ปัญหาการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมียนมา

01 ก.ค. 2567 | 04:32 น.

ปัญหาการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมียนมา คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ผมได้อ่านพบหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของเมียนมา ได้ลงข่าวของการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศเมียนมา โดยมี ฯพณฯ ท่านรัฐมนตรีกระทรวงการโรงแรมและการท่องเที่ยวเป็นประธาน และยังมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชนได้มาร่วมด้วยช่วยกันระดมความคิดเห็น ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลเมียนมาดำเนินการอยู่ 

เพราะผมเชื่อว่า วันนี้เศรษฐกิจของประเทศเมียนมา ต้องอาศัย “เงินเร็ว” อันหมายถึงเงินที่ได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวนี่แหละครับ ที่จะสามารถช่วยให้ฟื้นเศรษฐกิจของประเทศกลับมาได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนที่อาศัยประเทศเมียนมาในการทำมาหากินอยู่มาช้านานกว่าสามสิบห้าปี ที่เป็นชาวต่างชาติโดยกำเนิดอย่างผม อาจจะมีมุมมองที่จะช่วยได้สักนิดหน่อย ก็อยากจะแชร์เพื่อเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยครับ
 

การท่องเที่ยวของประเทศเมียนมา ที่ประสบปัญหามากมายในวันนี้ สาเหตุเหล่านี้สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเด็น ได้แก่ ปัญหาการเมือง ความขัดแย้งภายในประเทศ ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมที่ไม่ยั่งยืน ในการวิเคราะห์นี้ ผมจะขออธิบายแต่ละประเด็นโดยสังเขป เพื่อให้เข้าใจภาพรวมของปัญหาเท่านั้นนะครับ 
      
ปฐมเหตุของปัญหา ได้เริ่มเกิดขึ้นจากการระบาดของโรคระบาด COVID-19 ที่ทำให้ทุกประเทศทั่วโลก เกิดปัญหาปิดล็อกประเทศกันหมด การท่องเที่ยวของประเทศเมียนมา ที่กำลังเฟื่องฟูในยุคนั้น ก็หยุดชะงักลงทันที ต่อมาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองภายในประเทศ ที่เป็นอีกหนึ่งในสาเหตุหลัก ที่ทำให้การท่องเที่ยวของประเทศเมียนมาประสบปัญหา 

สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2021 ทำให้สถานการณ์ในประเทศไม่สงบ จนเกิดการประท้วงและการปะทะระหว่างรัฐบาลกับประชาชน สถานการณ์ความไม่สงบเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ทำให้การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศเมียนมาลดลงอย่างมาก
           
นอกจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ประเทศเมียนมายังประสบปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งปัญหานี้มีมาตั้งแต่อดีตอันยาวนาน และยังคงส่งผลกระทบจนถึงปัจจุบัน ความขัดแย้งเหล่านี้ ทำให้บางพื้นที่ในประเทศ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและน่าท่องเที่ยวในสายตาของผม ที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าถึงได้ ส่งผลให้การพัฒนาแหล่งเหล่านั้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่
       
อีกประเด็นหนึ่งคือ ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเมียนมา ที่ยังไม่พัฒนาหรือพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศเมียนมาประสบปัญหา เช่น การขาดแคลนถนนที่ดีและปลอดภัย การบริการขนส่งสาธารณะที่ไม่เพียงพอ หรือไม่มีคุณภาพ แม้ว่าหลังจากปี 2012 เป็นต้นมา จะมีการพัฒนารถด้วยการซื้อรถประจำทางรุ่นใหม่เข้ามาใช้บ้างแล้ว แต่ก็เพียงเส้นทางบางเส้นเท่านั้น ทั้งนี้หลายเส้นทางยังคงทำให้นักท่องเที่ยวต้องเผชิญกับความลำบาก ในการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่น่าจะเป็นที่ทำเงินเข้าประเทศได้ สาเหตุหลักเพราะถนนหนทางยังคงไม่ได้พัฒนานั่นเอง  
      
นอกจากนี้ การขาดแคลนที่พักที่เป็นโรงแรมหรือรีสอร์ตที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐานสากล ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะไม่มาท่องเที่ยวที่ประเทศเมียนมา จะมีเพียงเมืองหลักๆ เท่านั้นที่มีห้องพักที่เพียงพอและได้คุณภาพ แต่ราคาค่าที่พักในยุคที่กำลังพัฒนา (ในปี 2010-2020) ก็แพงมาก ไม่สมเหตุสมผลเลย 

บางพื้นที่ที่มีศักยภาพในเมืองรองๆ แม้ว่าจะมีศักยภาพทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ หรือทรัพยากรทางด้านวัฒนธรรม แต่ก็ขาดการพัฒนาแหล่งที่พักดังกล่าว ก็เป็นที่น่าเสียดายมากครับ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว แต่กลับขาดการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา ยังคงขาดการพัฒนา ทำให้ไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากเท่าที่ควร 
     
ต่อมาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่ไม่ยั่งยืน ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศเมียนมา ทั้งๆ ที่ประเทศเมียนมามีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีความสำคัญและสวยงามมากมาย เช่น วัดวาอารามในเมืองเก่าทั้งหลาย เจดีย์โบราณในพุกาม ทะเลสาบอินเล และพระราชวังในเมืองมัณฑะเลย์ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม การจัดการแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ ยังไม่ได้มาตรฐานสากล ทำให้เกิดปัญหาการเสื่อมสภาพของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและโบราณสถาน อย่างน่าเสียดาย ถ้ามีการจัดการและการร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ กับผู้ประกอบการที่มีจิตสำนึก ก็อาจจะช่วยในการท่องเที่ยวได้เกิดความยั่งยืนได้
       
นอกจากนี้การท่องเที่ยวที่ไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด ยังส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ เผชิญกับปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การทิ้งขยะในพื้นที่ธรรมชาติ การทำลายป่าหรือการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ไม่เหมาะสม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่ไม่ยั่งยืนเหล่านี้ ได้ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวสูญเสียความดึงดูดใจไปในที่สุด
        
นอกจากนี้ การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการตลาดของประเทศเมียนมา ก็ยังคงเข้าไม่ถึงตลาดและกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของประเทศเมียนมา ยังไม่ได้รับความสนใจในระดับสากล ซึ่งส่งผลให้ไม่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งยังทำให้นักท่องเที่ยวไม่ทราบถึงแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศเมียนมา ซึ่งต้องมีการส่งเสริมประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบครับ
          
การท่องเที่ยวของประเทศเมียนมา หากจะทำให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างสมบูรณ์  ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และจะต้องมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศเมียนมากลับมาเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกครับ