นิพพานธรรม ที่พระเถระ 17 รูป ระดับหัวแถวหาคำตอบถวายรัชกาลที่ 5 

05 ก.พ. 2567 | 03:03 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2567 | 00:09 น.

นิพพานธรรม ที่พระเถระ 17 รูป ระดับหัวแถวหาคำตอบถวายรัชกาลที่ 5  คอลัมน์ สังฆานุสติ โดย บาสก

ชาวพุทธ รู้จักคำว่านิพพานดี แต่ให้อธิบายว่า นิพพานคืออะไร ก็อธิบายกันไปตามที่รู้ที่ฟังมา ตรงบ้างเพี้ยนบ้าง ทั้งๆ ที่นิพพาน คือเป้าหมายสูงสุดของศาสนาพุทธจะเห็นได้จากการที่ชาวพุทธกล่าวคำถวายทานแล้วจะมีคำลงท้ายว่า นิพพานะปัจจะโย โหตุ หรือคำขออุปสมบท (คำขานนาค) ของกุลบุตรทั้งหลายที่บอกกับพระอุปัชฌาย์ว่า ที่มาขอบวชนี้ก็เพื่อพระนิพพาน บาลีว่านิพพานสัจฉิกะระนัตถายะ (แปลว่าเพื่อทำนิพพานให้แจ้ง) แต่เอาเข้าจริงก็เขวเป็นส่วนมาก
 
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงขอให้พระเถระผู้ทรงคุณวุฒิ 17 รูปแปลความพระนิพพาน ถวายสมเด็จพระวันรัต (ทับ) เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร อยู่ในจำนวนพระเถระทั้งนั้นด้วย เจ้าพระคุณสมเด็จ นอกจากแปลและวิสัชนาคำว่านิพพานแล้ว ยังบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ด้วย สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (พิจิตร ฐิตวัณโณ) เมื่อครั้งเป็นพระธรรมวิสุทธิกวี เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหารในปัจจุบัน ว่านิพพานธรรมนี้เป็นการอธิบายเรื่องนิพพานที่น่าฟังและชัดเจนดีมาก ควรแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง (จากหนังสือประวัติ ผลงานและรวมธรรโมวาท สมเด็จพระวันรัต (ทับ) พิมพ์ฉลอ150 ปี วัดโสมนัส 29-31 ธ.ค.2549)

ภาพพุทธคยา  อินเดีย  ภาพเขียนจากวัดศรีลังกา  อินเดีย (ภาพโดย บาสก  ปึ  2565)

นิพพานธรรม

ผมสรุปจากที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัตแสดงแบบย่อว่า ชาติ คือการเกิดประกอบด้วยขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีแก่ เจ็บและตาย ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ เจ็บป่วยโศกเศร้า เสียใจ คับแค้นใจ ซึ่งมาจากขันธ์ 5
 
เมื่อขันธ์ 5 ดับ ทุกข์ โศก เศร้า เสียใจ เจ็บ ป่วยก็ดับ นี่คือนิพพาน ขันธ์ 5 จะดับต้องละวาง ไม่ยึดติด ไม่ถือว่าเป็นของเราและรู้ให้ลึกอีกว่า ตัณหา มานะ ทิฐิ ในขันธ์ 5 นั้น เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อตัณหา มานะ ทิฐิ ที่เป็นต้นเหตุดับขันธ์ 5 ที่เป็นผลจึงดับไปด้วย นี่แลคือ นิพพาน ทุกข์ดับสิ้น จึงเป็นสุข

สรุป  นิพพานคือการดับ ของอวิชชาและตัณหา ส่งผลให้ขันธ์เกิดไม่ได้



นิพพานธรรมที่ผมสรุปมาดังนี้

หม่อมเจ้าธรรมุณหิตธาดา แปลคำว่า นิพพานํ ว่าเป็นเครื่องดับเพลิงกิเลส ดับเพลิงทุกข์ทั้งสิ้น และสรรพสังขารทั้งหลาย ดับสนิทสิ้นเชื้อ

พระวิมลธรรม วิสัชนาว่า นิพพาน คือดับเหตุให้เกิดทุกข์ ดับทุกข์เสียหมดจริง เป็นสุขอย่างยิ่ง

พระศาสนโสภณ แปลนิพพานศัพท์ว่า ดับคือ ดับเครื่องร้อน เครื่องเผาเสีย ท่านผู้ทำเครื่องร้อน เครื่องเผาให้ดับได้แล้ว เป็นนิพพุโต สิตีภูโต ผู้ดับแล้วเป็นผู้เย็นแล้ว อนึ่ง ท่านแยกศัพท์เป็นสองคือ นิ 1 วานะ 1 นิ แปลว่าออก ว่าไม่มี วานะ แปลว่าผู้ร้อยไว้ ผู้เย็บไว้ คือ ตัณหา อาเทศ(แปลง) ว. เป็นอักษร พ. สำเร็จรูปเป็น นิพฺพานํ และนิพพานํ คือออกจากวานะ คือ ตัณหาแล้ว นิพฺพานํ ไม่มีแล้ว วานะ คือตัณหา นิพฺพานํ เป็นเครื่องที่ไม่มีวานะ คือตัณหา
 
