Commonsense is not Common ฉากที่ 1

23 ก.ค. 2565 | 07:30 น.

Commonsense is not Common ฉากที่ 1 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3783

ชีวิตแต่ละวันของทุกคนคงจะมีเวลาว่างจริงๆ หลงเหลืออยู่บ้าง เวลาว่างนั้นจะมีมูลค่าอย่างหาที่สุดมิได้ ถ้าเราเอาเวลานั้นมานั่งย้ายความใจร้ายออกไปจากจิต น้ำจะไม่ท่วมถนน เพราะเราย้ายขยะให้หมดคลองฉันใด จิตจะไม่โดนความเซ็งท่วมใจเพราะเราย้ายความขุ่นใจให้พร่องลงฉันนั้น


ผมนั่งกินข้าวอยู่คนเดียวในร้านขนาดย่อม จู่ๆ มิสยักษ์ เธอก็ยกเอาถ้วยซกมกหนึ่งชุดของลูกค้าคนก่อนเดินมาวางไว้บนโต๊ะที่ผมกำลังนั่งทานอยู่ โดยไม่ขออนุญาตไม่ขอโทษอะไรทั้งนั้น เจ้าของร้านก็เห็นแต่กำลังง่วนอยู่กับลูกค้า อึดใจเล็กๆ ถึงจะเดินมาขอโทษแทนมิสยักษ์ แล้วยกถ้วยแพร่เชื้อออกไปจากโต๊ะ 

จริงๆ ผมก็ไม่ชอบใจ แต่ก็ ทมะ คือ เบรคความไม่พอใจ เอาไว้ตรงนั้น ถ้าใครมี ขันติ คือ ดับเครื่องจอดไม่ไปต่อ จะดีกว่าทำได้แค่ ทมะ ถ้าผมไม่เบรคอารมณ์ก็จะสไลด์ด้วยการยกเอาไปตั้งคืนไว้ที่โต๊ะ มิสยักษ์ เพื่อจะยั่วรองเท้าบาจาด้วยการพูดว่า “ขอบคุณที่เอามาให้ น้องเอาไปไว้ที่บ้านน้องเถอะ บ้านผมมีถ้วยเต็มตู้เลย!” (ฮา)

 

กลุ่มแรกที่ควรจะรีบ ลอกจิต คล้ายกับ ลอกคลอง คือ คนที่ทำมาหากินด้วยการพูดกับลูกค้าทุกวงการ เพราะว่าคนใจขุ่นมักจะปล่อยมลพิษออกจากปากพวยพุ่งไปกางม่านคลุมสังคม จนมัวแทบจะหามิตรภาพไม่เจอ ปัญหาทุกกรณีส่วนใหญ่มักจะมีเชื้อรั่วมาจาก Commonsense อ่อนแรง

ผมได้รู้จักมักคุ้นกับ ท่านรองสนั่น ที่ใครต่อใครเรียกท่านว่า เสธ.หนั่น เพราะ พระพยอม มอบหมายให้ผมไปเข้าพบ ท่านรองสนั่น เพื่อประสานงานการทำกิจกรรมสายวัด ครั้นเมื่อ ท่านรองสนั่น ตกงาน ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ผมก็ทำตัวตามหลักที่ผู้เฒ่าท่านสอนไว้ว่า “ดีใช้ไข้รักษา” ถ้าผมไม่ไปให้กำลังใจบัวมันจะแล้งน้ำ


วันที่ผมไปเยี่ยม ท่านรองสนั่น ที่บ้านสนามบินน้ำ นักข่าวยืนออกันต็มประตูทางเข้าคฤหาสน์ นักข่าวจำผมได้ก็บอกผมว่า “จานวงศ์ เข้าไปแล้ว ช่วยล่อให้ เสธ.หนั่น ออกมาที่ประตูนี้ด้วยนะ!” (ฮา)


ดีที่ Commonsense ผมยังไม่รวน ถ้าผมไปหลอกล่อให้ ท่านรองสนั่น เดินเตร่มาติดกับนักข่าว ผมคงจะต้องไปทำบุญถวายโลงศพกันหลายโรง ถึงจะเอาอยู่ สามัญสำนึก เขาส่งสัญญาณให้ผมฉุกใจคิดได้ว่า นอกจาก ไม่ลวงให้ ท่านรองสนั่น ติดกับ และ จะต้องไม่ฟ้องกับ ท่านรองสนั่น ด้วยว่า นักข่าวเขายุให้ให้ผมลากท่านเดินไปติดบ่วง ถ้าผมปากโป้งเมื่อปีนั้น ปีนี้ผมก็จะกลายเป็น คนของแผ่นดิน! คือ ปุ๋ยชีวะ (ฮา)

