‘โรคซึมเศร้า’ สึนามิของระบบสาธารณสุขในอนาคต?

07 มิ.ย. 2567 | 05:01 น.
561

‘โรคซึมเศร้า’ สึนามิของระบบสาธารณสุขในอนาคต? : Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

โรคซึมเศร้าเป็นภัยเงียบด้านสุขภาพ เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคต มีทั้งวัยทำงานแล้วก็วัยสูงอายุ และมีแนวโน้มอายุสั้นลงหรือมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย หรือแม้กระทั่งคนที่ป่วยทางกาย นำมาสู่ความเปราะบางทางใจ บางโรคพบมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคซึมเศร้า

ดังนั้นสุขภาพใจเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมรองรับ โดยเฉพาะสังคมผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับสัดส่วนประชากรของทั้งโลกที่ผู้สูงอายุเติบโตก้าวกระโดดและที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ล้วนสำคัญต้องเตรียมตั้งรับไม่แพ้เรื่องของสุขภาพกายเลย

‘โรคซึมเศร้า’ สึนามิของระบบสาธารณสุขในอนาคต?

จากการศึกษาและการวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่าผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญ การตรวจพบและการรักษาโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ การรักษาที่มีประสิทธิภาพรวมถึงการใช้ยา การบำบัดทางจิตวิทยา การสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อนฝูง และการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสังคมจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับเหตุผลที่ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า อาจมีมาได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ผู้สูงอายุมักเผชิญกับปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่มาพร้อมกับวัย เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคข้อเสื่อม ซึ่งสามารถนำไปสู่ความรู้สึกท้อแท้และหมดหวังได้ หรืออาจจะเกิดจากการสูญเสีย คู่ชีวิต เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเศร้าโศกและโดดเดี่ยวมากขึ้น การสูญเสียความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำได้ เช่น การขับรถ การเดิน หรือการดูแลตัวเอง ทำให้รู้สึกสิ้นหวัง

นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน การเกษียณอายุทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าและไม่มีบทบาทในสังคม การย้ายบ้านหรือการย้ายไปอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุอาจทำให้รู้สึกไม่คุ้นเคยและเกิดความเครียดบางคนอาจจะมีการแยกตัวจากสังคม การขาดการติดต่อกับครอบครัวและเพื่อน การไม่มีการสนทนากับผู้อื่น และการรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระให้กับผู้อื่นทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวและเหงา

‘โรคซึมเศร้า’ สึนามิของระบบสาธารณสุขในอนาคต?

อีกส่วนหนึ่ง คือ ปัจจัยทางจิตใจและอารมณ์ ผู้สูงอายุที่เคยมีประวัติของโรคซึมเศร้าในอดีตมีโอกาสสูงที่จะประสบกับโรคซึมเศร้าอีกครั้ง ความเครียดจากสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ปัญหาทางการเงินหรือการเผชิญกับความเจ็บป่วย ทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลที่ส่งผลต่อภาวะจิตใจทั้งสิ้น

ส่วนภาพของการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานหรือระบบนิเวศ เพื่อรองรับการดูแลสุขภาพใจ รวมไปถึงโรคทางจิตเวชทุกประเภท งานวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันว่า ผมขอสรุป 4 ปัจจัยสำคัญที่มีผลโดยตรงต่อการดูแลผู้ป่วยด้านจิตเวช ดังนี้

1. ยา ทั้งยาในด้านการรักษา และยาที่มุ่งหวังผลประโยชน์ในเชิงป้องกันหรือชะลอ เช่น ยาต้านซึมเศร้า

2. นโยบายสาธารณะ รวมไปถึงส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและความเชื่อที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาและดูแลผู้ป่วย การดูแลรักษาทางจิตเวชควรมีมาตรฐานหรือว่าแก่นของความเสมอภาคในการดูแลผู้ป่วยในทุกๆกองทุนการรักษา รวมถึงกฎระเบียบต่างๆที่เอื้อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยด้านจิตเวช

‘โรคซึมเศร้า’ สึนามิของระบบสาธารณสุขในอนาคต?

3. ความร่วมมือเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนในระบบสาธารณสุขเพื่อสร้างระบบนิเวศของการดูแลรักษาส่งต่อในผู้ป่วยจิตเวชเพื่อให้เกิดการดูแลรักษาในเชิงรุกมากกว่าที่จะรอให้ผู้ป่วยเดินทางเข้าไปพบแพทย์ ซึ่งมีปัจจัยข้อจำกัดอยู่มาก

4. การพัฒนานวัตกรรมเชิงการแพทย์ที่จะขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุมในประเทศลดการพึ่งพา นวัตกรรมยาและการรักษาจากต่างประเทศ ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นการลงทุนทางการแพทย์ระยะกลาง-ยาว

สิ่งนี้เราจะต้องเตรียมพร้อมรับมืออาจจะเป็น “สึนามิ” ของระบบสาธารณสุขในอนาคตอันใกล้นี้ และเป็นอนาคตที่ไม่ไกลเลยสำหรับประเทศไทย

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,998 วันที่ 6 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2567