Commonsense is not Common ฉากที่ 5

20 ส.ค. 2565 | 07:00 น.
534

Commonsense is not Common ฉากที่ 5 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3811

สามีเมาเกินพิกัดแต่ประสาทสัมผัสยังพอจะรู้อยู่ว่า ผู้หญิงที่กำลังถอดเสื้อเลอะอาเจียร คือ ภรรยาเขาเอง นึกออกเลยว่างานนี้ส่างเมาตอนไหนสงสัยจะเจอ มาตรา 5 คือ ฝ่ามือ ภรรยาหน้าบอกบุญไม่รับตั้งท่าจะถอดกางเกงให้ สามีพยายามจะเรียกสติ

 

จนกระทั่งสามัญสำนึกระดับวัยอนุบาลเริ่มสั่งการว่า อย่ายึกยัก แต่ให้ออกลีลาตะมุตะมิเรียกร้องความเห็นใจ พูดอะไรที่ภรรยาได้ฟังแล้วจิตใจเธอจะพองโต สามีก็โวยวายนิดหน่อยเท่าที่พอ จะนึกออกว่า  “อย่าถอดนะ อย่าถอด ผมมีเมียแล้ว…..!” (ฮา) ช่วงแรกที่ภรรยาโผล่มาเห็น ก็ทำหน้าหงิกยังกะโดนโควิดเข้าสิง โดนวาทกรรมน้ำทิพย์รดใจก็กึ่งหมั่นไส้กึ่งยิ้ม แต่ก็ชื่นใจที่สามียังเห็นเธออยู่ในสายตา

หัวหน้างานในหน่วยงานราชการท่านหนึ่ง บอกกับพนักงานธุรการว่า “การพิมพ์ตัวเลขจำนวนเงินในเอกสาร คุณไม่ต้องใส่เครื่องหมาย คอมม่า น่ะ” พนักงานธุรการถามทบทวนว่า  “ท่านหมายถึงเครื่องหมายจุลภาค ใช่ไหมคะ” หัวหน้างานก็ย้ำว่า “ใช่ ไอ้ จุดลูกน้ำ นั่นแหละ อ่านแล้วรำคาญตา”  


หลังจากเอกสารถึงมือท่านอธิบดี ท่านอธิบดีก็โทรมาคุยกับหัวหน้างานว่า “เอกสารโครงการที่คุณส่งมา ตัวเลขจำนวนเงินไม่พิมพ์เครื่องหมาย คอมม่า ไว้เลย คุณมาเอาคืนไปแก้ไขด้วยนะ” หัวหน้างานก็ชี้แจงแย้งท่านอธิบดีว่า “ตัวเลขที่พิมพ์ในธนบัตรก็ไม่มีเครื่องหมายคอมม่านะครับท่าน” สายข่าวรายงานว่า ท่านอธิบดีได้ฟังมุกนะจังงังก็นั่งจุกเงียบกริบ ผลพวงวาทกรรมล้ำเส้นสามัญสำนึก ทำให้หัวหน้างานมีความมั่นคงในตำแหน่งสามารถทำสถิตินั่งแช่แป้งตำแหน่งเดิมไปอีกนานปี (ฮา)

ไม่แน่ไม่แช่แป้ง สามคำถามเฮี้ยนแรง เอาไว้ถามค้ำเก้าอี้…


หนึ่ง เรื่องที่เกิดขึ้นหรือข่าวที่ได้มา มันใช่ หรือ ไม่ใช่


สอง ทางเลือกที่เราจะทำเฉยหรือจะออกหน้า มันควร หรือ ไม่ควร


สาม ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากเรามีปฏิกิริยาไปแล้ว มันจะโชคดี หรือ โชคร้าย


สามคำถามนี้พึงมีอยู่ในลิ้นชักสมอง ถึงคราวคับขันจะได้เบิกมาใช้ฉุกคิดให้ไวก่อนที่จะตัดสินใจเสี่ยงในสิ่งนั้นหรืออย่างนี้  “สิ่ง” เป็นนัยบ่งชี้ถึง “สิ่งของ” และ “อย่าง” เป็นนัยบ่งชี้ถึง “การกระทำ” ผลลัพธ์คือ อาฟเตอร์ช็อก ชะตาจะกระฉอกหรือเรียบง่าย เราเป็นผู้ลิขิต สามคำถามที่โปรยสติไว้เป็นไตเติ้ลเป็นคำถามเก็บเงินเก็บทอง ที่พี่เลี้ยง หรือ โค้ชควรจะเอาไปใช้ในสายงาน


สามคำถามนี้ที่ควรถามเองตอบเองเพื่อช่วย “ใจ” ตัดสินเลือกปฏิบัติให้  “จิต” รอดพ้นจากผลลบ หรือ ประสบสุขได้ลาภ คือ ดรรชนีที่ขยายภาพความคิดผู้ที่ตอบว่าเขามี Common Sense เพราะ “แลเห็น” จึง “เล็งเห็น”  ทำให้  “คิดเห็น” กลายเป็นสมการ “ใช่ + ควร + ดี = สามัญสำนึก! ”


