มหัศจรรย์เศรษฐกิจเมียนมา 3

17 มิ.ย. 2567 | 04:32 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2567 | 06:24 น.
535

มหัศจรรย์เศรษฐกิจเมียนมา 3 คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อคืนวานนี้ ได้เดินทางมาถึงย่างกุ้งโดยสวัสดิภาพ มาครั้งนี้เพื่อที่จะพาคนมาซื้อข้าวสารจากประเทศเมียนมา เพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สาม เหตุผลเพราะว่าปัจจุบันนี้ราคาข้าวสารในประเทศไทย แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศกัมพูชา เวียดนามและเมียนมา ราคาต่างถูกกว่าประเทศไทยแทบทั้งสิ้น ในขณะที่ราคาในประเทศเมียนมา ลูกค้าผมที่เคยเป็นขาประจำซื้อ-ขายกับผมมาช้านาน ทุกปีเขาจะนำเข้าข้าวไทยไปขายที่ประเทศของเขาจำนวนไม่น้อย 

แต่ปัจจุบันนี้ผมเห็นเขาหายหน้าไปเกือบสองปีแล้ว จึงได้สอบถามไปว่า “คุณเลิกขายข้าวแล้วเหรอ?” เขาก็ตอบว่า “ผมยังขายอยู่ แต่ว่าราคาในประเทศไทยค่อนข้างจะแข่งขันลำบาก” เขาจึงไปซื้อข้าวสารจากประเทศเวียดนามไปขาย ผมจึงถามไปว่า “เมื่อเทียบกับราคาของเมียนมา คุณคิดว่าจะสามารถแข่งขันได้หรือไม่?” เขาจึงตอบว่า “เท่าที่ทราบน่าจะสู้ได้”  เพราะเขามีเพื่อนที่ทำข้าวสารจากเมียนมา เข้าไปขายที่ประเทศเขา เขาจึงคิดว่า น่าจะสู้ได้
 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงได้ติดต่อกับท่านทูตพาณิชย์เมียนมาประจำประเทศไทย และสอบถามถึงการซื้อข้าวสารจากที่เมียนมา เพื่อทดแทนตลาดที่หายไป ซึ่งท่านทูตพาณิชย์เมียนมา ท่าน Thida win ก็ได้กรุณาช่วยประสานกลับไปที่ประเทศเมียนมา ซึ่งทางการเมียนมาก็ดีใจมาก และให้ความสำคัญกับการมาครั้งนี้อย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการช่วยให้เกษตรกรชาวเมียนมา ขายสินค้าได้และนำเงินเข้าสู่ประเทศเมียนมา ที่กำลังขาดแคลนเงินตราต่างประเทศไม่น้อยนั่นเองครับ โดยในวันจันทร์นี้ก็จะได้พบกับผู้ประกอบการค้าข้าวของเมียนมาหลายกลุ่ม ส่วนผลลัพธ์จะออกมาในรูปแบบไหน? คงต้องรออีกสองวันจะรู้ผลครับ
         
ในปัจุบันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา ตามที่ผมได้เล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลเมียนมา ต้องใช้มาตรการยาแรง ในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น จากการเรียกตัวผู้ประกอบการจัดทำ EVENTในเมืองสำคัญต่างๆ ของเมียนมา เพื่อขายอสังหาริมทรัพย์หรือคอนโดมิเนียมในประเทศไทย โดยเฉพาะที่กรุงเทพมหานครไปเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา นั่นเป็นเพียงหนึ่งในสามสาขาอาชีพ ที่ถูกทางการจับตามองเท่านั้น เพราะหากปล่อยให้มีอิสระเสรีมากเกินไป ก็จะทำให้เงินทุนสำรองที่มีอยู่ไม่เพียงพออยู่แล้ว ต้องขาดแคลนมากยิ่งขึ้น ในขณะที่อีกสองสาขาอาชีพที่เหลือที่ถูกเรียกไปรายงานตัวก็คือ ร้านค้าทองและกลุ่มโต๊ะเงินโพยก๊วน ที่ก็เป็นอีกสองสาขาอาชีพที่สำคัญ ที่จะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราด้วยเช่นกัน
 

บางท่านอาจจะถามว่าแล้วไงละ? หรือมันเกี่ยวข้องกันได้ไงละ? ต้องบอกว่า เกี่ยวมากเลยละครับ เอาสาขาอาชีพแรกก่อนนะครับ ต้องขออนุญาตว่า ที่เล่าต่อไปนี้ เป็นเหตุการณ์ในประเทศเมียนมา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศอื่นๆ ทัวร์อย่างเพิ่งมาลงที่ผมนะครับ กล่าวคือ ร้านทองที่นี่ เขาจะมีการซื้อ-ขายและปล่อยกู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป ในขณะที่เขาใช้ “ทองคำ” มาเป็นสินค้าหรือเครื่องมือในการดำเนินค้า-ขายดังกล่าว 

