สกุลพราหมณ์ ในเมืองไทย

07 มิ.ย. 2567 | 04:30 น.
2.1 k

สกุลพราหมณ์ ในเมืองไทย คอลัมน์ สังฆานุสติ โดย บาสก

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตร ตั้ง พระครูพราหมณ์ มีความว่า ด้วยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระครูพราหมณ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ดังนี้ 

1.พระครูพราหมณ์ ระดับอาวุโส 3 คน

1.1 พราหมณ์สมบัติ รัตนพราหมณ์ เป็น พระครูอัษฎาจารย์

1.2 พราหมณ์ศีษณพันธ์ รังสิพราหมณกุล เป็น พระครูราชมุนี

1.3 พราหมณ์ปฏิหาริย์ สยมภพ เป็น พระครูญาณสยมภูว์ 

2.พระครูพราหมณ์ ผู้สืบทอด การพระราชพิธี จำนวน 4 คน

2.1 พราหมณ์ธนพล ภวังคนันท์ เป็น พระครูศิวาจารย์ 

2.2 พราหมณ์ปกรณ์ วุฒิพราหมณ์ เป็น พระครูสตานันทมุนี 

2.3 พราหมณ์ตรัณ บุรณศิริ เป็น พระครูเทพาจารย์ 

2.4 พราหมณ์ษม รังสิพราหมณกุล เป็น พระครูวามเทพมุนี

ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2567

ประกาศ ณ วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2567

พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล 

เลขาธิการพระราชวัง

 

วันนี้ผมจึงเชิญชวนมารู้จัก พราหมณ์ อย่างย่อ

คำว่าพราหมณ์ หรือบุคคลที่เป็นพราหมณ์ ดูเหมือนจะเป็นบุคคลที่คนไทยทุกสาขาอาชีพรู้จักกันมาก เพราะว่า พราหมณ์หรือบุคคลที่เป็นพราหมณ์ มีบทบาทในการพิธีต่างๆ ตั้งแต่ราชสำนัก ลงมาถึงชาวบ้านธรรมดา

การพระราชพิธีในราชสำนักนั้น ถ้าไม่มีพราหมณ์ประกอบพิธี งานนั้นอาจไม่สมบูรณ์ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นพราหมณ์ในฐานะศาสนา มีบทบาทและอิทธิพลในไทยตลอด จะเห็นพระนามาภิไธย ต้องมีคำว่ารามาธิบดี เป็นคำสำคัญเสมอ (รามาหรือพระราม คือ ชื่อพระเจ้าในศาสนาพราหมณ์)

ส่วนพราหมณ์ในฐานะนักบวช เป็นผู้รอบรู้คัมภีร์พระเวท ผู้รู้การพิธีชั้นสูง และผู้ทำพิธีให้ศักดิ์สิทธิ์ตามประเพณีนิยม มีมาแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์

 

พราหมณ์คือใคร

พราหมณ์ คือ ผู้สอนศาสนาที่นับถือพระพรหม ต่อมาเรียกว่าศาสนาพราหมณ์ ปัจจุบันมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า ศาสนาฮินดู ตัวแทนศาสนสถานแห่งศาสนาพราหมณ์ เห็นได้จากเทวาลัยหรือปราสาทอายุนับพันปี เช่น นครวัด นครธม, เขาพระวิหารในกัมพูชา, เขาพนมรุ้ง, และปราสาทอีกหลายสิบแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

 

นอกจากศาสนสถานที่กล่าวแล้ว ไทยได้มีการตั้งสิ่งอำนวยความสะดวก หรือสัญลักษณ์เกี่ยวกับพราหมณ์ไว้โดดเด่น เช่น เสาชิงช้า ที่หน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม และโบสถ์พราหมณ์ เป็นต้น

เสาชิงช้านี้ตั้งไว้ให้พราหมณ์ประกอบพิธีตรียัมปวาย หรือ พิธีโล้ชิงช้า เพื่อรับพระอิศวร ซึ่งพิธีนี้จัดในวันขึ้น 7 ค่ำเดือนยี่ ตอนเช้า และในวันขึ้น 9 ค่ำเดือนยี่เหมือนกัน แต่ทำตอนค่ำ (เลิกพิธีไปในสมัยรัชกาลที่ 7)

ลักษณะเสาชิงช้า ตัวเสาคู่ สูงใหญ่ เลือกสรรจากไม้มงคล นำมาตั้งใจกลางกรุงเทพมหานคร กลายเป็นแลนด์มาร์คของเมืองหลวง คู่ขนานกับวัดอรุณราชวราราม

ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่พราหมณ์ถือกำเนิด ไม่ปรากฏว่ามีเสาชิงช้าให้พราหมณ์ ประกอบพิธีแต่อย่างใด

แต่พราหมณ์ในอินเดียยังมีอิทธิพลในวรรณะ 4 คือ

  1. พราหมณ์ หมายถึงพระผู้สอน 
  2. กษัตริย์ หมายถึงข้าราชการ
  3. แพศย์ หมายถึงผู้ประกอบอาชีพส่วนตัว ปัจจุบันเรียกว่าอาชีพอิสระ
  4. ศูทร หมายถึงผู้ประกอบอาชีพรับจ้าง

(ในประเทศไทย เรียกสลับกันคือ กษัตริย์เป็นที่ 1 พราหมณ์เป็นที่ 2 แพศย์เป็นที่ 3 และศูทรเป็นที่ 4)

ส่วนสกุลพราหมณ์ ตามที่ผมตั้งชื่อเรื่องนั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ ว่ามี 7 ตระกูล ที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายการพระราชพิธี หรือเป็นพราหมณ์หลวง แต่ละตระกูลสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่เป็นพราหมณ์

ทั้ง 7 ตระกูลนั้นได้แก่

  1. สยมภพ
  2. โกมลเวทิน
  3. นาคะเวทิน
  4. วุฒิพราหมณ์
  5. ภวังคนันท์
  6. รัตนพราหมณ์
  7. รังสิพราหมณกุล

ส่วนพราหมมณ์ที่ไม่ได้บวชมี 3 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลบูรณะศิริ, คุรุกุล และ ศิริพราหมณกุล

การแต่งกาย ผู้เป็นพราหมณ์ ต้องคล้องสายสะพาย ยัชโญปวีต สายธุรำ (เหมือนสายสิญจน์) ไม่ตัดผม (จึงต้องมุ่นมวยผมไว้)

เมื่อประกอบพิธี จะแต่งชุดขาวคือนุ่งโธตี หรือโจงกระเบน สีขาว ใส่เสื้อราชปะแตนขาว

อาหารการกินนั้น พราหมณ์จะไม่กินเนื้อวัว (เพราะนับถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์) และปลาไม่มีเกล็ด เช่น ปลาไหล (เพราะสกปรกกินแต่ของเน่า)

บูชาพระศิวะ หรือองค์แทน คือ ศิวลึงค์

สำหรับคนไทย ดูเหมือนจะนับถือเทพต่างๆ ของศาสนาพราหมณ์ รวมทั้งสร้างเทพไว้บูชาในที่ต่างๆ เป็นถาวรวัตถุทางศาสนา แม้กระทั่งในวัดพุทธศาสนสถาน ก็พบเห็นเทพของพราหมณ์ทั่วไป ทำให้เห็นว่า พุทธ กับพราหมณ์ แยกกันไม่ออก