ผู้สูงวัยกับการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

23 ธ.ค. 2566 | 04:12 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2566 | 06:54 น.
881

ผู้สูงวัยกับการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ช่วงที่ผ่านมา ตัวผมเองมีอาการผิดปกติเล็กน้อย คือมักจะมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยจะได้ เวลาที่ปวดปัสสาวะแม้จะอยู่ในห้องประชุม แรกๆ ผมก็จะกลั้นปัสสาวะไว้ พอมีช่วงที่สามารถเดินออกจากห้องประชุมได้ ก็จะรีบเดินไปเข้าห้องน้ำโดยด่วน 

เพราะเกรงว่าจะฉี่ราดนั่นเอง พอมีช่วงว่างผมรีบเจียดเวลาไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพราะไม่แน่ใจว่าจะเป็นอาการที่หนักหนาสาหัสหรือเปล่า ? และเพื่อสุขภาพของตัวผมเองด้วยครับ
         
คุณหมอที่ผมไปพบ ท่านเป็นเพื่อนรุ่นน้องของผมเอง ผมจึงกล้าที่จะเล่าให้ท่านฟังโดยละเอียด ท่านก็ซักผมจนบางเรื่องผมก็ไม่กล้าที่จะเล่าให้ใครฟังด้วยซ้ำไปครับ สิ่งหนึ่งที่ผมบอกท่าน คือการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จนน่ากังวลใจว่าสักวันหนึ่งผมจะกลายเป็นคนชราที่ฉี่ราดกางเกงได้ 
 

หลังจากที่ท่านได้ตรวจและวินิจฉัย ท่านบอกว่า นี่คือ “สภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้หรือปัสสาวะเล็ด (Urinary  Incontinence)” ซึ่งมักจะเกิดกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ และจะเกิดกับสุภาพสตรีมากกว่าสุภาพบุรุษครับ สาเหตุเกิดจากความเสื่อมของหูรูดกระเพาะปัสสาวะ/หูรูดท่อปัสสาวะ หรือกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานไม่แข็งแรง 

ถ้าจะถามว่าปัญหาดังกล่าว มีความอันตรายมากน้อยระดับไหน? ต้องบอกว่าอยู่ในระดับปานกลางครับ แต่ต้องเฝ้าระวังเพราะสามารถลามไปเกิดปัญหาโรคภัยไข้เจ็บด้านอื่นๆ ได้ 
         
สภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้มีอยู่อีกหลายสาเหตุ อาทิเช่น เกิดจากสภาพจิตบกพร่อง บกพร่องทางสติปัญญา สมองเสื่อม หรือไม่สามารถบ่งบอกความต้องการในการขับถ่ายได้ อาการเหล่านี้ มักจะเกิดจากบุคคลที่เป็นโรคสมองหรืออัมพฤกษ์-อัมพาต (Paralysis) หรือกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 

ผู้สูงอายุกลุ่มนี้เขาอาจจะไม่สามารถสื่อสารให้เรารับรู้ได้ ซึ่งในบ้านพักคนชราส่วนใหญ่ก็จะมีผู้สูงอายุที่มีอาการเช่นนี้เสมอ นักบริบาลก็มักจะใช้วิธีการแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการให้สวมใส่กางเกงอนามัย (Sanitary pant) เพื่อป้องกันการเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ซึ่งในมุมมองของผม ผมคิดว่านั่นเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุนะครับ
       
ส่วนอีกสาเหตุหนึ่ง นั่นคือการควบคุมปัสสาวะผิดปกติ (Neurologic Bladder) หรือความผิดปกติของประสาทไขสันหลังตั้งแต่เกิด และการบีบตัวของกล้ามเนื้อดีทรูเซอร์ (Detrusor Muscles) ผิดปกติ หรือมีการอุดกั้นทางออกของปัสสาวะจากเนื้องอกหรือเกิดจากต่อมลูกหมากโต จึงเกิดปัญหาดังกล่าวนั่นเอง 

สาเหตุของปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด แพทย์เท่านั้นจึงจะสามารถใช้วิธีการตรวจรักษาที่ถูกต้องได้ คนทั่วไปไม่สามารถคาดเดาหรือมโนฯ เอาเองได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด ดังนั้นหากยังไม่มีการตรวจด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ แล้วก็วินิจฉัยด้วยวิธีตามใจฉัน ก็อย่าได้เชื่อหรือรีบตีโพยตีพายเป็นอันขาด 

