“แลนด์บริดจ์”ไทยต่างชาติสนใจจริงหรือ?

03 มิ.ย. 2567 | 15:39 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2567 | 15:47 น.

“แลนด์บริดจ์”ไทยต่างชาติสนใจจริงหรือ? : บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3997

การผลักดันโครงการอภิโปรเจ็กต์แลนด์บริดจ์ มูลค่า 1 ล้านล้านบาทภายใต้ “รัฐบาลเศรษฐา” ปัจจุบัน มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง หลังนายเศรษฐา ทวีสิน และคณะเดินทางโรดโชว์  ดึงยักษ์ใหญ่ระดับโลกเข้าลงทุน และทุกครั้งที่เดินทางไปไม่ว่าประเทศไหน ที่นั้นต่างให้ความสนใจ  ทั้งจีน ญี่ปุ่น อเมริกา และ ล่าสุด บริษัท Fincantieri ซึ่งเป็นบริษัทต่อเรือขนาดใหญ่ของอิตาลี มีความสนใจเข้าลงทุนในแลนด์บริดจ์  โชว์ศักยภาพสามารถให้บริการซ่อมบำรุงเรือขนส่งสินค้า รวมถึงโครงการก่อสร้างท่าเรืออื่น ๆ 

ขณะเดียวกัน กรรมการบริหารการตลาดบริษัท Webuild ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการก่อสร้าง และออกแบบวิศวกรรมโยธา มีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ การสร้างเขื่อน ท่าเรือ ถนน ทางรถไฟ ท่าอากาศยาน ปัจจุบันดำเนินธุรกิจใน 50 ประเทศทั่วโลกนั้น ได้นำเสนอเทคโนโลยีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และแสดงความสนใจที่จะร่วมลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ด้วยเช่นกัน  

ล่าสุด วันที่ 30 พฤษภาคม 2567  สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.  เปิด  Market Souding  โครงการแลนด์บริดจ์  บริเวณ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา พบว่า  ได้รับความสนใจอย่างมาก  

สะท้อนได้จาก มีนักลงทุน กลุ่มสายการเดินเรือ, กลุ่มบริหารท่าเรือ, กลุ่มการก่อสร้าง ฯลฯ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศให้ความสนใจกว่า 100 คน เช่น บริษัทดับลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ),บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่งจำกัด, บริษัทเอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล  (ประเทศไทย ) จำกัด, บริษัทสยามพิวรรธน์จำกัด, บมจ.ธนาคารกรุงไทย, China energy international group,Nippon Koei Co,Ltd.(Japan) ,Mitsubishi Company (Thailand), Bank of China, Embassy of India, JicaThailand Office ฯลฯ

ในการนี้ กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดออกกฎหมาย พ.ร.บ sec เพื่อเสนอต่อครม.เห็นชอบภายในเดือนกันยายนนี้ และเสนอต่อสภาพิจารณาต่อไป และคาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในปลายปี 2568  ซึ่งรูปแบบ ลงทุน PPP ระยะเวลา 50 ปี โดยประมูลเป็นแพ็คเกจเดียวกัน แต่แบ่งระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ วงเงินรวม 1 ล้านล้านบาท 

เรียกว่าแลนด์บริดจ์ไทย เวลานี้เนื้อหอม แต่ถึงคราวประมูลจริงต้องจับตา ว่า ทีโออาร์ถูกใจนักลงทุนหรือไม่