Commonsense is not Common ฉากที่ 4

13 ส.ค. 2565 | 07:30 น.

Commonsense is not Common ฉากที่ 4 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล ฉบับ 3809

ซูเปอร์กูรูผู้ได้รับ รางวัลโนเบล สาขาเศรษฐ ศาสตร์ มีสามัญสำนึก แต่ไม่เบิกมาใช้ ผมต้องขอสงวนนามของบุคคลระดับโลกท่านนี้ไว้ เพราะว่าตั้งใจจะฌาปนกิจแนวคิด ไม่ได้มีจิตจะด้อยค่าบุคคล จะสะกิดว่าโปรดอย่า “ซี้ซั้ว” คอมเมนท์มั่วๆ หลักการไม่วิ้ง ข้อเท็จจริงไม่ว้าว สามัญสำนึกน่ะมีแน่ แต่ซุกไว้ในลิ้นชัก 


ท่านแสดงความเห็นว่า “People Aren’t Dumb. The World Is Hard” แปลว่า “ผู้คนไม่ได้โง่ แต่โลกมันยาก” อย่าน้อยใจถ้าใครเคยตกเป็นแพะ แม้แต่โลกยังโดนปราชญ์ป้ายสีเฉยเลยนัก

ปราชญ์คิดแบบนี้ AI ก็ยิ้มสิครับ ท่านใคร่ครวญสักนิดก่อนจะเอากำปั้นทุบโลกว่า โลกเขาเมคอัพตัวเองให้สวยสะดวกสมใจไม่ได้ ปกติของโลกเขาเป็นอย่างที่เป็น เซอร์เวย์กันก่อนว่าทำไมคนอื่นเขาอยู่โลกใบนี้ได้

 

เราด่ายุงว่าไอ้ยุ่งโลกคงจะแอบด่าเราว่าไอ้เหยิง โลกโทรมก่อนกำหนดเพราะคนรุมโทรมโลก ส่วนหนึ่งที่โลกโทรมเร็ว เพราะอาวุธทำให้โลกเสียสภาพ ถ้ายังทำใจญาติดีกับโลกไม่ได้ อย่าไปหาหมอ ไปปรึกษากับนาซ่าดีกว่า (ฮา)

 

 อ.อะนุชิด วิทยากรรุ่นพี่ อยู่ในชุดเสื้อลายไทย กับ ผมอยู่ในชุดสูท เข้าไปพบปะเยี่ยมเยียนรามซิงห์ ในร้านรามซิงห์ภูษา ด้วยความที่คุ้นเคยกันมานาน รามซิงห์ ก็หันหน้ามาทักทาย อ.อะนุชิด ตรงไปตรงมาว่า

 

 “อ. อะนุชิด เป็นคนสมาร์ท นะ ใส่ชุดอะไรก็ได้หมด ยกเว้น ชุดผ้าลายไทย มันไม่เข้ากันนะ อ.อะนุชิด ใส่ชุดนี้ จะดูคล้ายกับรัฐมนตรีที่ไม่มีความรู้” (ฮา) รามซิงห์ เดินข้าม Commonsense เลือกเซนส์จริงใจ ใส่มาดอกหนึ่งเต็มๆ เล่นเอา อ.อะนุชิด เงิบ นับแต่นั้น อ.อะนุชิด สวมชุดสูทเป็นว่าเล่น


 ผ่านไปหลายวัน ผม กับ อ.อะนุชิด ได้จ๊ะเอ๋กันอีกในห้องอบรม หลักสูตรการพูดจะมีการฝึกภาคปฏิบัติ การฝึกแต่ละบทจะมีคณะวิทยากรสามท่านเป็นผู้ผลัดกันชี้แนะ ช่วงที่วิทยากรท่านที่หนึ่งลุกขึ้นไปยืนบอกกล่าวอยู่หน้าห้อง วิทยากรอีกสองท่านจะทำตัวเหลวไหลคุยแซวกันไปกันมากันผ่าน ช็อตโน้ต ผมเริ่มประเดิมชัยก่อนด้วยการเขียนให้กำลังใจ อ.อะนุชิด ว่า “อ. อนุแนบชิด วันนี้แต่งตัวดูดีราวกับผู้จัดการ” วิทยากรท่านถัดมา คว้าเอาไปเขียนต่อท้ายว่า  “ที่เจ๊งแล้ว” (ฮา)


 หลังจาก อ.อะนุชิด วิจารณ์เสร็จเดินกลับมานั่งที่โต๊ะก็แลเห็นข้อความแซวแผลเก่าปรากฏอยู่ในช็อตโน้ต ก็ถามผมเสียงเข้มว่า “ใครแซวต่อท้าย! อ. สมหวัง ใช่ไหมนี่?” สามัญสำนึก แล่นปรู๊ดแวะมาเตือนใจ ผมจะตอบว่า “ไม่ใช่” ก็จะผิดศีลมุสาวาท ครั้นจะชี้ว่า “ใช่!” ผมก็จะกลายเป็นผู้เติมเชื้อให้เกิดการวิวาท