หนทางที่ดีที่สุด คือการเดินเข้าไปที่โรงพยาบาล ที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน แล้วให้แพทย์สั่งการไปว่า จะต้องมีการตรวจหาสาเหตุอย่างไร? จึงจะเป็นหนทางที่ใช่และแม่นยำที่สุดครับ นอกจากนี้ผู้สูงวัยบางท่าน อาจจะใช้วิธีทางไสยศาสตร์ นั่งทางใน หรือหมอเดาทั้งหลาย ผมคิดว่านั่นเป็นความเสี่ยงอย่างมิบังควรเลยละครับ
       
ส่วนวิธีการรักษา แพทย์ท่านมีวิธีการรักษาอยู่หลายวิธี ตัวอย่างที่แพทย์ช่วยตรวจวินิจฉัยให้ผม ท่านได้สั่งยาให้ผมกลับมาทานที่บ้าน และให้เฝ้าสังเกตอาการด้วยตนเอง กล่าวคือหลังจากทานยาที่ท่านสั่งแล้ว อาการกลั้นปัสสาวะยังมีอยู่อีกหรือไม่? แต่แน่นอนว่ายาที่ท่านสั่งมาให้ทาน ไม่ใช่ยาเทวดาที่ทานปุ๊บหายปั๊บนะครับ ตัวเราเองก็ต้องช่วยแพทย์ท่านสังเกตอาการด้วย อาจจะต้องมีการทำบันทึกว่า หลังจากทานยาแล้ว เกิดปวดปัสสาวะขึ้นจะต้องใช้เวลาอีกกี่วินาที จึงจะไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ เวลาต้องดูเป็นวินาทีเลยละครับ จึงจะทราบได้อย่างชัดเจน
        
อีกวิธีหนึ่ง ที่ผู้ป่วยด้วยเส้นเลือดในสมองแตก จนเกิดเป็นอัมพาตที่หลังจากผ่านการผ่าตัดสมองมาแล้ว และมาอาศัยอยู่บ้านพักคนวัยเกษียณของผมเพื่อมาพักรักษาตัว ช่วงระยะแรกที่เข้ามา ผู้ป่วยท่านนี้ได้สวมใส่กางเกงอนามัยตลอด 24 ชั่วโมง จนกระทั่งตัวผู้ป่วยเองติดเป็นนิสัยว่าจะต้องสวมใส่อยู่เป็นประจำ ซึ่งตัวผู้ป่วยได้สวมใส่กางเกงอนามัยดังกล่าวมานานกว่า 3 ปี 

กระทั่งขอบผิวหนังรอบกางเกง เกิดเป็นโรคผิวหนังตามมา แต่หลังจากมาอาศัยอยู่กับเรา ทีมงานได้ช่วยให้ผู้ป่วยบริหารร่างกายส่วนล่าง ตั้งแต่บั้นเอวลงไปสู่สะโพก เพื่อสร้างความแข็งแรงของกระเพาะปัสสาวะและหูรูดของท่อปัสสาวะ จนกระทั่งเวลาผ่านไป 2 สัปดาห์ ทีมงานจึงเริ่มทดสอบอาการกลั้นปัสสาวะ ด้วยการจับเวลาดังกล่าว 

หลังจากผู้ป่วยสามารถอดกลั้นได้นานถึง 3 นาที จึงให้ผู้ป่วยเริ่มถอดกางเกงอนามัยออกในช่วงเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนยังคงต้องสวมใส่ต่อไป เมื่อเวลากลางวันผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้ เราจึงให้ผู้บริบาลช่วยดูร่องรอยปัสสาวะของกางเกงอนามัยที่ใส่ในเวลากลางคืน แต่ยังคงทำท่าบริหารสะโพกอย่างต่อเนื่อง เมื่อผ่านพ้นเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 จึงไม่จำเป็นต้องสวมใส่กางเกงอนามัยอีกต่อไปได้ครับ
      
อีกวิธีหนึ่งที่แพทย์ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยใช้ในการรักษา แต่หากการรักษาด้วยยารักษาไม่หายจริงๆ หรือมีความจำเป็นจริงๆ แพทย์จะใช้วิธีการรักษาด้วย Radiofrequency energy โดยใช้เครื่องมือที่มีลักษณะเป็นแท่งยาวๆ เล็กๆ สอดใส่เข้าไปจนถึงคอของท่อกระเพาะปัสสาวะ แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ เพื่อเข้าไปกระตุ้นที่ผนังของกระเพาะปัสสาวะ ให้เกิดการสร้างคลอลาเจนใหม่ให้เนื้อเยื่อกระชับ จนสามารถควบคุมการกลั้นปัสสาวะได้นั่นเองครับ
       
จะเห็นว่าปัจจุบันนี้ เทคนิคทางการแพทย์ ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว หากเรามีปัญหาทางด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตาม จงอย่าเกรงกลัวต่อการเดินเข้าโรงพยาบาล เพื่อพบแพทย์ทำการตรวจรักษานะครับ