สติมีอาการเกิดอย่างไร

18 ก.พ. 2567 | 04:10 น.

สติมีอาการเกิดอย่างไร คอลัมน์ สังฆานุสติ โดย บาสก

สังคมพูดถึงสติ​บ่อยมาก​ ​เพื่อเตือนให้ผู้เกี่ยวข้องคำนึง​ความถูกต้อง​ ตามทำนองคลองธรรม เพราะคนมีสติ​ รู้สึกตัว​ มักทำอันใดไม่ผิดพลาด​ ดังพุทธภาษิตว่า​สติ​ โลกัสสมิ​ ชาคโร​  แปลว่าสติเป็นธรรมเครื่องตื่นในโลก
  
สติ​ ต้องคู่กับสัมปชัญญะ​ เสมอ​ ท่านเรียกว่า​ ธรรมะที่อุปการมาก

แต่สติมีอาการเกิดอย่างไร​ เป็นคำถามที่พระเจ้ามิลินท์​ (​เกิด​ 180​ ปี​ก่อนคริสตกาล) ​ถามพระนาคเสน​ พระนักปราชญ์ชาวพุทธ​ นับพันปีมาแล้ว

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า​ กรมหลวงวชิรญาณสังวร​ เมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ​ ทรงเล่าเรื่อง​ สติ​ ว่าเกิดขึ้นด้วยอาการ​​อย่างไรบ้าง​ในหนังสือพระพุทธเจ้านั้นเลิศ​ล้ำ

ซึ่งเป็นพระนิพนธ์​ ให้​นิตยสาร​ศรีสัปดาห์​ ที่ย่างเข้าปีที่​ ​17​ วันที่​ 12​ สิงหาคม​ 2510

โดย เจ้าพระคุณ​ อ้างพระนาคเสน​ ตอบปัญหา​ พระเจ้ามิลินท์​ ที่ถามว่า​ สติเกิด​ ด้วยอาการเท่าไร​ 

พระนาคเสน​ตอบว่า​ สติ​ มีอาการเกิดด้วยอาการ​ 17​ อย่าง

1) เกิดขึ้นโดยมีความรู้จำเป็นเลิศ​ เหมือนพระอานนท์​ฟังครั้งเดียว​ก็จำได้แม่น

2) เกิดขึ้นโดยผูกใจเก็บไว้​ ​เหมือนคนมักลืม​ ต้องผูกใจจำ​ คล้ายกับการเก็บทรัพย์

3) เกิดขึ้นโดยความรู้สึกที่โอฬาร​ ได้แก่ผู้ประสบความรู้สึกใหญ่โตอย่างยิ่ง​ ในคราวได้รับผลใหญ่โต​ ก็จำจารึกติดใจ

4) เกิดขึ้นโดยความรู้สึก​ที่เกื้อกูล​ ได้แก่รับความเป็นสุขในสิ่งใด​ ​ก็จำสิ่งนั่นอยู่โดยปกติ​

5) เกิดขึ้นโดยความรู้สึก​ที่ไม่เกื้อกูล​ได้แก่ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ก็จำได้

6) เกิดขึ้นโดย​สิ่งที่คล้ายกัน​ เช่นเห็นคนที่คล้ายกับเพื่อนผู้ใด​ ​ก็นึกถึงเพื่อนผู้นั้นได้

7) เกิดขึ้นโดยสิ่งที่ผิดเพี้ยนกัน​ เช่นเห็นสิ่งหนึ่ง​สิ่งใด​ ก็นึกถึงอีกสิ่งหนึ่งที่ผิดเพี้ยนได้

8) เกิดขึ้นโดยถ้อยคำบอกให้รู้​ เช่นคนที่ลืม​ มีผู้อื่นมาบอกทบทวน​ ก็นึกได้

9) เกิด​ขึ้นโดยกำหนดลักษณะ​ เช่น จำโค​ กระบือได้​ โดยกำหนดลักษณะแห่งอวัยวะ​ (ของสัตว์​นั้น)​

10) เกิดขึ้นโดยต้องนึกบ่อยๆ​ 

11) เกิดขึ้น​โดยหัวข้อ​ คือทำหัวข้อไว้เพื่อกำหนดจดจำ

12) เกิด​ขึ้น​ โดยการนับจำนวน​ หรือคำนวณ

13) เกิดขึ้น​โดย​ทำความทรงจำไว้​ เช่นท่องจำ

14) เกิดขึ้น​ โดย​ อบรมสมาธิ​ และปัญญา​ จนระลึกชาติ​ได้

15) เกิด​ขึ้น​โดยอาศัยตำรา​ เช่นนึกได้ว่าอยู่​ในตำรา​ แต่ต้องเปิดดูจึงรู้

16) เกิดขึ้น​โดย​วางไว้ใกล้ตา​ ก็ใกล้ใจ

17) เกิด​ขึ้น​โดยประสบพบผ่านมาแล้ว

ดังที่ว่ามานี้คือที่มาของสติ ความระลึกได้ แต่ต้องมาคู่กับสัมปชัญญะ​ คือ ความรู้ตัว​ทั่วพร้อม​ ทั้งสองหัวข้อนี้​ เป็นธรรม​ที่มีอุปการมาก​ ใครมี​ย่อมมีความเจริญ ดังพุทธ​ภาษิตว่า​ สตีมโต สะทา​ ภัททัง  คนมีสติ​ มีความเจริญ​ ทุกเมื่อ