พระตำหนักนี้ สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในรัชกาลที่ 3 สร้างถวาย เป็นอาคารไม้ ฐานก่ออิฐถือปูน มีขนาด 5 ห้อง ฝาลูกฟักไม้กระดาน มีเฉลียงอยู่โดยรอบ ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกาทาสีแดง ลักษณะเดียวกับวังเจ้านายตอนต้นรัตนโกสินทร์ 
 
พระตำหนักเดิมตั้งอยู่ทางทิศใต้ ของพระอุโบสถในคณะใต้ ซึ่งตอนนั้นเป็นที่อยู่ของคณะธรรมยุต ที่แยกกับคณะเหนือ ซึ่งเป็นที่อยู่ของคณะมหานิกาย(ในอดีต)

อย่างไรก็ดี หลังจากปฏิสังขรณ์หลายครั้ง สิ่งปลูกสร้างบริวารอื่นๆ ไม่หลงเหลือแล้ว คงเหลือไว้แต่พระตำหนักที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน

ผมเข้าชมชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นที่ประทับ พื้นตำหนักเป็นไม้กระดาน ฝาทุกด้านเป็นไม้กระดานลูกฟัก 

ด้านในสุดติดผนังทางตะวันตก เป็นห้องพระพุทธรูป และเครื่องบูชาต่างๆ ทางด้านขวามือตั้งตู้โชว์เก็บของที่ระลึกและมีพระบรมฉายาลักษณ์ และพระรูปหล่อส่วนพระเศียร ของรัชกาลที่ 4 ประดิษฐานไว้

หันมาดูด้านซ้ายมีรูปปั้นของพระเถระคณะธรรมยุตในครอบแก้ว 1 องค์ ถัดมาเป็นตู้ใส่ของที่ระลึกที่มีผู้ถวายวัดราชาธิวาส 
  
ด้านตะวันตก ติดกำแพง เป็นตู้โชว์ เครื่องลายคราม และ รูปพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ของวัดราชาธิราช 1 รูป นอกจากนั้นเป็นที่ว่าง

"พระประวัติ โดยย่อ"

สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ หรือ สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราเป็นพระราชชนนี
 
ประสูติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2347 ณ พระราชวังเดิม ธนบุรี ทรงมีพระอนุชาร่วมพระอุทร คือสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
เมื่อพุทธศักราช 2367 พระชนมายุ 20 พรรษา ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จประทับที่วัดมหาธาตุ 3 วัน จากนั้นเสด็จมาประทับที่วัดสมอราย แต่ผ่านไป 18 วัน (บางแหล่งว่า 15 วัน) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมชนกเสด็จสวรรคต กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา มีพระชนมายุห่างกัน 17 พรรษาได้รับอัญเชิญจากพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านาย รวมทั้งมหาอำมาตย์ให้เป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3


 
ส่วนเจ้าฟ้ามงกุฎที่ผนวชอยู่ แม้จะมีสิทธิในราชสมบัติ แต่ไม่มีใครเชิญขึ้นครองราชย์ จึงอยู่ในสมณะเพศเป็นเวลาถึง 27 ปี 

ในระหว่างนั้นนอกจากทรงศึกษาพระปริยัติธรรม สอบพระบาลีได้ 5 ประโยคแล้ว ก็ยังมีความเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก จนสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแม่กองสนามหลวงตรวจสอบภาษาบาลี และพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ

พุทธศักราช 2372 ย้ายมาประทับ ณ วัดสมอราย ทรงเป็นผู้นำในการชำระวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ให้ถูกพระวินัย และพากันบวชซ้ำในโบสถ์แพ หน้าวัดสมอรายเพื่อความบริสุทธิ์แห่งภิกขุภาวะ จนกระทั่งเกิดคณะธรรมยุตในเวลาต่อมา
 
ปี พ.ศ 2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อาราธนาให้มาครองวัดบวรนิเวศวิหาร ที่เพิ่งสร้างเสร็จ ขณะนั้นพระวชิรญาณภิกขุ หรือพระเจ้าฟ้ามงกุฏมีพระชนมายุ 32 พรรษา ทรงผนวชได้ 12 พรรษา ในขณะที่ทรงผนวช อยู่ที่วัดสมอรายก็ดีวัดบวรนิเวศวิหารก็ดี เป็นโอกาสให้พระองค์ ได้ทรงศึกษาภาษาต่างประเทศ และความรู้ต่างๆ ทางตะวันตกจากมิชชันนารี ชาวฝรั่งเศสและอเมริกัน เช่นทรงศึกษาภาษาอังกฤษ ภาษาละติน กับพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ชาวฝรั่งเศส และ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ ดร.เรโรลด์ เฮาส์ มิสเตอร์เจซี่ แคสเวล ชาวอเมริกันเป็นต้น


 
นอกเหนือจากนั้นได้ทรงศึกษาวิทยาการแบบตะวันตก หลากหลายแขนง เช่นวิชาภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ จนสามารถรู้เท่าทันความคิดอ่านตลอดจนความผันแปรของสถานการณ์ในโลกได้เป็นอย่างดี อีกทั้งทรงสนับสนุน นายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์ มิชันนารีชาวอเมริกัน ให้เปิดโรงพิมพ์ และกิจการหนังสือพิมพ์ จึงมี Bangkok Recorder เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย 
 
เมื่อรัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต บรรดาขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ตลอดถึงพระบรมวงศ์ อัญเชิญขึ้นครองราชสมบัติ จึงทรงลาสิกขาขึ้นครองราชสมบัติ มีพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2393 พร้อมทั้งสถาปนา สมเด็จพระอนุชา ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์เทียบเท่าพระองค์ มีพระปรมาภิไธยว่าสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็น ประวัติศาสตร์ของสยาม ที่มีพระเจ้าแผ่นดิน 2 พระองค์ ในเวลาเดียวกัน
 
เรื่องที่พระองค์มีพระนามว่า คิงมงกุฎเพราะทรงคำนวณดาราศาสตร์ว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ 2411 เวลา 10.00 น 20 วินาที ใช้เวลาเต็มดวงนาน 6 นาที 46 วินาที สามารถเห็นได้ชัดเจนที่บริเวณคลองวาฬ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แม่นยำ ในการนั้นทรงเชิญทูตานุทูตและเซอร์แฮรี ออด ผู้สำเร็จราชการสิงคโปร์ไปร่วมทอดพระเนตรที่หว้ากอด้วย


 
การคำนวณนี้ถูกต้อง เป็นการพิสูจน์การศึกษา และวิจัยครั้งยิ่งใหญ่ของไทยว่าเป็นสากล จนเป็นที่เรื่องลือในวงดาราศาสตร์ทั่วโลก

เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ ทรงประชวรด้วยพระโรคไข้จับสั่น เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระชนมายุ 65 พรรษา ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นเวลา 18 ปี มีพระราชโอรสพระราชธิดา 82 พระองค์ เป็นต้นราชสกุลเนื่องในรัชกาลที่ 4 ถึง 28 ราชสกุล

ล่าสุด พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงสถาปนา ขึ้นเป็นมหาราชมีพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช