ถึงคิวสั่งรื้อ ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง

09 มี.ค. 2567 | 11:28 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2567 | 11:52 น.
13.7 k

ถึงคิวสั่งรื้อ ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3973

พระราชบัญญัติ (พรบ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ เรียกเก็บภาษีจริงนับตั้งแต่ปี 2563 ในสมัยรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แต่เป็นจังหวะของการระบาดโควิด จึงเป็นเหตุให้ต้องลดหย่อน ลง 90% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนลง จนถึงปี 2564 หรือเป็นเวลา 2 ปี 

รัฐบาลใช้วิธีใช้งบประมาณชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปให้กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 7,849 แห่ง ไม่รวมกรุงเทพมหานคร 
 
 

ปี 2565 ประชาชนต้องเสียภาษีในอัตราเต็ม (100%) เนื่องจากท้องถิ่นได้รับผลกระทบ ไม่มีรายได้เข้าหล่อเลี้ยงองค์กร และมองว่าโควิดคลี่คลาย เศรษฐกิจประเทศ เริ่มฟื้นตัว ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตประกอบอาชีพตามปกติ 
 
แต่เนื่องจากมีการเรียกร้องจาก สภาหอการค้าไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง ขอผ่อนผันต่อเนื่อง หรือเลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินออกไปก่อน จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นจากพิษโควิด ส่งผลให้ ปี2566 “รัฐบาลประยุทธ์” ได้ประกาศลดการจัดเก็บภาษีลง 15%  
  
 

ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาล “เศรษฐา” มีมติเห็นชอบให้กลับมาเก็บภาษีที่ดิน ปี 2567 อัตราเดิม 100% ไม่มีลดหย่อน 15% เหมือนปีก่อน แต่เลื่อนระยะเวลาการชำระภาษีที่ดิน 2567 ออกไป 2 เดือน หรือ เริ่มชำระเดือน มิถุนายน จากปกติ เมษายน ซึ่งใครมีที่ดินมากต้องระมัดระวังจัดสรรที่ดินให้ดี เพื่อสร้างประโยชน์และลดรายจ่ายทางด้านภาษี
 
มีการประเมินว่าปี 2567 หากจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็ม 100% จะมีรายได้ทั่วประเทศ 4.1 หมื่นล้านบาท ขณะปีที่ 2566 ลดหย่อน 15% จัดเก็บภาษีได้ กว่า 3.7 หมื่นล้านบาท โดยกรุงเทพมหานคร จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566 (ลดหย่อน15%) ได้ 12,455,365,337 บาท (12,455ล้านบาท) หากจัดเก็บเต็ม 100% จะมีตัวเลขอยู่ที่  14,653,370,984 บาท (14,653 ล้านบาท) ซึ่งประเมินกันว่า ปี 2567 น่าจะอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท หรือ มากกว่านั้น 
 
ล่าสุด “รัฐบาลเศรษฐา” โดย “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายภาครัฐต่อการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์” ในงาน “อสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2024” ว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาปรับปรุงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจที่ยังมีปัญหา โดยการปรับปรุงภาษีดังกล่าว จะพิจารณาทั้งในแง่ประสิทธิภาพในการจัดเก็บ และในเรื่องอัตราภาษีให้เกิดความเหมาะสม 
 
ต้องจับตาว่าในที่สุดแล้ว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโฉมใหม่หน้าตาจะเป็นอย่างไร แลนด์ลอร์ดจะใจฟู หรือ ฝ่อ เดี๋ยวได้รู้กัน!!!