แม่ลำไย

20 ส.ค. 2565 | 13:08 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2565 | 20:12 น.
1.2 k

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

สัปดาห์ก่อน อ.โต โปรกอล์ฟ สู้อุตส่าห์หอบหิ้วสารสกัดจากลำไยในนามกรทันสมัยว่า P80 มาให้ทดลองชิมหวังใจจะได้รับคำติชมคอมเมนต์เพื่อการพัฒนาให้เจริญดียิ่งขึ้นๆไป 
 

ก็ได้กราบเรียนไปด้วยใจมิตรว่างานนี้เห็นทีจะจุดใต้ตำตอ ด้วยว่าเมื่อจะสิบปีก่อนนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ยังสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เขามาตามตัวไปให้ไปช่วยงานในชุดโครงการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ด้วยว่าทีมเศรษฐกิจ ดร.สมคิด จาตุศรีฯ กับขุนพลคู่ใจคือ ดร.สุวิทย์เมษินทรีย์ ท่านแลไปแล้วว่าเมืองไทยมีดีเยอะ 

นักวิทยาศาสตร์นักวิจัยก็เก่งๆมีมาก รัฐก็อัดฉีดทุนวิจัยให้ไปผลงานออกมาก็ได้ดีทันสมัย แต่ทำไม๊ไปอยู่บนหิ้ง สมควรจะรื้องานดีๆขึ้นหิ้งออกมาขับเคลื่อนใช้งานให้ประโยชน์เกิดเปนวงกว้างในทางเศรษฐกิจและสังคม เรียกกันสมัยนี้ก็ว่าดึงงานวิจัยจากหิ้งมาสู่ห้างนั่นแล
 

เวลานั้นทางภาคเหนือมีนักวิจัยทางเภสัชวิทยาเก่งๆระดับศาสตราจารย์หลายท่านในสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความสนใจในการสกัดสารสำคัญที่มีประโยชน์ออกจากพืชท้องถิ่น ไม่ว่าจะงาดำ หรือว่าลำไย ตัวลำไยในเม็ดสกัดออกมาได้สารมีค่า เรียกกันว่า ลองก้า.. ตัวงาดำในเมล็ดสกัดออกมาได้สารมีค่า เรียกกันว่า เซซามิน 

ท่านประดานักวิทยาศาสตร์แนะว่าเอาทำครีมทาเข่า ทากล้ามเนื้อ แก้เมื่อยหย่อนกำลังได้ดี ก็มีผู้สนใจ ซื้อสิทธิบัตรการสกัดการผสมนี้ไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายได้รับความนิยมสมคาดหวังถ้าจำไม่ผิดใช้ชื่อการค้าว่า ลองกานอยด์ บ้าง เซซามินอยด์ บ้าง มีจุดเด่นคือทาแล้วยังไม่ร้อนทันที รอสักพักจึงมีอุณหภูมิขึ้นเข้าแทรกซึมตามกล้ามเนื้อข้อต่อ
 

ส่วนต่อมาสำหรับการบริโภคก็ได้ทราบว่า เจ้าสัวประยุทธ มหากิจศิริ ซึ่งโด่งดังมานานในยุทธจักรเนสกาแฟ มาได้ลองชิมแล้วติดใจ เจ้าสัวน้อยเฉลิมชัย ผู้บุตรชายได้ไฟเขียวก็เข้าลุยซื้อสิทธิบัตรจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้วขยายผลต่อยอดเปนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสุขภาพ มีทั้งแบบพร้อมดื่มอัดก๊าซ และแบบกินเปนช้อนชาเหมือนสมัยก่อนเด็กๆต้องกินน้ำมันตับปลารสส้มคนละช้อนก่อนนอน 
 

มาถึงตรงนี้ก็ต้องเรียนอธิบายไว้ก่อนว่างานผลักดันการวิจัยมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในบ้านเรานั้นมันไม่ง่ายเหมือนในตำรา ไม่ใช่แค่ว่าเอาชื่องานไปแขวนในเว็บแล้วรอคนมากดช็อปปิ้งซื้อขายแต่อย่างไร คนไม่เคยทำธุรกิจการค้านั้นคิดเอาว่ามันน่าจะง่าย แต่ในสายการพัฒนาธุรกิจจริงจังแล้วมันคนละเรื่อง! ได้เล่าไว้เปนทางการแล้วในฐานเศรษฐกิจมัลติมีเดียนี้
 

