เปิดประเทศ 1 พ.ค.65 ฟื้นเศรษฐกิจ โอกาสมาถึงแล้ว 

28 เม.ย. 2565 | 03:30 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2565 | 08:19 น.
705

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย 

     *** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 377 8 ระหว่างวันที่ 28-30 เม.ย.2656 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย...

 

     *** “ต่างประเทศชื่นชมการแก้ปัญหาโควิด-19 ของไทย ที่ทำได้ดีกว่าหลายๆ ประเทศ ส่วนเรื่องการเยียวยาเขารู้ว่าเรามีงบประมาณน้อยแต่ยังทำได้มาขนาดนี้ก็เก่งแล้ว ขณะที่หลายประเทศไม่ทำ เพราะเรายึดเป้าหมายคนที่เดือดร้อนเป็นหลัก หากอาการไม่รุนแรงให้รักษาตัวที่บ้าน ทานยาตามอาการ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ตอกย้ำระหว่างพบปะประชาชนในพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา ในการลงพื้นที่ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2565 ที่ผ่านมา พร้อมกับย้ำว่า 1 พ.ค.65 นี้ การปลดล็อกมาตรการต่างๆ จะทำให้มีคนเข้ามายังประเทศไทยอีกมาก ก่อนจะพูดว่า “แต่ถ้าโควิดติดขึ้นมาอย่าโทษลุงอีกนะ เพราะลุงก็เต็มที่แล้ว ทุกวันนี้ตรวจโควิดทุกวัน วันละ 2 ที” ระหว่างนั้นมีประชาชนถามขึ้นว่านายกฯ เคยเป็นโควิดหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “ยังสิ ทำไม” แต่ก็ประมาทไม่ได้ ทุกคนมีโอกาสทั้งนั้น

 

     *** ชัดเจน แน่นอนแล้วว่า ไทยจะ “เปิดประเทศ” 1 พ.ค.2565 นี้ เป้าหมายใหญ่ ก็เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจาก “พิษโควิด-19” หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไทยเราก็ เปิด ๆ ปิดๆ ประเทศมาแล้ว แต่ครั้งนี้ก็น่าจะ “เปิดประเทศ” ไปได้แบบยาว ๆ หากไม่มี “โควิดสายพันธุ์ใหม่ พันธุ์พิศดาร” อะไรเกิดขึ้นมาขย่มโลกอีก

     *** ไปไล่ดูการ “คลายล็อกมาตรการ” เพื่อรองรับการ “เปิดประเทศ” รอบนี้กันหน่อย เริ่มจากการ “ยกเลิกระบบ Test & Go” โดยแบ่งนักท่องเที่ยวออกเป็น 2 ประเภท คือผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ (Vaccinated Travelers) และผู้ไม่ได้รับวัคซีน หรือ ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์ (Unvaccinated Travelers) ส่วนใหญ่น่าจะเป็นประเภทแรก แต่นักท่องเที่ยวยังต้องทำประกันภัย ในวงเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การตรวจหาเชื้อไม่บังคับ ทั้งการตรวจก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง ที่ยกเลิกไปก่อนหน้านี้ และการตรวจเมื่อมาถึง จากเดิมจะเป็นการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ในวันแรก และ ATK ด้วยตนเอง ในวันที่ 5 และแนะนำให้ตรวจ ATK ด้วยตนเองระหว่างอยู่ในประเทศ หากพบเชื้อให้เข้าสู่กระบวนการตามประกันภัย หรือ ตามความรับผิดชอบส่วนบุคคล

 

     *** ลดการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 5+5 วัน จากเดิมลดลงเหลือ 7+3 วัน โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะต้องกักตัวที่บ้าน (Home Quarantine) 5 วัน หลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยครั้งสุดท้าย และสังเกตอาการอีก 5 วัน ไปเรียน และ ทำงานได้ แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัย งดร่วมกิจกรรมรวมกลุ่ม และงดใช้ขนส่งสาธารณะที่หนาแน่น ขณะที่การตรวจหาเชื้อให้ตรวจทั้งหมด 2 ครั้ง คือครั้งแรกในวันที่ 5 หลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยครั้งสุดท้าย หรือถ้ามีอาการให้ตรวจทันที และครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 ก่อนครบกำหนดสังเกตอาการ ... 