 

โชคดี แม่เป็นครูภาษาไทย  จบกฎหมายเข้าใจนัยของถ้อยคำ ดูหนังจีนเป็นประจำเห็นเขาพูดย้ำจนจำขึ้นใจ นี่ล้วนเป็นทักษะที่ได้มาจากประสบการณ์นอกโรงเรียน นึกขึ้นมาได้จึงใช้หลักปฏิเสธซ้อนปฏิเสธเขียนตอบไปว่า “ไม่ใช่! ไม่ใช่!” หมายถึง “ใช่!” เลยแหละ (ฮา)


จุดแข็งของคนไทย คือ ฉลาด คำถามอะไรเอ่ยเป็นตัววัดที่ โอ.เค. เช่น “ทำไมรถเทวดาถึงเหาะเร็ว!” คำเฉลยก็คือ “ถนนทำด้วยเมฆจะเป็นหลุมเป็นบ่อ ถ้าวิ่งช้าล้อจะติดหล่ม” (ฮา) “เรามีอะไรที่อดัมไม่มี?” คำเฉลยก็คือ “นามสกุล” (ฮา) จุดอ่อนของคนไทยหลายคน คือ ขี้เกียจจะคิด เคยสังเกตไหมว่า ใครอวดรู้ในที่ประชุม เขาก็จะได้รับมอบภาระให้เป็นผู้ดูแลโครงการ มันช่างเป็นมาตรการปิดปากที่ได้ผลเกินคาด (ฮา)

                                 Commonsense is not Common ฉากที่ 4
ใครเคย อภิปราย บรรยาย ทอล์คโชว์ หรือ สนทนา จะรู้แก่ใจว่า อย่าทะลุกลางปล้อง ผมเคยรำคาญ “จานยานแม่!” ผมกำลังพูดถึงชายหญิงที่อยู่กินกันในครอบครัวว่า ควรระวังท่าที พอพูดถึงผู้หญิงท่านก็คว้าไมค์มาพูดตัดบทว่า “อย่ามาพูดจาแตะต้องผู้หญิง” ขัดคอเสร็จสมใจนึกท่านก็พูดแถมตบท้ายเอามันด้วยว่า “ทู้…เร่ด!” บ่อยเกิน

 

ผมก็เฉยแล้วเฉยอีกมานับไม่ถ้วน กระทั่งวันหนึ่งท่านกับผมก็โต้วาทีอยู่กันคนละฝ่าย ผมไม่ได้สนใจว่าท่านจะพูดอะไรบ้าง วันนั้นนั่งนับอย่างเดียวว่ามี “ทู้…เร่ด!” กี่คำ (ฮา) 


 เมื่อผู้ดำเนินรายการเชิญผมพูดเป็นคนต่อไป ผมก็เป็นคนต่อไปจริงๆ ไว้หลังจากโต้วาทีจบแล้วจะหวนกลับไปเป็นมนุษย์ดังเดิม (ฮา) ผมเริ่มต้นก็ปล่อยของออกไปดอกหนึ่งว่า “ผมได้รับพร ทู้…เร่ด! ทู้…เร่ด! มาตั้งแต่ ชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ ครั้งนี้ก็ถึงชั้นฎีกา ต้องขอให้การบ้างตามสมควรว่า จานยานแม่ ท่านไม่ ทู้…เร่ด แต่ จานยานแม่ ท่านกระเดียดไปทาง ทุเรียน (ฮา) 


ทุเรียน หนามเยอะใกล้เคียงกับเม่น เผลอเมื่อไหร่ได้แผลเมื่อนั้น กลิ่นนี่เหม็นตลบอบอวล แท็กซี่ไม่รับ เครื่องบินก็ไม่รับ ถ้า จานยานแม่ ไม่ดับกลิ่น ไม่สิ้นหนาม ผู้คนเขาจะรังเกียจ ไม่กล้าอยู่ใกล้ นะครับ” (ซี๊ด…) กาลเวลาล่วงเลยไปนานวัน รศ.สุขุม นวลสกุล โทรมาเล่าว่า “เฮ้ย มุกคุณขลังจริงๆ วันนี้ผมอภิปรายคู่กับ จานยานแม่ ท่านขว้าง ทู้…เร่ด! ปลิวว่อนไปทั่ว ผมก็เลยแซวไปว่า ทู้…เร่ด!  ยังไม่น่าสะพรึงเท่ากับ ทู้…เรียน! จานยานแม่ หยุดกึ๊กเลยคุณ” (ฮา)


 ไหว้ภาพ อริสโตเติล ทุกวัน สามัญสำนึก น่าจะลงประทับ ท่านเป็นผู้ริเริ่มเขย่า สามัญสำนึก (อุต๊ะ!)