ปัญหาข้าวของเมียนมา

24 มิ.ย. 2567 | 05:30 น.

ปัญหาข้าวของเมียนมา คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมเข้าไปกรุงย่างกุ้งอีกครั้ง พร้อมกับพาลูกค้าชาวจีนต่างที่ต้องการหาซื้อข้าวสารของเมียนมาเข้าไปด้วยกัน อันที่จริงก็มีเพื่อนหลายๆ ท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องพาเขาไปซื้อข้าวที่ประเทศเมียนมาด้วย เหตุผลที่ไม่น่าปล่อยให้เขาเข้าไปซื้อข้าวที่นั่น  เพราะผมเองก็ทำธุรกิจโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าว เพื่อการส่งออกและขายในประเทศไทยอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ผมก็เป็นคนไทยแท้ๆ น่าจะช่วยกันส่งเสริมข้าวไทยมากกว่าส่งเสริมข้าวจากประเทศคู่แข่ง แต่ถ้าท่านอ่านบทความนี้จบ ก็คงจะเข้าใจได้ครับ

ในช่วงหลายปีมานี้ การส่งออกข้าวเข้าไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนของผู้ค้าข้าวไทย โดยโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวที่ทำธุรกิจนี้อยู่ จะต้องได้รับการอนุญาตให้ส่งออกเข้าสู่ประเทศจีน ซึ่งทางการของจีนเขาจะส่งคนเข้ามาตรวจสอบคุณภาพของโรงปรับปรุงข้าวก่อน หลังจากที่เขามั่นใจว่าโรงงานดังกล่าวได้มาตรฐานแล้ว เขาก็จะออกใบอนุญาตให้แก่โรงงานนั้นได้

ปัจจุบันนี้ในประเทศไทยเรา มีโรงงานที่ได้มาตรฐานที่ได้รับใบอนุญาตไม่กี่สิบราย โรงงานของผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ดังนั้นแม้จะมีใบอนุญาตจากสมาคมผู้ค้าข้าวของไทยแล้ว ก็ใช่ว่าจะสามารถส่งออกข้าวไปขายที่ประเทศจีนได้ครับ ในขณะที่ประเทศเมียนมาเองก็เช่นกัน ประเทศเขามีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตเพียงแค่ 14 รายเท่านั้น โรงงานทุกแห่งที่มีใบอนุญาตจากประเทศจีนดังกล่าวแล้ว จะไปเอาข้าวที่ได้รับการปรับปรุงจากโรงสีข้าวหรือโรงปรับปรุงข้าวอื่น มามุบมิบส่งออกในนามของเจ้าของใบอนุญาตจากบริษัทที่ได้รับมาส่งออกไปจีนไม่ได้โดยเด็ดขาด อย่างมากก็ไปซื้อข้าวมาจากโรงสีข้าวอื่นๆ แล้วมาปรับปรุงที่โรงงานที่ได้รับใบอนุญาตอีกครั้ง แล้วจึงส่งออกไปที่ประเทศจีนในนามของโรงงานที่ทำการปรับปรุง  อย่างนี้ทำได้ครับ  

ในขณะที่ผู้ซื้อข้าวจากประเทศจีนรายที่ผมพาไปหาซื้อข้าวครั้งนี้ เมื่อก่อนทุกๆ ปีเขาจะซื้อข้าวจากโรงงานของผม สูงสุดเคยซื้อมากถึง 20,000 ตัน/ปี แต่ระยะหลายปีมานี้ ประเทศไทยเราราคาข้าวส่งออก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน มักจะแพงกว่าเสมอ เขาจึงหนีไปซื้อข้าวที่ประเทศเวียดนามแทน เพราะข้าวที่เขาซื้อ เป็นข้าวขาวและข้าวหักหรือที่เรียกว่า “ปลายข้าว” เพราะเขาใช้ไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเส้นหมี่ เส้นก๊วยเตี๋ยว เหล้า น้ำส้มสายชู เป็นต้น เขาจึงไม่จำเป็นต้องซื้อข้าวหอมมะลิ ในขณะที่ประเทศเวียดนาม ข้าวขาวและปลายข้าวราคาจะถูกกว่าประเทศไทยหลายตังค์ครับ 

เมื่อสองเดือนก่อน ลูกค้ารายนี้มาเที่ยวที่ประเทศไทย เขาได้แวะมาเยี่ยมเยือนผมที่บริษัท ผมจึงสอบถามเขาว่า “คุณเลิกขายข้าวแล้วเหรอ” เขาตอบว่า “ยังทำอยู่ แต่ราคาของข้าวไทยสู้ข้าวเวียดนามไม่ได้” ผมจึงถามไปว่า “สนใจข้าวเมียนมามั้ยละ ราคาของข้าวเมียนมาน่าจะถูกกว่าข้าวของเวียดนามเยอะนะ” เขาก็สนใจทันที จึงเป็นที่มาของการเดินทางในครั้งนี้ครับ