ลูกศิษย์เล่าให้ผมฟังว่า เพื่อนเขาติดเหล้างอมแงมจนลงแดง ญาติพาไปพบกับหมอซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับผู้ป่วย หมอก็พูดตรงไปตรงมาว่า “มึงอยู่ได้ไม่เกินสามเดือน!” ผู้ป่วยฉุนขาดลุกจากเตียงเดินตัวปลิวไม่แยแสอะไรทั้งนั้น หายไปหกเดือนก็โผล่หน้ามาเจอหมอแล้วก็พูดเยาะเย้ยว่า “นี่ไง หกเดือนกูยังไม่ตายเลย” ทุกคนในห้องหมอนั่งนิ่งเงียบสงัด

 

หลังจากแขวะหมอเสร็จก็แวะซดเหล้าฉลองความสะใจที่สามารถลบเหลี่ยมหมอได้ จึงเป็นเหตุให้สิ้นใจจนได้ในที่สุด ลูกศิษย์เล่าไปยิ้มไปว่า“มันจะลาโลกทั้งทีอุตส่าห์หาเรื่องเสียฟอร์มสิ้นใจแบบให้ท้ายหมอจนได้ เคสนี้ผมไม่เมนท์เพราะเกรงว่าจะติดกับ “ฮงทัวร์ลา” คือ ฮาแล้วทัวร์ลง (ฮา)


บริษัทรับเหมาติดตั้งแอร์ทุกห้องในคอนโดระดับ VIP แถวถนนสาทร มียูนิตหนึ่งเกิดปัญหาว่า แอร์ไม่เย็นฉ่ำ ช่างไปดูก็รู้เหตุว่าน้ำยาแอร์มันแห้งจึงเติมให้ ผ่านไปสัปดาห์กว่าๆ อาการอบซาวน่าก็แผลงฤทธิ์อีกหน ช่างก็ต้องรีบดั้นด้นไปตรวจดู

 

จึงรู้ว่าคราวก่อนตัวเองรู้แค่ปลายเหตุ ที่น้ำยามันหมดเร็วก็เพราะท่อมันรั่ว ก้มหน้าก้มตาบัดกรีเอาให้ชัวร์เติมน้ำยาเสร็จก็เผ่นกลับ ใครจะไปเชื่อว่าผ่านไปอีกไม่กี่วัน อากาศมันอบอุ่น 38 องศาทั่วห้องอีกแล้ว ลูกค้าก็โทรมาแซะว่า “นี่มัน แอร์ผีสิง! หรือ แอร์มือสอง! ผมขอเปลี่ยนแอร์ใหม่เลยนะคุณ”


กรรมการผู้จัดการบริษัทรับเหมาติดตั้งแอร์ท่านเล่าให้ผมฟังว่า “ผมไม่รู้ว่าเจ้าของห้องคอนโดท่านนั้นเป็นใคร แต่ก็บอกผู้จัดการฝ่ายขาย ให้รีบเอาแอร์ตัวใหม่ไปเปลี่ยนให้ไวที่สุด เราได้ยินกันมานานว่า เจ้าของสวนผลไม้จะกินลูกที่มีตำหนิ ลูกที่ผิวสวยเอาไว้ขาย ฉันใดก็ฉันนั้น แอร์ตัวไหนรวนก็เอากลับมาซ่อมไว้ใช้เอง เคลมเสร็จใจหายวาบ เพิ่งจะรู้ว่า เจ้าของห้อง VIP ท่านนั้น คือ ประธานบริษัทผลไม้กระป๋องยี่ห้อดังระดับโลก!”


รอบนี้ขอปิดท้ายด้วย “ตลกร้ายสายวิชาการ” ผมแกะรอยมานานวันจนมั่นใจสามารถสรุปความได้ว่า “แลเห็น” ก็ “เล็งเห็น” จึง “คิดเห็น” กลายเป็นรากฐานของ “วิสัยทัศน์!” อนึ่ง “แลเห็น” ทำให้รู้ว่า ใช่หรือไม่ใช่ “เล็งเห็น” ทำให้รู้ว่า ควรหรือไม่ควร “คิดเห็น” ทำให้รู้ว่า โชคดีหรือโชคร้าย 


ในที่สุดก็คลอดชุดความคิดออกมาเป็น “สามัญสำนึก!” ไม่ต้องแปลกใจ “ถั่วเขียว” ไม่ได้งอกเป็น “ถั่วงอก” อย่างเดียว เขายังแปลงกายเป็น “วุ้นเส้น” ก็ แซบอีหลี “ซาหริ่ม” ก็ จ๊าดลำ