ดังนั้นในกรณีที่ประเทศที่อยู่ในสภาวะขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ประชาชนที่มีเงินอยู่ในมือ เมื่อไม่มีความเชื่อมั่นกับค่าของเงินจ๊าด ก็จะพยายามดิ้นรนเสาะแสวงหาให้ได้ ก็ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วย Demand-supply นั่นแหละครับ คือถ้ามีความต้องการหรืออุปสงค์มากกว่าอุปทาน ราคาก็ต้องสูงขึ้นเป็นธรรมดา ดังนั้นมูลค่าหรืออัตราแลกเปลี่ยน ก็จะทำให้เงินจ๊าดอ่อนค่าลงเป็นไปตามกฎของธรรมชาตินั่นแหละครับ เมื่อเงินตราต่างประเทศนับวันยิ่งหายาก คนก็จะเร่งในการหาทรัพย์สินอื่นๆ ที่สามารถเปลี่ยนมือได้ง่ายมาครอบครองแทนครับ
         
จากที่กล่าวนั้น เมื่อคนเห็นว่าทองคำเป็นทรัพย์ที่เหมาะสมต่อการสะสมไว้ในมือ ก็ต้องเดินหน้าเข้าไปในร้านค้าทองคำ เพื่อซื้อหามาครอบครอง ยิ่งแย่งซื้อราคาก็ย่อมแพงขึ้น ในขณะเดียวกัน เมื่อราคาทองคำสูงขึ้น มูลค่าของเงินจ๊าดก็จะต้องด้อยค่าลง อัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าดกับเงินต่างประเทศ ก็จะต้องใช้เงินจ๊าดมากขึ้น ถึงจะครอบครองได้นั่นเอง ดังนั้นการแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือการใช้ยาแรงจึงบังเกิดครับ ทางรัฐบาลเมียนมาจึงได้เปิดเกมรุกด้วยการประกาศเรียกผู้ประกอบการค้า-ขายทองคำ เข้าไปรายงานตัว 

เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ท่านควรจะช่วยประเทศชาติ ในการหยุดยั้งการปล่อยให้ประชาชน(หรือใครไม่รู้) ปั่นราคาทองคำ ด้วยการห้ามปิดร้านค้านะ!! ห้ามซื้อ-ขายเกินราคากำหนดนะ!! ซึ่งก็ได้ผลอย่างชะงัดเลยครับ ไหนละใครบอกว่า รัฏฐาธิปัตย์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ ต้องประชาธิปไตยเท่านั้นจึงจะแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งส่วนตัวผมเอง แม้จะไม่ได้ชื่นชอบกับรัฏฐาธิปัตย์ แต่บ้างครั้งประชาธิปไตยจ๋ามากเกินไป ก็ยากที่จะไปบังคับใครได้ครับ
          
อีกสาขาอาชีพหนึ่ง คือกลุ่มผู้ประกอบการโพยก๊วน ซึ่งกลุ่มนี้ชัดเจนว่า มีผลต่อการทำให้อัตราแลกเปลี่ยนในท้องตลาดกระเพื่อมขึ้นลงได้ ตามความต้องการได้อย่างไม่ยาก แน่นอนว่าการที่เขาต้องทำเช่นนั้น ก็เพราะเป็นอาชีพของเขาตรงๆ จะไปกล่าวโทษเขาก็ยากเช่นกัน ดังนั้นทางภาครัฐเขาจึงหันมามองกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มนี้มากขึ้น วิธีการจัดการก็จะคล้ายๆ กับกลุ่มร้านค้า-ขายทองคำนั่นแหละครับ ผลที่ตามมาจึงทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าดต่อเงินเหรียญสหรัฐ ที่ตกลงไปมากถึง 5,000 จ๊าดต่อ 1 เหรียญสหรัฐในช่วงสั้นๆ จากนั้นหลังจากที่รัฐบาลฉีดยาแรง จึงทำให้เงินจ๊าดแข็งค่าขึ้นมาอย่างรวดเร็วครับ ณ วันนี้ อัตราแลกเปลี่ยนยังคงยืนอยู่ที่ 4,400 จ๊าดต่อ 1 เหรียญสหรัฐ
        
ส่วนตัวผมเชื่อว่า ต้องดูกันต่อไปว่า ภายในสิ้นเดือนนี้ รัฐบาลเมียนมาจะมีการออกมาตรการเร่งด่วนอะไรอีกหรือไม่? ซึ่งหากมีเครื่องมือใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติม ก็คงจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกต่อไปครับ