การขาดแคลนแรงงานสำหรับดูแลผู้สูงวัย

06 ม.ค. 2567 | 04:33 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2567 | 06:26 น.

การขาดแคลนแรงงานสำหรับดูแลผู้สูงวัย คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานด้านสถานบริบาลผู้สูงวัย ที่เมืองกวางเจา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สิ่งที่ประเทศเขาเกิดขึ้นตอนนี้ คือปัญหาขาดแคลนแรงงานที่จะมาดูแลผู้สูงวัยเป็นอย่างยิ่ง เขาเห็นว่าผมทำธุรกิจการให้บริการบ้านพักคนวัยเกษียณอยู่ เขาจึงได้ถามผมว่า ทางประเทศไทยมีปัญหาเหมือนที่นั่นหรือเปล่า? 

ผมตอบว่า ก็มีปัญหานี้เช่นกันแต่ยังไม่ได้รุนแรงมากนัก ซึ่งเขาก็บอกว่า ประเทศไทยเรายังโชคดีมาก อาจจะเป็นเพราะประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีพุทธศาสนาหรือเปล่า? ทั้งๆ ที่ในใจผมคิดว่า “ไม่ใช่” แต่ผมก็ได้แต่บอกว่า คงเป็นเพราะอย่างนั้นมั้ง?
        
ในความเป็นจริง ถ้าจะวิเคราะห์กันให้ลึกลงไป ผมคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศเขานั้น เป็นเพราะความผิดเพี้ยนของนโยบายการบริหารหลักประชากรศาสตร์ ที่ทำให้ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน นำออกมาใช้เมื่อกลางศตวรรษที่ 20 ซึ่งอาจจะเป็นเพราะในยุคนั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ในช่วงฟื้นฟูบ้านเมือง และกำลังเผชิญกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปี ค.ศ.1962-1972 เป็นช่วงที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นสูงมาก 

อัตราเฉลี่ยเด็กเกิดใหม่ของเขาอยู่ที่ประมาณ 26.6 ล้านคนต่อปี และเมื่อรวมยอดของสิบปีที่ผ่านมาในยุคนั้นแล้ว มีการเกิดใหม่ของเด็กสูงถึง 300 ล้านคน ถึงปี ค.ศ. 1969 จำนวนประชากรของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงมีมากกว่า 800 ล้านคน ในปี ค.ศ.1979 

รัฐบาลโดยการนำของท่าน เติ้ง เสี่ยวผิง จึงได้ริเริ่มนำเอา “นโยบายลูกคนเดียว” เพื่อมาใช้ควบคุมจำนวนประชากรไม่ให้เพิ่มขึ้นมากเกินไป เหตุผลเป็นเพราะในขณะนั้น เขามีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูประเทศอย่างเร่งด่วน ซึ่งในยุคนั้นประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพิ่งจะผ่านพ้นสงครามภายในและภายนอกประเทศ 

อีกทั้งทรัพยากรจำนวนมากถูกทำลาย ประชาชนของเขาเผชิญกับความอดอยากอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงได้นำเอานโยบายลูกคนเดียวออกมาใช้ ซึ่งเขาอนุญาตให้แต่ละครอบครัว มีลูกได้เพียง 1 คน ยกเว้นครอบครัวในชนบทที่เป็นชนชาติพันธุ์เท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตให้มีลูก 2 คนได้ แต่ต้องเข้าเงื่อนไข ในกรณีที่ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง 

ครอบครัวที่เป็นชนชาติพันธุ์ดังกล่าวก็สามารถมีลูกมากกว่าหนึ่งคนแต่ไม่เกิน 2 ได้ ในกรณีครอบครัวใดฝ่าฝืน ก็จะถูกลงโทษตามกฎหมาย ด้วยการปรับเป็นเงินในรูปแบบของค่าบำรุงสังคม หากเป็นข้าราชการหรือสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ โทษที่รุนแรงอาจถึงไล่ออกจากงานไปเลยครับ
      
จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ประชากรของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ผิดเพี้ยนไปจากหลักธรรมชาติของประชากรศาสตร์ หลังจากตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ก็มีผลตามมาในอีก 40-50 ปีต่อมาในยุคปัจจุบัน เพราะคนหนึ่งคน จะต้องรับภาระเลี้ยงดูพ่อ-แม่ของคนสองครอบครัว อีกทั้งลูกและภรรยาของตนเอง รวมเป็น 6 ชีวิตที่จะต้องใช้จ่ายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน 

ดังนั้นทุกครอบครัวก็จะต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดให้ได้ ครอบครัวที่มีอันจะกินก็จะไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเป็นครอบครัวที่มีฐานะต่ำและฐานะปานกลาง ที่จำเป็นต้องเลือกใช้ชีวิตด้วยการทำงานทั้งสามี-ภรรยา งานที่จะทำให้อยู่รอดได้ จึงต้องตอบสนองต่อความต้องการค่าจ้างแรงงาน ที่เหมาะสมและพอควรจึงจะอยู่รอดได้นั่นเอง 
           
เป็นที่ทราบกันดีว่า การดูแลผู้สูงอายุเป็นงานที่หนักมากๆ เพราะผู้สูงวัยบางท่าน อาจจะมีอาการป่วยที่เราคาดไม่ถึง เช่น โรคประจำตัวที่เป็น 8 โรคร้ายแรง หรือโรคทางสมองที่ไม่สามารถควบคุมดูแลได้ตามปกติ ถ้าไม่ใช่เป็นการดูแลบุพการีของตนเอง หรือตนเองมีจิตใจเมตตาจริงๆ ที่กลั่นออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจ หรือมีความอดทนที่สูงมากๆ หรือไม่ก็ต้องมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อความอดทนอดกลั้นเพียงพอ มิเช่นนั้นก็ยากที่จะดูแลผู้สูงอายุ ที่ไม่ใช่คนในครอบครัวของตนเองให้ได้ดีพอ หรือทำให้ผู้สูงอายุได้มีชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุขได้ ดังนั้นข่าวร้ายๆ ของการดูแลผู้สูงอายุ ที่เรามักจะพบเห็นเป็นข่าวตามหน้าสื่อต่างๆ จึงปรากฏให้เห็นอย่างมากมายครับ
       
ในขณะที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในยุคปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาประเทศเข้าสู่ประเทศที่มีฐานเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก แซงหน้าประเทศสหรัฐอเมริกาไปแล้ว ดังนั้นในเมืองใหญ่ๆ ของประเทศเขา ประชาชนของเขาจึงต้องเจอะเจอปัญหาค่าครองชีพ ที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเรื่องปกติครับ  

ผมจึงคิดว่า ในยุคนี้ทุกคนมีอิสระและเสรีภาพในการเลือกอาชีพที่ตนเองรัก เลือกงานที่ให้ผลตอบแทนทางด้านตัวเลขของเงินตราที่มากพอ อีกทั้งต้องสามารถทำให้สร้างเนื้อสร้างตัวได้นั่นเองครับ
      
ในปัจจุบันนี้การขาดแคลนแรงงานดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย แม้จะยังไม่รุนแรงเหมือนในประเทศที่เจริญแล้ว แต่ก็จะประมาทไม่ได้ครับ เพราะสังคมไทยในยุคปัจจุบันนี้ ได้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอีกไม่กี่ปีข้างหน้าสังคมผู้สูงวัยแบบสุดยอด หรือที่เรียกว่า Super Ageing Society กำลังรอเราอยู่ 

อีกทั้งสภาวะของสังคม ที่ถูกกดดันจากสภาวะเศษรฐกิจ ก็จะต้องเดินตามมาอย่างไม่ห่างตัวเราแน่นอน เราได้เห็นตัวอย่างจากสังคมของประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ และประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เป็นตัวอย่างที่สำคัญมาแล้ว เราจึงต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้ได้เลยครับ 

สักวันหนึ่งประเทศไทยเรา ก็จะเริ่มจากสังคมเมืองใหญ่ก่อน จากนั้นก็จะทะยอยเข้าสู่เมืองรองต่อๆ ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน ซึ่งแน่นอนว่าอาชีพที่เต็มไปด้วยความกดดัน อย่างเช่นอาชีพการดูแลผู้สูงวัย ก็จะหาคนทำยากขึ้นทุกวันอย่างไม่ต้องสงสัยเลยละครับ