ข้อคิดจาก“บิ๊กตู่” ตั้งสติก่อนตัดสินใจ เลือกผู้ว่าฯ กทม.

02 เม.ย. 2565 | 18:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 เม.ย. 2565 | 01:35 น.
2.2 k

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3769 ระหว่างวันที่ 3-6 เม.ย.2656 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย...


*** นับแต่นี้ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.2565 กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองหลวงของไทย และ เมืองพัทยา ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษ จะคึกคักไปด้วยการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) นายกเมืองพัทยา และ สมาชิกสภาเมืองพัทยา หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดเปิดการรับสมัครเลือกตั้งมาตั้งแต่วันพฤหัสที่ 31 มี.ค. จนถึงวันจันทร์ที่ 4 เม.ย. และมีการหย่อนบัตรเลือกตั้งกันในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.2565 

*** สำหรับสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ห่างหายการเลือกตั้งไป 9 ปี ส.ก.ห่างหายการเลือกตั้งไป 13 ปี ความคึกคักและการแข่งขันน่าจะเข้มข้น ดุเดือดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ในส่วนของการ “เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” นั้น เบื้องต้นมีผู้ประกาศตัวลง “ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.” แล้วถึง 25 คน อาทิ 1.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม ที่มาพร้อมกับนโลแกนหาเสียง “กรุงเทพ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” โดยมีผู้สมัครส.ก.พรรคเพื่อไทย 50 เขตสนับสนุน 2.นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กทม. ชูสโลแกน “กทม.มีทางออก บอกรสนา”  ไม่ส่งผู้สมัคร ส.ก.
    

*** 3.นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. มาพร้อมกับ “กรุงเทพดีกว่านี้ได้” ว่ากันว่ามี ส.ก.บางส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ และ พลังประชารัฐ สนับสนุน 4.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. สโลแกนหาเสียง “กรุงเทพต้องไปต่อ”  มีกองหนุนเป็น ส.ก.กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 50 เขต 5.นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย ชู “4 นโยบาย 500 วันทำไม่ได้ ลาออกทันที”  ไม่ส่งผู้สมัคร ส.ก. 6.นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ เคยผ่านการทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัท มาพร้อมกับนโลแกนหาเสียง “กรุงเทพฯ ปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ พัฒนาการศึกษา” ไม่ส่งผู้สมัคร ส.ก. 7.นายโฆสิต สุวินิจจิต อดีตที่ปรึกษารมว.ยุติธรรม อดีตเคยลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มาแล้ว โดยครั้งนั้นชูนโยบาย กรุงเทพฯ 24 ชั่วโมง นั่นคือ ผู้ว่าฯ กทม. ต้องทำงาน 24 ชั่วโมง ตามสภาพสังคมในปัจจุบัน

*** ส่วนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ลงในนามพรรคการเมือง มี 4 คน ประกอบด้วย 8.นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ชูสโลแกน “เปลี่ยนกรุงเทพ เราทำ” ส่งผู้สมัครส.ก.ครบทั้ง 50 เขต 9.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล ในนามพรรคก้าวไกล ชูหาเสียง “พร้อมชน สร้างเมืองที่คนเท่ากัน” ส่งส.ก.ครบ 50 เขต 10. น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตส.ส.กทม.พรรคไทยรักไทย ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคไทยสร้างไทย ของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มาพร้อมสโลแกน “เมืองหลวงติดปีก” พร้อมส่งผู้สมัครส.ก.ทั้ง 50 เขต และ 11.นายประยูร ครองยศ อดีตรองผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ในนามพรรคไทยศรีวิไลย์ ชู “ลูกหม้อกทม. ผมพร้อมแล้ว”  ไม่ส่งคนลง ส.ก.
    

*** ไปดูจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ เมืองพัทยา ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ เดือน ก.พ.2565 เปิดเผยจำนวนประชากรของ กทม.) มีทั้งสิ้น 5,523,676 ราย เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (อายุ 18 ปีขึ้นไป) จำนวน 4,556,776 ราย แบ่งเป็น ผู้ชาย 2,095,505 ราย ผู้หญิง 2,461,271 ราย ในจำนวนนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (นิวโหวตเตอร์) จำนวน 61,228 ราย แบ่งเป็น ผู้ชาย 31,064 ราย ผู้หญิง 30,164 ราย ขณะที่ข้อมูลของกรุงเทพมหานคร ข้อมูล ณ วันที่ 22 พ.ค.65 จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 4,374,131 ราย จากจำนวนบ้าน 1,681,603 ครัวเรือน แบ่งเป็น ผู้ชาย 1,996,104 ราย ผู้หญิง 2,378,027 ราย เขตเลือกตั้งที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1 แสนคนขึ้นไป มี 17 เขต ได้แก่ หนองจอก 134,444 ราย บางเขน 150,172 ราย บางกะปิ 114,685 ราย มีนบุรี 108,517 ราย ลาดกระบัง 137,585 ราย บางขุนเทียน 141,817 ราย ภาษีเจริญ 100,264 ราย หนองแขม 122,459 ราย บึงกุ่ม 112,793 ราย บางซื่อ 100,454 ราย จตุจักร 126,121 ราย ประเวศ 138,552 ราย จอมทอง 117,311 ราย ดอนเมือง 132,724 ราย บางแค 155,429 ราย สายไหม 161,186 ราย และ คลองสามวา 157,231 ราย


*** ส่วนประชากรของเมืองพัทยา ที่มีการเลือกตั้ง นายกเมืองพัทยา 1 ตำแหน่ง และ สมาชิกสภาเมืองพัทยา เขตละ 6 คน จาก 4 เขต รวม 24 คน พื้นที่เลือกตั้งรวม 4 ตำบล มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 116,546 ราย จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อายุ 18 ปีขึ้นไป รวม 83,183 ราย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (นิวโหวตเตอร์) จำนวน 1,718 ราย แบ่งได้ดังนี้ ตำบลหนองปรือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 49,935 ราย เป็นชาย 21,098 ราย หญิง 28,837 ราย นิวโหวตเตอร์ 982 ราย ตำบลหนองปลาไหล ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,684 ราย  เป็นชาย 1,684 ราย หญิง 935 ราย นิวโหวตเตอร์ 43 ราย ตำบลห้วยใหญ่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 108 ราย เป็นชาย 45 ราย หญิง 63 ราย ไม่มีนิวโหวตเตอร์ ตำบลนาเกลือ  ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 31,456 ราย  เป็นชาย 14,203 ราย  หญิง 17,253 ราย  นิวโหวตเตอร์ 693 ราย
 

*** ไปปิดท้ายกันที่ข้อคิดในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จาก บิ๊กตู่ -พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่บอกว่า  “...ขอให้ทุกคนใช้สติและปัญญาในการใคร่ครวญ การเลือกใครอะไรต่างๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญคือ คนที่จะเข้ามารับหน้าที่เหล่านั้น เป็นคนที่มีคุณภาพหรือไม่ เป็นคนที่เป็นแบบอย่างสังคมหรือไม่ เป็นคนที่มีทัศนคติที่ดีหรือไม่  เรื่องความความสามารถโอเคทุกคนเข้าเกณฑ์หมด 


*** “อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วการคิดกับการพูดฟังแล้วดูดี ถ้าเทียบกับการที่ผมพูด หลายคนบอกผมพูดได้ไม่ดี แต่ผมอยากรู้ว่าสิ่งที่พูดกับสิ่งที่คิดมันทำได้จริงหรือไม่ และสิ่งที่เขาทำมาจนถึงทุกวันนี้มันอยู่ตรงไหน ฉะนั้น ถ้าจะหาเสียงลองถามต่อไปสิว่าของเดิมที่ทำมาแล้วมีอะไรบ้าง เขารู้หรือยัง และจะทำอะไรต่อตรงนั้น หรือจะทำอะไรใหม่ ถ้ามารื้อทิ้งทั้งหมดถามว่าจะไปได้อย่างไร ...ฝากถึงประชาชน เราต้องเลือกนักปฏิบัติที่ทำงานได้จริง ทำงานได้สำเร็จ มีผลงานปรากฏไม่ว่าจะอาชีพใดก็แล้วแต่ ที่ผ่านมาสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของท่าน 1 สิทธิ์ 1 เสียงอยู่แล้ว” นายกรัฐมนตรี ให้ข้อคิดในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก่อนที่จะมีการหย่อนบัตรกันในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.2565