     *** นอกจากนั้น ศบค.ยังคลายล็อกมาตรการ “นั่งดื่มในร้าน” ได้ไม่เกิน 24.00 น. จากเดิมนั่งดื่มได้ถึง 23.00 น. ทั้งมีการยกเลิกพื้นที่สีต่าง ๆ ที่ควบคุมโควิด จากเดิมที่เป็นพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) เหลือเพียง 2 สี คือ พื้นที่เฝ้าระวังสูง (พื้นที่สีเหลือง) จากเดิม 47 จังหวัด  เป็น 65 จังหวัด และพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) จาก 10 จังหวัด เพิ่มเป็น 12 จังหวัด ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร, กระบี่, กาญจนบุรี, ชลบุรี, เชียงใหม่, นนทบุรี, ปทุมธานี, พังงา, เพชรบุรี, ภูเก็ต และที่เพิ่มใหม่ 2 จังหวัดคือ ระยอง และ สงขลา

 

     *** ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้กล่าวตอนหนึ่งในงานแถลงข่าว “อัพเดทสถานการณ์ COVID-19 ในต่างประเทศและในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 25 เม.ย.65 ที่ผ่านมา ระบุว่า ข้อมูล ณวันที่ 23 เม.ย.25 โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งแต่เดิมเคยมีผู้ติดเชื้อวันละเป็นล้านราย ตอนนี้เริ่มลดลงเป็นหลักแสน และคงจะถอยลงไปเรื่อยๆ สหรัฐอเมริกา ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง เคยขึ้นไปเป็นแสนราย เสียชีวิต 2-3 พันคนต่อวัน ตอนนี้ “โอมิครอนขาลง” ติดเชื้อหลักหมื่น อัตราการเสียชีวิต 3 หลัก บางวันลงมาเหลือ 2 หลัก หากดูการติดเชื้อพบว่าโอมิครอนก่อเรื่องมากที่สุด แต่ไม่ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิต เพราะมีสายพันธุ์อื่นที่มีคนเสียชีวิตมากกว่า

 

     *** ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ย้ำว่า ณ วันนี้ประเทศต่างๆ มีการรณรงค์การฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 กว่า 80% ขณะที่ประเทศที่คุมการติดเชื้อและเสียชีวิตค่อนข้างดี มักจะเป็นประเทศที่มีการฉีดเข็มกระตุ้นเกิน 50% ขณะที่ “ไทย” ได้รับเข็มกระตุ้นเพียง 1 ใน 3 คือ ราว 36% ยังห่างไกลจากตัวเลข 50% ช่วงเวลานี้มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งฉีดวัคซีนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หากต้องการให้อัตราการเสียชีวิตเหลือเลข 2 หลัก เพราะตอนนี้เป็น 3 หลักอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในข้อมูลที่บ่งบอกว่าการเสียชีวิตลดลงหรือไม่ คือ จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ ข้อดีคือ 3-4 วันเริ่มเห็นตัวเลขที่ไม่ค่อยขึ้น ค่อนข้างนิ่ง หวังว่าหากนิ่งแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ภายใน 1-2 สัปดาห์ น่าจะเริ่มเห็นอัตราการเสียชีวิตลดลง เป็นเป้าหมายใหญ่ที่เราอยากจะให้เกิดขึ้น

 

     *** “เราสู้รบมือกันมาตลอด 2 ปี เชื่อว่าประเทศไทยกำลังไปในทิศทางที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ เราเข้าใกล้สถานการณ์ที่ใกล้ปกติในอีกไม่นานนี้ แต่ว่าทั้งหมดต้องอาศัยความร่วมมือ อย่าให้ทุกอย่างย้อนกลับไป เชื่อว่าเมื่อเรามาถูกทางแล้ว 3 ฝ่ายช่วยผสานเต็มที่ ฝ่าย คือ ฝ่ายที่กำหนดมาตรการและนโนบาย (รอบคอบ ชัดเจน) ฝ่ายที่ดำเนินการตามมาตรการและนโยบาย (มุ่งมั่น รับผิดชอบ) และ ฝ่ายที่ได้รับผลจากมาตรการและนโยบาย คือ สังคม (ร่วมมือ วินัย) เพื่อให้ทุกคนปลอดภัยจากโควิด-19” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ระบุ ... เมื่อเปิดประเทศเต็มตัว คนไทยให้ความร่วมป้องกันโควิด เชื่อได้เลยว่าโอกาสที่เศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัวมีมากขึ้นแล้ว...