วัดโสมนัสวิหาร​ อนุสรณ์แห่งความรักในรัชกาลที่​ 4 

27 ม.ค. 2567 | 06:05 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2567 | 00:11 น.

วัดโสมนัสวิหาร​ อนุสรณ์แห่งความรักในรัชกาลที่​ 4  คอลัมน์สังฆานุสติ โดยบาสก

วัดโสมนัสวิหาร​ ​เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย​ สร้างขึ้นเมื่อ​ พ.ศ.2396  โดยพระบาทสมเด็จ​พระจอมเกล้า​เจ้า​อยู่​หัว​ รัชกาลที่​ 4​ ที่ทรงกรุณา​โปรดเกล้าฯ​ ให้สร้างขึ้น​ เพื่ออุทิศ​พระราชกุศล​ แด่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี​ พระอัครมเหสี พระองค์​ปฐม​ ที่สิ้นพระชนม์​ หลังจากทรงประชวร​ ด้วยโรคพระยอด(ฝี)​ ที่พระนาภี(ท้อง)​

ขณะที่ทรงประชวร​นั้น ทรงพระครรภ์อยู่ด้วย​ เมื่อครบ​ 7​ เดือน​ จึงมีพระประสูติกาล​ เป็นพระราชกุมาร​ แต่พระราชกุมาร​ มีพระชนม์​ชีพ​ เพียง​ 7​ ชั่วโมง​ ก็เป็นศูนย์​

ส่วนสมเด็จพระอัครมเหสี​ ทรงประคับประคอง​ พระชนม์​ชีพ​ ต่อมา​ ถึง​ 10​ ตุลาคม​ 2395 จึงเสด็จสวรรคาลัย​ ได้ครองพระราชอิสริยยศที่พระมเหสีเพียง​ 9​ เดือน​ พระชนมายุ​ 19​ พรรษาเท่านั้น

จึงสามารถ​กล่าวได้ว่า​ ร.4​ ทรงสร้างวัดโสมนัส​เป็นพระอนุสรณ์​แห่งความรัก​ ซึ่งไม่แตกต่างจากการที่​พระเจ้าชาห์ จาฮาน ราชวงศ์โมกุล​ จักรพรรดิแห่งอินเดีย​ ทรงให้สร้าง​ ทัชมาฮาล​ ที่เมือง​อัครา อินเดีย เพื่ออนุสรณ์​ถึง​ พระนางมุม​ ​ตัช​ อัครมเหสี​ เมื่อ​ปี​ค.ศ. 1632 (พ.ศ.2175)​ และได้รับยกย่องว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ใครๆ​ ก็อยากไปชมความงามที่ยิ่งใหญ่นั้น
  
วัดโสมนัสวิหาร​ก็มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน​ ถ้ามีการประชาสัมพันธ์​ ให้มาดูอนุสรณ์แห่งความรัก​ ศิลปะ​และสถาปัตยกรรมแบบไทย​ ในต้นรัชกาลที่​ 4​ ก็น่าจะได้รับความนิยม​ เหมือนที่ได้รับความนิยม​จากการที่มีสถานะเป็น​ฌาปนสถานกองทัพบก​ในขณะนึ้
  
วัดนี้ถือว่าเป็นวัดแม่แบบที่สร้างโดยคณะพระธรรมยุติกนิกาย​ จึงมีความสมบูรณ์ครบถ้วน​ ทั้ง​ พระวิหาร​ พระอุโบสถ​ พระเจดีย์​ หอกลอง​ หอระฆัง​ หอไตร​ ป้อมมหาสีมา​ 4​ มุมของวัด​ ที่มีที่ดิน 13​ ไร่​ 2​ งาน​ จัดว่าเป็นวัดที่มีสีมา​ใหญ่มาก เพื่อให้มั่นใจในการทำสังฆกรรม​ ยังทำ​สีมันตริกะสีมา​ หรือสีมาคั่นกลาง​ กับขัณฑสีมา​ ที่ตั้งชิด​กำแพงพระอุโบสถไว้ด้วย