งานวิจัยชนิดต่างๆ ล้วนมี hidden facts ในตัวของมันเอง งานชนิดไหนทำได้ผลในห้องแล็บ จะขยายผลสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรมก็ไม่ง่าย ต้นทุนการขยายต้องควักเพิ่ม ลอจิสติกส์ในโรงงานต้องพร้อมรองรับ ด้วยปัญหาเช่นนี้ ความพยายามที่จะ spin off หรือให้นักวิจัยผันตัวมาเปนพ่อค้าแม่ขายขยายผลธุรกิจจากงานวิจัยตัวเองมันจึงติดขัด_คนเราชำนาญอะไรๆไม่เหมือนกัน 


ทั้งยังมีความพึงใจในการใช้และดำรงชีวิตต่างกัน พวกพ่อค้าเห็นอะไรเสี่ยงๆแล้วชอบใจนักวิจัยขอไม่เสี่ยงด้วย ก็เปนไปตามทฤษฎีว่า risk lover ปะทะ risk averse มันต้องมีคนกลางมาประสาน รักษาจุดร่วม สงวนจุดต่าง อาจเรียกคนกลางนั้นว่า ทุนร่วมเสี่ยง_venture capitalist (ถ้าว่าคนกลางนั้นควักเงินควักทุนมาร่วมลงขันสร้างถนนธุรกิจร่วมทางกันไปด้วย) ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอย่าว่าลืม พ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือน เขาไม่อนุญาตให้ข้าราชการ(มหาลัย)ใช้เวลางานมาทำการค้า ถ้าจะ spin off _หมุนออกมาสร้างกิจการ ก็ต้องลาออกเสียก่อนนา ท่านรัฐมนตรีเจอลูกนี้เข้าใครจะไปไหว 55


กลับมาที่ประเด็นลำไย 
 

อันว่าลำไยนั้นคนทั่วไปแม้กระทั่งคนไทยล้านนายังมีข้อจำฝังใจเกี่ยวกับว่า กินเข้าไปแล้วมันขางคือว่าร้อน_ร้อนใน อร่อยปากหวานในคอแล้วมันจะตามมาด้วยแผลพุ_ร้อนใน ไม่ควรกินมาก
 

อันนี้ฝรั่งว่า cognitive เปนของฝังใจ เปน stereotype ของจำไว้วนๆในหัว  
 

ก็ต้องเรียนเอาไว้ว่าอีกตำราหนึ่งนั้นท่านว่าลำพังตัวลำไยมันไม่มีปัญหาหรอกเรื่องร้อนในมันมีปัญหาเรื่องโพแทสเซียมคลอเรต ที่เอาได้ผสมราดสุมเร่งต้นลำไยให้มันผลิดอกออกผลตะหาก 
 

โดยปกติแล้วชาวละปูนเก่าแก่แม่สวนลำไยท่านว่าไว้เมื่อลมหนาวมาลำไยจึงจะออกตุ่มกิ่งเตรียมออกดอกผล อีทีนี้ก็จะทำไงให้มันออกนอกฤดูกาลได้ จึงมีผู้หัวใสใช้ผงสารโพแทสเซียมคลอเรตมาโรยกระตุ้น ทีนี้มันก็ออกดอกตะพึดตะพือไป ความเชื่อว่าสารกระตุ้นไม่มีผลร้ายนั้น ชาวสวนเก่าแก่ให้ความเห็นไว้ว่า ลำไยใดใส่สาร ลำไยนั้นกินร้อนในร้อนคอ! 


 

ทีนี้ว่าถ้าไม่เชื่อชาวสวนลำไยเก่าแก่แห่งเมืองละปูนตามนี้ ก็อยากให้ท่านรัฐมนตรีไขก็อกเงินวิจัยเอามาใช้ศึกษากันจริงจังดูสักที เผื่อปัญหานี้จะคลี่คลาย และขยายผลไปช่วยชาวสวนลำไยออกานิคกันได้อีกกระทอดหนึ่ง55 อย่างไรก็ดีกรณีน่าสนใจคือเบ๊าะโส่โพ ไอ้หนูชายขอบบ้านแม่ต้าน ท่าสองยาง กินลำไยอยู่ไกลโขแถวนั้นวัยสักสิบสามสิบสี่กินทีเปนกระบุงไม่มีอาการร้อนในขางไข้อะไรกับเขา อาจเปนด้วยว่าลำไยห่างไกลกันดารขึ้นตามมีตามเกิดธรรมชาติปลอดสารก็เปนได้
 

