เรื่องเศรษฐี ตระหนี่มาก

06 ก.ค. 2567 | 03:55 น.

เรื่องเศรษฐี ตระหนี่มาก คอลัมน์ สังฆานุสติ โดย บาสก

ใกล้วันเข้าพรรษา จึงขอยกเรื่องความเป็นพระดี ครั้งพุทธกาลมาเล่าให้ฟัง

การเป็นพระที่ดีต้องทำเหมือนแมลงภู่ หรือผึ้งที่ไปรับเอาแต่น้ำหวาน โดยไม่ทำให้ดอกไม้นั้นชอกช้ำ ดังพุทธภาษิตว่า ยถาปิ ภมโร ปุปผัง วัณณคันธัง อะเหฐะยัง ปาเลติ รสะมาทายะ เอวัง คาเม มุนี จเร แปลว่า เหมือนภมรหรือผึ้งไม่ทำช่อดอก สีและกลิ่นของดอกไม้ให้เสียหายชอกช้ำ เชยแต่เกสรแล้วบินไปฉันใด มุนีคือผู้รู้ ผู้สงบ เที่ยวไปในบ้าน ไม่กระทบศรัทธาและโภคะของเขาฉันนั้น

มีคำอธิบายคำว่าภมรในพระคาถานี้ ท่านหมายเอาสัตว์(แมลง) ที่อาศัยเกสรดอกไม้ ทำน้ำหวานทุกชนิด เช่นแมลงผึ้งเป็นต้น สัตว์(แมลง)เหล่านั้นเมื่อต้องการน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ก็บินไปดื่มรสหวานจนพอความต้องการแล้ว คาบเอารสที่ต้องการไปสะสมไว้เป็นน้ำผึ้ง โดยไม่ทำสี กลิ่น และสัณฐานของดอกไม้ให้เสียหรือชอกช้ำ
 
พระ(ที่ดี)ผู้เข้าสู่สกุลของชาวบ้านก็ทำตนเช่นภมรนั้น คือไม่ทำศรัทธาและโภคะของชาวบ้านให้เสื่อม
 

ทำอย่างไรเรียกว่าทำศรัทธาให้เสื่อม
 
ตอบว่า ผู้ที่ไม่ตั้งตนอยู่ในความบริสุทธิ์แห่งสมณะที่ดี ไม่สำรวม กาย วาจา ใจ ด้วยดี  มีความมักมากในลาภ ไม่รู้จักประมาณในการรับปัจจัยและในการบริโภคปัจจัย เป็นผู้คะนองกายวาจา
 
เมื่อชาวบ้านเห็นอาการอย่างนี้ ศรัทธาก็ถอย ไม่ถอยเพียงแต่ในสมณะเช่นนั้น แต่ทำให้เขาลดความมั่นคงในพระรัตนตรัยอีกด้วย (ท่านจึงให้คติว่า) พระที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ 1 หญิง เสเพล 1 ชายไม่มีสัจจะ 1 ท่านว่าไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ เพราะจะนำความเดือดร้อนมาให้ 

ผู้ประพฤติตรงกันข้าม ชื่อว่าทำศรัทธาของชาวบ้านให้เจริญ

ส่วนอาการกระทบโภคะ คือทำโภคะให้เสื่อมนั้นคือการทุศีลของพระ

โภคะที่ชาวบ้านถวายแก่พระทุศีล ย่อมไม่มีผลมาก เหมือนหว่านพืชในนาเลว โภคะ ย่อมเสื่อมไปเปล่า ไม่มีผลเท่าที่ควร

ส่วนการเข้าสู่สกุลของพระผู้มีศีล ชื่อว่าทำโภคะของทายกให้เจริญ เพราะทานที่เขาหว่านแล้วในท่านผู้มีศีล ย่อมมีผลงอกงาม เหมือนพืชที่หว่านลงในนาที่ดี

พระดีย่อมไม่เบียดเบียนชาวบ้านดังกล่าวมานี้ 

พระศาสดาตรัสพระพุทธภาษิตนี้ ขณะที่ประทับอยู่ในเชตวนาราม เมืองสาวัตถี ทรงปรารภถึงเศรษฐีผู้ตระหนี่คนหนึ่งชื่อ โกสิยะ ในเมืองราชคฤห์ ซึ่งพระมหาโมคคัลลานะไปโปรดให้กลับเป็นผู้มีศรัทธา 
 
มีเรื่องย่อดังต่อไปนี้

เรื่องเศรษฐีโกสิยะ ผู้มีความตระหนี่
 
เศรษฐีขี้เหนียวคนนี้ เหนียวแบบที่คนอย่างเรา ก็คาดไม่ถึง
 
วันหนึ่ง เศรษฐีโกสิยะ กลับบ้านหลังเข้าเฝ้าพระราชาแล้ว ระหว่างทางเห็นชาวบ้าน ทอดขนมเบื้องกิน ก็มีความอยากจะกินเหมือนกัน เมื่อกลับถึงบ้านก็ไม่กล้าบอกภรรยาให้ทำขนมเบื้องให้กินเพราะกลัวเสียทรัพย์ แบกความทุกข์ ทรมานกายทรมานใจอยู่หลายวัน จนกระทั่งผอมและป่วย
 
ภรรยาจึงถามว่า มีความทุกข์ร้อนอย่างใดพระราชาทรงกริ้วหรือ เศรษฐีบอกว่าไม่ ภรรยาก็ซักต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเศรษฐียอมรับว่า ความจริงนะอยากกินขนมเบื้อง แต่ที่ไม่พูดออกไปเพราะกลัวเปลืองและเสียทรัพย์

ภรรยาว่าท่านเศรษฐีมีทรัพย์สิน 80 โกฏิ (หรือเท่ากับ 80 ล้านบาท) ขนมเบื้องแค่นี้เดี๋ยวจะทำเลี้ยงทั้งหมู่บ้านเลย เศรษฐีได้ยินทะลึ่งพรวดจากที่นอน ตกใจนึกไม่ถึงว่าภรรยาจะมีใจกว้างขนาดนั้น จึงบอกเอาแค่พอกินก็พอแล้ว

ภรรยาว่าถ้าอย่างนั้น ทำเลี้ยงคนทั้งซอยเลย เศรษฐีบอกว่าใครทำมาหากินก็หากินกันเองสิ เรื่องอะไรเราจะไปเลี้ยง ภรรยาบอกว่าถ้าอย่างนั้นเราทำเลี้ยงคนในบ้านก็พอ
เศรษฐีว่า รู้แล้วว่าเธอใจกว้าง

ภรรยาว่า ถ้าเช่นนั้นเราทำกินกัน 2 คนก็แล้วกัน เศรษฐีพูดว่าเธอกินขนมเบื้องเป็นด้วยเหรอ

อยากจะกินเพียงคนเดียวไม่อยากให้ใครกินเพราะกลัวเปลือง 
 
ภรรยาว่าไม่เป็นไรหรอกเดี๋ยวจัดให้ อยากกินคนเดียวก็ไม่มีปัญหา 

เศรษฐีก็ถามว่าเธอจะทอดขนมเบื้องที่ไหน ภรรยาบอกว่า ก็ในครัวสิ เรามีพร้อมทุกอย่างอยู่ที่นั่น 

เศรษฐีว่าลูกหลานเห็นก็มาขอกินเปลืองเปล่าๆ แนะนำให้ไปทำที่ชั้น 7 ของปราสาท ทอดกินบนนั้นดีกว่า จะได้กินด้วยความสุขสบายใจคนเดียว 

ภรรยาก็สั่งคนใช้ ให้ขนของขึ้นไปที่ชั้น 7 ส่วนส่วนเศรษฐี ก็เดินตามไปข้างหลัง และล็อกประตูทุกชั้น ไม่อยากให้ใครผ่านเข้าไป
  
เมื่อภรรยา ทอดขนมเบื้องอยู่นั้น ยังไม่ทันได้รับประทาน ก็เห็นพระมหาโมคคัลลานะ เหาะมายืนที่หน้าต่าง
 