ความใหญ่ของวัด​ สามารถดูที่ประตูเข้าออก​ที่มีถึง​ 12​ ประตู​  หรือทิศละ​ 3​ ประตู
 
ส่วนพระเจดีย์​ นอกจากองค์​ประธาน​ หลังพระวิหาร​ ยังมีเดีย์มอญ​หรือ​ธัมเมกขสถูปเจดี​ย์​ คล้ายแบบที่สร้างสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช​ ที่สารนาถ​ อินเดีย ซึ่งเจดีย์มอญนี้​มี​ เพียง​ 2​ องค์​ นอกจากในวัดโสมนัส​ ยังมีที่วัดกันมาตุยาราม​ ​อีก​หนึ่ง

ที่น่าสนใจ​ คือภาพเขียนที่บานประตู​และหน้าต่าง​ ของพระอุโบสถ​และวิหาร​ คือแก้ว​ 7​ ประการ​ ของพระเจ้าจักรพรรดิ​ 

วัดโสมนัส​ เป็​นปฐมสังฆาราม​ ในรัชกาลที่​ 4 เป็นวัดมีชื่อทางปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกลางกรุง​ เริ่มตั้งแต่ปฐมเจ้าอาวาส​ คือ​ สมเด็จพระวันรัต​น์ (ทับ)​ ที่ครองวัดนี้​ นานถึง​ 35​ ปีตั้งแต่​ พ.ศ.2399  ถึง​ พ.ศ.​2434 จะเห็นภาพ​ พระเถระรูปนี้เพ่ง​ อสุภกรรมฐาน​ เป็นจุดเด่น​ แม้ว่าท่าน​จะได้รับยกย่องว่าเชี่ยวชาญ​พระวินัยก็ตาม

การเรียนการสอน​ วิปัสสนากรรมฐาน​ เป็นประเพณี​ต่อเนื่องถึงเจ้าอาวาสรูปที่​ 7 ​ในปัจจุบัน​ แต่น่าเสียดาย​ ที่เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน​ คือสมเด็จพระมหามุนีวงศ์​ อาพาธ​ จึงปฏิบัติ​หน้าที่ได้ไม่เต็มที่
 
ในบรรดาเจ้าอาวาส​ ​7​ รูปนั้น​ ได้รับการสถาปนาเป็น​สมเด็จพระราชาคณะ​ ถึง​ 4​ รูป​

คือ​ สมเด็จ​พระวันรัต​น์​ (ทับ)​ เจ้าอาวาส​ รูปที่​ 1​ ครองวัด​ พ.ศ.​2399​ ถึง​ พ.ศ.2434

สมเด็จ​พระมหาวีร​วงศ์​  (ยัง)​  เจ้าอาวาสรูปที่​ 3​  ครองวัด​ พ.ศ.​2445  ถึง​ พ.ศ.2474 และเป็นสมเด็จ​พระมหาวีร​วงศ์​รูปแรก​ ที่ทรงสถาปนาเพื่อคณะสงฆ์​ธรรมยุต​ เท่านั้น

สมเด็จพระ​วันรัต​ (จับ)​ เจ้าอาวาสรูปที่​ 6​ เป็นเจ้าอาวาส​นาน​ตั้งแต่​ 2489​ ถึง​ 2539  ท่านแต่งหนังสือมาก​แต่ที่มีการพูดถึงบ่อยๆ​ คือ​นิทานสมเด็จ​ 

สมเด็จพระ​มหามุนีวงศ์(พิจิตร)​ เจ้าอาวาสรูป​ปัจจุบัน(รูป​ที่​ 7) ได้รับพระบัญชา​ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส​ เมื่อ​ พ.ศ.2539 

นอกจากนั้นพระสงฆ์วัดนี้​ มีวัตรปฏิบัติงดงาม​ เช่นพระเถระรูปหนึ่ง​ ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยของ​พระบาทสมเด็จ​พระ​จุลจอมเกล้า​เจ้าอยู่​หัว​รัชกาลที่​ 5​ ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก​ของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม​ วัดประจำรัชกาลที่​ 5​ หลังจากสร้างเสร็จได้แก่​ เจ้าประคุณ​พระวรวงศ์​เธอ​พระองค์​เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระ​พุฒาจารย์​ ซึ่งสนองพระราชดำริในรัชกาลที่​ 5​ อย่างสมบู​ณ​์

ส่วนความเป็นมาของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี​พระมเหสีนั้น​ ทรงเป็นพระเจ้าหลานเธอ​ในรัชกาลที่​ 3​ ประสูติ​ เมื่อ​ 21​ ธันวาคม​ 2377 ทรงกำพร้า​ เพราะบิดา​สิ้นชีพิตักษัยขณะทรงพระเยาว์​ รัชกาลที่​ 3​ ​จึงทรงมีพระเมตตา​และโปรดปราน จึงทรงสร้างวัดราชนัดดาราม​ให้เป็น​วัดประจำพระเจ้าหลานเธอพระองค์​นี้


  
เมื่อรัชกาลที่​ 4​ ทรงลาผนวช​ หลังจากทรงผนวชมาเป็นเวลา​ 27​ ปี​ และเสด็จขึ้นครองราช​ย์​ เมื่อวันที่ 3​ เมษายน​ 2393 นั้น​ ไม่มีพระมเหสี​ บรรดาบรมวงศ​านุวงศ์​ เห็นว่า​สมเด็จเจ้าหลานเธอ​ในรัชกาลที่​ 3​ ขาด​ผู้อุปถัมภ์​บำรุง​ จึงทรงแนะให้​มีความสัมพันธ์​กับรัชกาลที่​ 4​
 
ต่อมามีพิธีอภิเษกสมรส​ ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสพัฒนาวดี​ พระอัครมเหสี​  
 
ข้อมูล​ทางประวัติศาสตร์ว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่​ 4​ ทรงมีพระมเหสี​ เจ้าจอม​ พระสนม​ จำนวนมาก​ (เพราะสมัยนั้น​บุคคลชั้นสูงที่ต้องการฐานะทางสังคม​ เมื่อมี​บุตรสาว​จะทูลเกล้าถวาย​ให้เป็นพระสนม​ ถ้าหากมีพระโอรส​ หรือพระธิดา​ จะได้รับเลื่อนสถานะสูงขึ้น)​
 
ตามพระราชประวัตินั้น​ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่​ 4​ ทรงมีพระราชโอรส​ พระราชธิดา​ ที่ทรงพระชนม์​ 82​ พระองค์​ จากพระมเหสี​ เจ้าจอม​ และ​สนม​ 27​ พระองค์
  
อย่างไรก็ตาม​ พระราชโอรส พระราชธิดาทรงสร้างคุณูปการ​ต่อชาติบ้านเมือง ตามรอยพระบาทสมเด็จพระราชบิดาไว้เป็นจำนวนมาก

พระเจ้าอยู่หัว​รัชกาลที่​ 4​ นั้น​ ทรงมีคุณูปการต่อชาติและประชาชนชาวไทย​ ทรงสร้างความก้าวหน้าแก่ประเทศชาติ​ ทุกสาขาวิชาและอาชีพ​ ไม่สามารถจะประเมินได้​แม้จะทรงครองราชย์​ เพียง​ 17​ ปี​ ก็ตาม

พระองค์​เสด็จ​สู่สวรรคาลัย​ เมื่อวันที่​ 1 ตุลาคม​ พ.ศ.​2411  สิริพระชนม์​ 64​ พรรษา

พระราชกรณียกิจด้านต่างๆ เป็นที่รับรู้ในนานาชาติ​ ดังนั้น​ เมื่อวันพระราชสมภพครบ 200​ พรรษา​ วันที่​ 18​ ตุลาคม​ 2547 องค์​การ​ยูเนสโก​จึงประกาศให้พระองค์​เป็นบุคคลสำคัญของโลก

พระองค์​ ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ​ ทรงเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวไทย​ ไม่มีวันเสื่อมคลาย​ ตลอดไป