เมืองจีนเขาตุ๋นไก่ก็เข้าลำไยอบแห้งในนามว่ามันเปนสมุนไพรมีค่าทางยา
 

ในความดำเมื่อมของเม็ดในและเนื้อวุ้นขาวกรอบรอบยวงนั้น ปวงเขาแลแล้วมันช่างคล้ายนักกับลูกกะตาของมังกร จึงขนานนามกันว่า หลง_เหยียน เนตรมังกร กินสดกันโดยซาบซึ้งในสรรพคุณบำรุงกำลังฝั่งหัวใจและม้าม คนอ่อนแอทรุดโทรม เช่น แม่เพิ่งคลอด คนป่วยฟื้นไข้ คนไม่อยากอาหาร ช่วยให้หลับง่าย ด้วยมังกรนี่เขาถือว่าเป็นสัตว์เทพศักดิ์สิทธิ์ ขนาดแค่ได้กินเกล็ด กินหนวด กินหาง ก็เป็นการเพิ่มพลังชีวิตอย่างวิเศษแล้ว นี่กินถึงลูกกะตา!
 

ส่วนข้อมูลประเภทว่าในผลลำไยมีสารออกฤทธิ์กลุ่มกรดเอลลาจิกสูงต้านอนุมูลอิสระดี หรือมีคุณสมบัติเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งบางจุดแก่ตายไปเองโดยไม่มีผลกับเซลล์ปกติ จะพักไว้ไม่กล่าวถึงด้วยเปนหน้าที่นักวิทยาศาสตร์ยืนยัน พวกเรื่องสารโพลีฟีนอลที่สกัดได้จากลำไยช่วยป้องกันการเสื่อมสลายของกระดูกและเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดข้อเขาเสื่อม กล้ามเนื้ออักเสบ ยับยั้งเชื้อมาลาเรียอะไรต่างๆก็เช่นกัน


 

มาวันนี้ ดร.สุวิทย์ วางมือการเมือง เรื่องงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างก็แลเหมือนจะเงียบหาย ก็อยากขอฝากไปถึงรัฐมนตรีนวตกรรมและวิทยาศาสตร์กับท่านเจ้าสัวน้อยว่า ผลิตภัณฑ์ P80 แม่ลำไยจะไปต่อในฐานะเครื่องดื่มค็อกเทลผสม หรือกินชื่นใจได้ประโยชน์อะไรๆต่างๆก็ดีที่น่าสนใจคือตัวผลิตภัณฑ์นี้กำเนิดมาจากงานวิจัยคนไทย 


ส่งผลให้เกษตรกรต้นน้ำพลอยได้ผลทางมูลค่าลำพูนก็ได้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมย่อยๆ อันท่านสู้อุตส่าห์ควักทุนมาร่วมเสี่ยงขับเคลื่อนจนถึงวันนี้สำเร็จผลเปนที่น่าภูมิใจ ไม่ได้มาจากความบังเอิญเหมือนเครื่องดื่มน้ำดำอเมริกาจะทำยาแล้วเผลออร่อย ไม่ใช่เหมือนอังกฤษตั้งใจดองยา ผลออกมากลายเปนวู้ดสเตอร์ซอส  
 

อันความดั้นด้นพยายามของเจ้าสัวน้อยนี้มันน่านักจะทำ P80 เปนเครื่องดื่มทางสังคมอย่างว่า ‘social enterprise energetic drinks’ งานใดๆเกี่ยวข้องกับการผลักดันขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสังคม จะเเข่งรถแข่งเรือ สารคดี อาหาร หรือสัมนาวิชาการงานนั่นๆน่าสมควรต้องมีผู้คนถือแก้วและขวดเครื่องดื่มแม่ลำไยสกัดเปนเครื่องสำแดงกำลังใจจากความจริงใจที่ได้ผลักดันให้สังคมไทยกล้าจะก้าวต่อไปบนเส้นทางสายการผลักดันงานวิจัยคนไทยให้มีส่วนรับใช้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมของเราเองไปได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,811 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565