                                 Commonsense is not Common ฉากที่ 1
ผมอธิบายกับผู้เข้าอบรมหลักสูตร “ตัดสินใจอย่างสร้างสรรค์ด้วยสามัญสำนึก” ให้เข้าถึงภาพรวมของความหมายว่า “สามัญสำนึก!” คือ “ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ในการทำงานและการใช้ชีวิต!” แสดงว่า “สามัญสำนึก” ที่ฉุกคิดจัดการ “ทุกสิ่ง” คือ “สิ่งของ” และ “ทุกอย่าง” คือ “กระทำ” ให้เป็นไปด้วยดี ต้องเป็น กลเม็ดเด็ดพราย (Finesse) ที่ไม่มีในตำรา
Thomas A. Edison กล่าวว่า สิ่งสำคัญ 3 ประการ ที่จะบรรลุทุกสิ่งที่คุ้มค่าในขณะนั้น ได้แก่ การทำงานหนัก ความยึดมั่นถือมั่น และ สามัญสำนึก


ผมเล่าเรื่องเลวๆ ให้อ่านเพลินๆ เผื่อจะเก็บเอาไว้เป็นอนุสติ ในวัยเรียนผมเอามะขามแก้วไปแอบขายในชั้นเรียนเพื่อเอาไว้กินแก้ง่วง แต่ละแพ็คจะมีมะขามแก้วห่อเล็ก 30 ห่อ ห่อละ 1 บาท แต่ละห่อก็มีใบชิงโชคแนบไว้ ปกติจะมีใบชิงโชคที่ระบุว่าฟรีหนึ่งห่ออยู่เพียง 5 ใบ ต่อ 1 แพ็ค ขายไปขายมาเริ่มผิดปกติ เพราะมันมีใบชิงโชคที่ระบุว่าฟรีหนึ่งห่อเพิ่มขึ้นเป็นเจ็ดห่อแปดห่อ ผมคาดว่าการบรรจุสินค้าคงจะความบกพร่องเผลอใส่ใบชิงโชคเกินกว่า 5 ใบ ผมซื้อห่อใหม่เอามาแกะดูทุกห่อว่ามีใบชิงโชคเกินหรือเปล่า ปรากฏว่า เขาใส่มา 5 ใบ ไม่มีข้อบกพร่องใดๆ 


ผมฉุกใจว่า เราคงโดนเพื่อนร่วมห้องมันตุกติก เอาใบชิงโชคของแพ็คเก่ามาขึ้นรางวัลแล้วเราไม่ได้ฉีกทิ้ง เขาจึงฉวยโอกาสเอามาใช้ลักไก่ นี่ถ้าเผลอง่วงสงสัยจะโดนลักตอนหลับแหง็มๆ (ฮา)


 ผมเป็นเด็กที่มีวาสนาได้กินข้าววัด แต่จำต้องตัดสินใจทำบาปด้วยการไปซื้อมะขามแก้วแพ็คใหม่เอามาแกะหาใบชิงโชคที่ระบุว่า ฟรี เพื่อเอามันออกทุกห่อ แพ็คเวรกรรมนี้ไม่มีใบชิงโชคที่ระบุว่า ฟรี แม้แต่ใบเดียว วันรุ่งขึ้นเอาไปแอบขายในชั้นเรียนตามปกติ ผมขายไปรอไปจนได้ตัวว่ามันเป็น ใคร เดินยิ้มแป้นชู ใบชิงโชค ที่ระบุว่า ฟรี มาแต่ไกล “โชคดีอีกแล้วเว้ย ทำบุญไว้ดีก็มีลาภปาก” (ฮา) 


ผ่านไปหลายสิบปี ไอ้หมอนั่นมันขึ้นเครื่องเที่ยวบินเดียวกับผม หันมาเจอผมก็พูดเสียงดังลั่นได้ยินกันทั้งลำว่า “อ้าว! ไอ้วงศ์ สบายดีนะ สมัยเรียนด้วยกัน กูเคยจกขนมมึงกินฟรีด้วยเว้ย!”เรารู้ว่าเขารู้ก็อดใจเฉยไว้ เรารู้ว่าเขารู้ว่าเรารู้ ก็อดใจเฉยไว้ เรารู้ว่าเขารู้ว่าเรารู้ว่าเขารู้ ก็อดใจเฉยไว้!


วันที่เราจะพูดได้ ต้องเป็นวันที่เราต้องรอเหมือนกับที่ผมเฝ้ารอจะเล่ามา 40 ปี นี่แหละ
Robert Green Ingersoll ให้ความเห็นว่า “มีสามัญสำนึกโดยปราศจากการศึกษา ดีกว่ามีการศึกษาโดยไม่มีสามัญสำนึกนับพันเท่า”