เศรษฐีเห็นก็ร้องว่าฉันหนีมาที่ชั้น 7 เนี่ย ก็เพราะไม่อยากพบคนแบบนี้แหละ แต่ก็มาเจอจนได้ จึงพูดต่อให้เดินจงกรมไปมา ก็ไม่ได้กินหรอก หรือจะเข้าสมาธิก็ไม่ได้กิน หรือบังหวนควันก็ไม่ได้กิน ไม่อยากจะพูดว่า ให้ก่อไฟขึ้นมาก็ไม่มีทางได้กิน เพราะกลัวไฟไหม้ประสาท ก็เลยบอกภรรยาว่า นี่เธอตักแป้งมาเพียงมุมหนึ่งของทัพพี แล้วทอดให้สมณะ ภรรยาก็ทำตามคำสั่ง เมื่อทอดแทนที่จะเป็นชิ้นเล็กๆ กับกลายเป็นแผ่นใหญ่เต็มกระทะ เศรษฐีเห็นก็ตกใจ สงสัยมันตักผิด จึงว่าเดี๋ยวตักให้ก็แล้วกัน เศรษฐีก็ตักแป้งนิดหนึ่งใส่กระทะทอด ใครจะคาดคิดว่ามันจะกลายเป็นขนมเบื้องชิ้นที่ใหญ่กว่าของเดิมอีก
 
เศรษฐีก็บอกถ้าอย่างนั้นก็แบ่งขนมเบื้องให้สมณะก็แล้วกัน จึงให้ภรรยาตัดขนมเบื้องนิดหน่อยให้สมณะ ท่านจะได้ไปพ้นๆ ไป แต่ขนมเบื้องติดกัน ดึงไม่ออก เศรษฐีช่วยอีกแรงก็ดึงไม่ออก จนเหนื่อยอ่อน ในที่สุดเศรษฐีหมดอยากที่จะกินแล้ว บอกกับภรรยาว่า ยกขนมเบื้องทั้งตะกร้านั่นแหละให้พระไปหมดเลย ไม่กินแล้ว

ส่วนพระโมคคัลลานะก่อนจะรับขนมเบื้องจากเศรษฐีโกสิยะและภรรยา ได้แสดงคุณของพระรัตนตรัย ให้เศรษฐีฟัง เศรษฐีเกิดความเลื่อมใส มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลานะจึงบอกให้เศรษฐีและภรรยา นำขนมเบื้องดังกล่าวนี้ไปถวายพระพุทธเจ้า ขณะนี้ประทับอยู่ที่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี พร้อมกับภิกษุ 500 รูป เพื่อคอยฉันขนมเบื้องอยู่ 

เศรษฐีโกสิยะก็บอกว่าจะไปทันได้อย่างไร ในเมื่อราชคฤห์กับสาวัตถีนี้อยู่ห่างไกลกันมาก ท่านโมคคัลลานะจึงบอกว่าขอเป็นหน้าที่ของท่านก็แล้วกันจะนำไปเอง 

ในที่สุด ก็พาไปถึงวัดเชตวัน เมืองสาวัตถีด้วยฤทธิ์ของพระโมคคัลลานะนั้น ท่านเศรษฐีถวายขนมเบื้องแก่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุ 500 รูป

พระศาสดาอนุโมทนา และตรัสพระธรรมเทศนาให้เศรษฐี ตั้งอยู่ในคุณธรรมชั้นโสดาปัตติผลแล้ว หลังจากนั้นเศรษฐีโกสิยะได้สละทรัพย์ ของตนเป็นอันมาก ออกจำแนกแจกทาน บำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์ ทำทรัพย์อันไม่มีสาระให้มีสาระ 

พอตกเย็น ภิกษุทั้งหลาย ล้อมวงสนทนากันพรรณนาถึงอานุภาพของพระมหาโมคคัลลานะ พระบรมศาสดาเสด็จมา ตรัสสรรเสริญพระผู้ฝึกฝนอยรมตระกูล ควรเป็นเช่นพระโมคคัลลานะ ทำตนไม่กระทบศรัทธาและโภคะของตระกูล และทำให้ตระกูลนั้นรู้คุณพระรัตนตรัยและอานิสงส์แห่งทานเป็นต้น

เปรียบเหมือนภมรหรือผึ้ง เที่ยวหาเกสรดอกไม้ เพื่อไปทำน้ำหวาน โดยไม่ให้ดอกไม้ชอกช้ำ ดังนี้แล้วจึงตรัสพุทธภาษิตว่า ยถาปิ ภมโร ปุปผัง เสมือนแมลงภู่ หรือผึ้งเชยเกสรดอกไม้ มีนัยดังอธิบายมาแล้ว