จากอาเซียน-สหรัฐ ถึงเอเปค บทบาท“ไทย”ในเวทีโลก

11 พ.ค. 2565 | 07:30 น.
719

บทบรรณาธิการ

วันที่ 12-13 พ.ค.2565 นี้ โลกกลั้นใจจับตาการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ที่กรุงวอชิงตัน ตามคำเชิญของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่เสนอจัดและทาบทามมาตั้งแต่ปลายปี 2564 เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ 
 

เดิมผู้นำสหรัฐฯ ทาบทามให้พบปะในเดือนมีนาคม 2565 แต่ผู้นำชาติอาเซียนหลายประเทศไม่พร้อม ประจวบกับโลกกำลังร้อนระอุจากเหตุวิกฤตยูเครน เมื่อรัสเซียเปิดปฎิบัติการพิเศษทางทหารเมื่อ 24 ก.พ.2565 ที่ผู้นำสหรัฐ-ยุโรป เรียกร้องทั้งโลกร่วมตอบโต้ด้วยการบอยคอตต์ทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย จนเกิดการแบ่งฝ่ายแยกข้างไปทั้งโลก 

การประชุมครั้งนี้ มีประเด็นหารือบนโต๊ะมีอาทิ การรับมือและฟื้นตัวจากโควิด-19 ความมั่นคงด้านสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ความร่วมมือทางทะเล การพัฒนาทุนมนุษย์ การศึกษา ความเชื่อมโยง และเศรษฐกิจ รวมถึงแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญ 
 

ส่วนความมุ่งหวังของฝ่ายไทยต่อการไปร่วมประชุมเวทีนี้ เพื่อย้ำความพร้อมของไทยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ย้ำความพร้อมของไทยในการเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งกับสหรัฐฯ ย้ำความพร้อมของไทยในการเป็นหุ้นส่วนกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้งเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน พลังงานสะอาด และยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 ของไทย ที่จะนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสามารถต่อเนื่องสู่การเป็นเจ้าภาพของสหรัฐฯ ในปี 2023

แต่ที่ทั่วโลกเฝ้าจับตาคือ อาเซียนจะถูกสหรัฐฯ รวบหัวรวบหางดึงเข้าเป็นพวกกับสหรัฐฯ หรือไม่ โดยเป้าหมายแรกสุดคือ เป็นพันธมิตรร่วมต้านรัสเซีย ที่กำลังงัดข้อสุดกำลังกับนาโต้ 
ถัดไปคือ การฟื้นความร่วมมือทางความมั่นคง-ทหาร ตามนโยบายปักหมุดอาเซียนของสหรัฐฯ ที่เเรียกกันว่านาโต้ 2  เพื่อปิดล้อมการขยายอิทธิพลของจีนในเอเซียและอาเซียน 
 

ไทยได้แสดงจุดยืนอย่างระมัดระวังต่อสถานการณ์ความขัดแย้ง กรณีการยกกำลังทหารบุกยูเครนของรัสเซีย ไทยแม้ไม่ได้ประณาม แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง และเรียกร้องให้แก้ปัญหาอย่างสันติ ตามมติของอาเซียน สนับสนุนกับมติเสียงข้างมากของสหประชาชาติ เป็นต้น
 

การประชุมร่วมกับสหรัฐฯ ครั้งนี้ ประเทศไทยไปในฐานะหนึ่งในสมาชิกประชาคมอาเซียน ซึ่งผู้นำอาเซียนมีระดับการแสดงจุดยืนเข้ม-อ่อนต่อแต่ละประเด็นแตกต่างกันได้มาก จุดยืนหรือท่าที “ทางการ” ของอาเซียนจึงต้องกว้างพอจะรองรับสมาชิกอาเซียนทั้งหมดได้ ทำให้ไทยพอมี “พื้นที่” เพื่อวางน้ำหนักอย่างได้ดุลในเวทีโลก 
 

อีกทั้ง การไปเยือนสหรัฐฯ ของผู้นำไทยครั้งนี้ ยังเป็นการปูทางสู่การจัดประชุมเอเปค 2022 ของไทยในปลายปีนี้ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ผู้นำชาติเอเปคอาจเดินทางมาร่วมประชุมด้วยตนเอง หลังจากที่ต้องประชุมทางไกลในช่วงการระบาดเชื้อโควิด-19 มาหลายปี ทั้งจะเป็นเวทีแรกที่เปิดโอกาสให้เกิดการพบปะของผู้นำ 3 ชาติ คือ สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน ซึ่้งอาจเป็นกุญแจไขสู่การแก้วิกฤตยูเครนตามแนวทางที่ไทยผลักดัน
 

ฉากทัศน์ดังกล่าวยังต้องรอ ทั้งพัฒนาการความขัดแย้ง ในเวลานั้น ท่าทีและความพร้อมของ 3 ผู้นำโลก ที่ยังต้องประเมินก่อนตัดสินใจจะตอบรับหรือไม่ แม้โอกาสดังกล่าวจะมีน้อยเพียงใด แต่การเตรียมพร้อมไว้ย่อมไม่เสียหาย และหากโอกาสดังกล่าวเกิดเป็นจริงขึ้นได้ นี่ย่อมเป็นอีกบทบาทของประเทศไทย ในการส่งเสริมสันติภาพบนเวทีโลก