พระกษิติครรภโพธิสัตว์ ณ ดอยแม่สะลอง

25 ก.ย. 2566 | 04:05 น.
625

พระกษิติครรภโพธิสัตว์ ณ ดอยแม่สะลอง คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผมมีอาคันตุกะที่เปรียบเสมือนพี่สาวผมท่านหนึ่งมาจากไต้หวัน เพื่อพาลูกชายท่านมารับการบริการดูแลสุขภาพ ที่บ้านพักคนวัยเกษียณของผม พอมีโอกาสผมก็ได้เล่าให้ท่านฟังว่า ผมได้รวบรวมผู้มีจิตศรัทธาจำนวนหนึ่ง ขึ้นไปสร้างฌาปนสถาน (เมรุเผาศพ) ให้แก่เหล่านักรบพรรคก๊กหมินตั๋งที่หลงเหลืออยู่บนดอยแม่สะลอง ท่านก็รีบบอกผมว่า ท่านจะช่วยบริจาคเงินสมทบเพื่อทำบุญร่วมกัน 

โดยท่านได้บอกตัวเลขที่จะช่วยสมทบให้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างจะเยอะมาก ผมจึงบอกท่านไปว่า ตอนนี้เงินน่าจะเพียงพอแล้ว คงต้องไว้โอกาสหน้า ถ้ามีโอกาสได้ก่อสร้างที่ใหม่อีก ผมจะรีบแจ้งให้ทราบต่อไป ท่านจึงบอกว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจะขอส่งพระพุทธรูปองค์หนึ่งมาให้ เพื่อประดิษฐานไว้ที่ฌาปนสถานนั้น เพราะชาวไต้หวันมีความเชื่อว่า พระพุทธรูปองค์นี้ ที่เรียกว่า 地藏菩薩 ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจความหมายที่ท่านกล่าวถึง ทราบจากการบอกเล่าของท่านให้ผมฟังว่า เป็นพระพุทธรูปที่คนไต้หวันมีความนับถือและเชื่อมาก โดยทุกแห่งในพิธีงานศพ จะต้องมีการกราบไหว้พระพุทธรูปองค์นี้ เพื่อขอให้นำพาเอาดวงวิญญาณผู้เสียชีวิต ขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ 

หลังจากที่ท่านกลับไป ท่านจึงส่งพระพุทธรูปองค์นี้มาให้ผม ซึ่งมีความหนักมากถึง 40 กิโลกรัม สูงประมาณเกือบหนึ่งเมตรมา วันแรกที่ส่งมาถึง ผมก็วางกล่องบรรจุพระพุทธรูปไว้ที่หน้าบริษัท เพื่อเตรียมที่จะจัดส่งไปยังดอยแม่สะลองต่อไป ปรากฏว่าวันนั้นมีน้องวิศวกรที่ทำงานอยู่กับผมท่านหนึ่ง ได้มาหาผมและเห็นพระพุทธรูปเข้า จึงถามผมว่า “พี่ได้พระกษิติครรภโพธิสัตว์องค์นี้มากจากไหน?” นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้ผมทราบพระนามพระองค์นี้ที่เป็นภาษาไทย จึงรีบค้นหาในเว็บไซต์ทันที จึงได้ถึงบางอ้อเลยครับ
          
ผมขออนุญาตคัดลอกข้อความด้านล่างนี้ มาจากเว็บไซต์วิกิพีเดีย เพื่อนำมาเล่าให้เพื่อนๆ อ่าน เป็นความรู้นะครับ ผมต้องขอขอบพระคุณเว็บไซต์วิกิพีเดียเป็นอย่างสูงครับ

พระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์ เป็นหนึ่งในพระโพธิสัตว์ 4 พระองค์ ซึ่งเป็นที่นับถืออย่างยิ่งในศาสนาพุทธมหายานแถบเอเชียตะวันออก ซึ่งมีร่วมกันกับ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ และพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์  ซึ่งมีบันทึกไว้บนจิตรกรรมฝาผนัง สมัยก่อนราชวงศ์ถังของจีน ที่ถ้ำผาม่อเกาและถ้ำผาหลงเหมิน ได้แสดงภาพของพระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์ ไว้  ตามความนิยมในลักษณะดั้งเดิมของพระโพธิสัตว์ หลังสมัยราชวงศ์ถัง รูปลักษณ์ของพระองค์ได้แพร่หลายมากขึ้น ในภาพมีลักษณะของพระภิกษุมหายานถือไม้เท้าหรือคฑาขักขระ หรือไม้ค้ำในการธุดงค์ของพระมหายานและลูกประคำ

พระนามเต็มของพระองค์ในภาษาจีนคือ "ต้าหยวนตี้จั้งผู่ซ่า" ภาษาจีนตัวเต็มเขียนว่า 大願地藏菩薩 ซึ่งแปลว่า มหาปณิธานกษิติครรภโพธิสัตว์ นามดังกล่าวนี้ แสดงถึงปณิธานของพระองค์ ซึ่งปรากฏอยู่ในพระสูตรมหายานต่างๆ ระบุว่าจะทรงรับภาระในการสั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งปวง ที่อยู่ในกามภูมิทั้ง 6 ในโลก อันได้แก่ สัตว์นรก, เปรต, อสูร, เดรัจฉาน, มนุษย์ และเทพ (หมายความถึงสวรรค์ฉกามาพจรทั้ง 6 ชั้น) ตลอดยุคระหว่างศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้าและพระศรีอริยเมตไตรย 

ด้วยบทบาทที่สำคัญดังกล่าว ศาลาหรือวิหารซึ่งอุทิศแด่พระโพธิสัตว์พระองค์นี้ จึงมักปรากฏอยู่เป็นศูนย์กลางของวัดพุทธมหายานฝ่ายตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายในศาลาอนุสรณ์สถานหรือสุสานต่าง ๆ ซึ่งมนุษย์และหมู่สัตว์ไม่อาจหนีพ้นได้ ซึ่งบางอารามก็ประดิษฐานพระกษิติครรภ์ อยู่ภายในโบสถ์หรือวิหาร เคียงคู่กับพระศากยมุนีพุทธเจ้า และพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ก็มี ด้วยคติที่ว่า พระอริยเจ้าทั้ง 3 พระองค์นี้ คือพระผู้เป็นประธานโปรดสัตว์ในสหาโลกธาตุ หรือในจักรวาลนี้
         
สำหรับพระกษิติครรภโพธิสัตว์องค์ที่ผมได้รับมานี้ อยู่ในรูปปางนั่งสมาธิ มือถือไม้คฑาขักขระ  มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ผมได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในศาลาของสุสานบรรพชนของชาวนักรบผู้กล้าของพรรคก๊กหมินตั๋ง ซึ่งปัจุบันนี้ นักรบเหล่านั้นบางท่าน ก็ยังคงมีชีวิตหลงเหลืออยู่บนดอยอีกไม่กี่สิบท่านแล้ว 

โดยผมได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์นิกายหินยาน(พระจากวัดไทย) ขึ้นไปทำพิธีให้ แม้จะต่างนิกายกับนิกายมหายาน แต่ก็คงจะพอได้นะครับ เพราะผมก็จนปัญญาที่จะหาพระนิกายมหายานจากที่ไหนขึ้นไปทำพิธีครับ
      
ด้วยแรงศรัทธาจากเพื่อนๆ ทำให้การก่อสร้างฌาปนสถานเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย ผมได้กำหนดวันที่ 30 กันยายนนี้ เวลา 9:00 น. ทำพิธีซื้อแผ่นดินและมอบฌาปนสถานดังกล่าว ให้แก่ชุมชนบนดอยแม่สะลองต่อไปครับ