ดังนี้ นิพพาน คือดับร้อนเครื่องเผา ได้ยุติว่า นัยที่แยกเป็นสอง คือ นิ 1 วานะ 1 

พระพรหมมุนี ถวายคำแปลว่า นิพฺพานํ (คือ) ธรรมชาติที่ไม่มีที่แห่ง วานะ (คือตัณหา) 

พระอริยมุนี แปลคำว่านิพฺพานํ ว่าธรรมเป็นที่ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ หรือแปลว่า ธรรมที่ไม่มีวานะ ของร้อยรัด คือตัณหา 

พระสุคุณคณาภรณ์ อธิบาย นิพฺพานํ ว่า ธรรมชาติเป็นที่ออกจากตัณหา และกิเลสทั้งปวง 

หม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ อธิบายว่า นิพพานนั้นแปลว่า สิ้นราคะ โทสะโมหะทั้งปวง สมด้วยเนื้อความในชมพูขาทกสูตร ที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแสดงธรรมเทศนาแก่ภิกษุทั้งปวงว่า สิ้นราคะ โทสะ โมหะ ได้ชื่อว่านิพพานประการหนึ่ง นิพพานนั้น แปลว่า ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวง สมด้วยถ้อยคำที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมเทศนาในสัจจวิภังค์ว่า ดับซึ่งตัณหาด้วยอริยมรรคทั้ง 4 มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น มีอรหันตมรรคเป็นที่สุด ไม่มีเศษ ได้ชื่อว่านิพพาน เป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวงประการหนึ่ง นิพพานนั้น แปลว่า ธรรมชาติออกจากตัณหา สมด้วยบทวิเคราะห์ ว่าธรรมชาติอันใดออกจากตัณหาเป็นเครื่องพันผูกไว้ในไตรภพทั้ง 3 ธรรมชาตินั้น ชื่อว่านิพพาน 

นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า นิพพานนั้นแปลได้สามประการ คือ แปลว่าสิ้นราคะ โทสะ โมหะ หนึ่งแปลว่าดับทุกข์ทั้งปวงประการหนึ่ง แปลว่า ออกจากตัณหา เป็นเครื่องผูกพันไว้ในไตรภพทั้ง 3 คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพหนึ่งๆ รวมเป็น 3 ประการฉะนี้ 



หม่อมเจ้าพระพุทธรูปบาทปิลันท์ว่า วานโต นิกฺขนฺตํ นิพฺพานํ อถวา วานสํขาตาย ตณฺหาย นิกฺขนฺตํ นิพฺพานํ นิพพาตุ เอเตนาติ นิพฺพานํ แปลว่า ธรรมชาติออกจากธรรมร้อยไว้ซึ่งสัตว์ ชื่อว่านิพพาน นัยหนึ่งธรรมชาติออกจากตัณหากล่าวคือ วานะ อีกนัยหนึ่งนิพพานแปลว่า ธรรมเป็นเครื่องดับเพลิงกิเลส มีราคะเป็นต้น เพลิงทุกข์ มีชาติ เป็นต้น

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แปลบท นิพพานว่า ออกจากตัณหา ตัณหา คือความอยากได้ ความปรารถนา วิญญาณดวงใดไม่มีความอยากได้ ความปรารถนา วิญญาณนั้นบริสุทธิ์ เป็นวิญญาณแห่งนิพพาน เพราะสะอาดไม่ติดมลทินใดๆ

สมเด็จพระวันรัตวัดพระเชตุพนฯ แปลนิพพาน โดยกล่าวว่า คำว่านิพพานนั้น มาจาก นิวานะ เมื่อแปลง ว.เป็น พ.แล้วทำเวภาพเป็นสอง สำเร็จรูปเป็นนิพพาน แปลว่าธรรมเข้าไประงับ สิ้น ไม่เหลือหลง

นอกจากนั้น พระเถระ อีก 6 รูป เช่นพระธรรมไตรโลก พระเทพโมลี พระเทพมุนี พระเทพกวี พระโพธิวงษ์ และพระราชมุนี วัดราชบุรณะ ได้แปลคำว่า นิพพาน ถวายพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ด้วยเนื้อหา และสาระธรรมคล้ายๆ กัน โดยสรุปบาลีในนิพพานสูตรว่า โย โข ราคักขโย โทสักขโย โมหักขโย อิทัง  วุจจติ นิพพานัง ธรรมสิ่งใด ที่ให้ราคะ โทสะ โมหะ สิ้นไป ธรรมนี้ชื่อว่า นิพพาน
 
เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้