ก่อนที่เราจะเดินทางไปกัน ผมก็ได้ประสานไปยังท่านทูตพาณิชย์เมียนมาประจำประเทศไทย เพื่อขอให้ท่านช่วยนัดหมายสมาคมผู้ค้าข้าว และเอกชนให้แก่คณะเรา เมื่อเราไปถึงที่กรุงย่างกุ้ง ก็ได้รับการต้อนรับจากสมาคมฯเป็นอย่างดี เขาได้จัดให้เราเข้าไปร่วมประชุมหารือกับบริษัทค้าข้าว ที่มีใบอนุญาตส่งออกเข้าไปยังประทศจีนหลายราย ซึ่งพอจะเข้าใจว่ากลุ่มผู้ค้าข้าวของเมียนมา ปัจจุบันได้ประสบปัญหาค่อนข้างมากทีเดียวครับ

ปัญหาของเขาปัญหาแรก คือเมื่อก่อนสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เขาจะส่งออกไปทางชายแดนด้านด่านมู่เจ-หยุ่ยลี่ โดยทางรถยนต์เป็นหลัก แต่พอมีสถานการณ์โควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การต่อต้านรัฐบาลที่ดุเดือดมากขึ้น ทำให้ด่านชายแดนเมียนมา-จีน ได้ถูกปิดโดยปริยาย ทำให้ผู้ค้าข้าวต้องหันมาใช้การขนส่งทางเรือเป็นหลัก แม้เขาจะถูกแซงชั่นจากชาติตะวันตก แต่ประเทศอีกฝากหนึ่งที่ยังเป็นพันธ์มิตรกับเขาอยู่ ก็ยังคงทำธุรกิจกับเขาอยู่ตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่ใหญ่อย่างประเทศจีนหรือรัสเซีย เขาก็ไม่ได้ให้ความสนใจการแทรกแซงของชาติตะวันตกอยู่แล้ว 

ประเด็นต่อมาที่เกิดปัญหา คือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทางเรือเดินสมุทร ที่เกิดจากสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันนี้ ที่มีการสู่รบกันหลายๆ ด้าน ทำให้ความต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ในการบรรจุสินค้าทางเรือ เกิดปัญหาขาดแคลนอย่างมาก และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อโลจิสติกส์ของโลกในเวลาอันใกล้นี้ บางประเทศที่การเดินเรือหรือสายเรือที่เข้าไปน้อยมาก อย่างเช่นประเทศเมียนมาที่มีบริษัทเรือเดินสมุทรไม่กี่บริษัทได้เดินทางเข้าไปสู่ท่าเรือที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ต้องพึ่งพาสายเดินเรือของบริษัท China Ocean Shipping : COSCO และอีกไม่กี่บริษัท จึงทำให้ปัญหาการหาตู้คอนเทนเนอร์เรือยากต่อการสนองความต้องการที่มีอยู่มากได้อย่างเพียงพอครับ

อีกปัญหาหนึ่งที่เขาเองต้องใช้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาเอง นั่นคือปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ที่ค่าเงินของเมียนมาได้ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาสินค้าวัตถุดิบ หรือข้าวเปลือกราคาจะไม่นิ่งเลย และรัฐบาลของเขาต้องดำเนินนโยบาย 65:35 (เรื่องนี้คงต้องเล่ายาวครับ) ซึ่งทำให้เขาส่งออกสินค้า อาจจะทำให้ได้รับเงินไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งผมก็บอกเขาไปว่า เรื่องนี้เราไม่สามารถเขาไปมีส่วนรับรู้ได้ เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลประเทศเขาครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมนำเสนอเขา คือเขาควรจะใช้ประเทศไทยที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีมิตรไมตรีต่อเขา มาร่วมกันส่งเสริมการค้าข้าวให้เต็มรูปแบบ เขามีความสามารถผลิตข้าวในราคาต่ำได้ เรามีตลาดและความเชื่อถือจากคู่ค้าของเรา หากสามารถร่วมมือกันได้ โดยเราจะเป็นมือการตลาดให้ (Marketing Arm) ส่วนเขาก็ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต(Producers) การส่งออกก็ใช้ช่องทางส่งออกจากท่าเรือในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ น่าจะเป็นช่องทางที่สมประโยชน์ร่วมกันทั้งสองประเทศนะครับ

แนวคิดนี้หากสามารถทำให้ประสบผลสำเร็จได้ ในระยะยาวประเทศไทยเราจะได้ประโยชน์สูงสุด แต่รายละเอียดในรูปแบบการจัดการ ยังมีอีกเยอะที่จะต้องพูดคุยร่วมกัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ เมื่อได้โมเดลเรียบร้อยแล้ว ผมคงจะต้องจัดงานสัมมนาให้แก่นักธุรกิจค้าข้าวทั้งสองประเทศ มาเจอกันที่สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ภายใต้ร่มของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อหาช่องทางร่วมมือกัน ถ้าหากผู้ประกอบการไทยท่านใดที่สนใจ คงต้องคอยติดตามอ่านบทความนี้ของผมต่อไปนะครับ