หมัดต่อหมัด “ใครผู้ว่าฯ กทม.” “ชัชชาติ-ดร.เอ้-อัศวิน-วิโรจน์”

01 เม.ย. 2565 | 08:30 น.
870

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 จะเป็นวันดีเดย์ชี้ชะตาการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ครั้งแรกในรอบ 9 ปี ถึงตอนนี้มีผู้สมัครเข้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.กันอย่างคึกคัก เช่นเดียวกับการเลือกตั้งนายกเมือพัทยา 
 

นี่ถือเป็นมรดกตกทอดชุดสุดท้าย ที่เหลืออยู่ของคณะรักษาความสบแห่งชาติ (คสช.) 
 

ประหลาดเหลือล้น คือ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-นายกเมืองพัทยา รอบนี้เกิดขึ้นในวันเดียวเดือนเดียวกับ “การทำรัฐประหารของคสช.” อันมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งตอนนั้นมี นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. 
 

อาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคมนี้ ประชากรใน กทม. ที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงสมาชิกสภา กทม. หรือ ส.ก. ราว 4.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรก เนื่องจากห่างหายไปถึง 9 ปีเต็มจะเป็นผู้ชี้ชะตาว่าใครจะชนะการเลือกตั้งมากถึง 7 แสนคน 
 

รับรองว่า ถ้าคนกลุ่มนี้เห่เทคะแนนไปให้ใครคนใดคนหนึ่ง รับรองคนนั้นชนะการเลือกตั้งแน่นอน
 

แม้ว่าคะแนในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ใน 3-4 ครั้งที่ผ่านมา จะชนะกันด้วยคะแนนเป็น 1 ล้านคะแนน แต่รอบนี้ใครเข้าระดับ 8-9 เสียง รับรองว่าชนะการเลือกตั้งเป็น “ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่” ในรอบ 9 ปีแน่นอน
 

เชื่อหัวนายบากบั่นเถอะครับ
 

 

ทำไมนะหรือครับ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเตะตัดขากันเองอย่างมากของ 2 กลุ่มแนวคิดทางการเมือง
 

กลุ่มพรรคเพื่อไทย+คนรุ่นใหม่ มีผู้สมัครที่แข่งกัน 3 คน “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล “น.ต.ศิธา ทิวารี” ผู้ก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย ที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ คอยสนับสนุนเป็นกระดานหกในการดึงคะแนนเสียงคนเมือง
 

ฐานคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส.ในกลุ่มนี้ ที่ประชากรใน กทม.เทคะแนนให้ตกประมาณ 1.4-1.5 ล้านคะแนน 3 คนนี้จะตัดคะแนนกันเอง
 

กลุ่มสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ-กกปส.-รัฐบาล มีผู้สมัครเข้าแข่งขันกันเอง 3 คน “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” ผู้สมัครฯ ในนามพรรคประชาธิปัตย์ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” อดีตผู้ว่าฯ กทม. ที่ครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2559-2565 “สกลธี  ภัททิยกุล” แม้จะลงอิสระ แต่เกี่ยวพันกับพรรคพลังประชารัฐ และ กปปส.อย่างแยกไม่ออก
 

ฐานคะแนนการเลือกตั้งส.ส.ในรอบที่ผ่านมา ประชากรในกทม.เทคะแนนให้กลุ่มนี้ตกประมาณ 1.2 ล้านคะแนน 3 คนนี้จะตัดคะแนนกันเองเช่นกัน



 

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จะมาบริหารจัดการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมือง ด้วยงบประมาณปีละกว่า 7.9 หมื่นล้านบาทจะจำกัดวงแคบ อยู่ในกลุ่มผู้สมัครไม่เกิน 6 คนนี้แหละครับ
 

แม้จะมี รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง และเคยได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.กรุงเทพฯ ในช่วงปี 2551 ด้วยคะแนนอันดับที่หนึ่งถึง 740,000 คะแนน มาร่วมวงแข่งขันเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในกทม.
 

“จุดแข็ง” ของ น.ส.รสนา คือมีฐานคะแนนเสียงจากกลุ่มแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เนื่องจากเคยเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลทักษิณ ในช่วงปี 2549 และมีจุดขายเรื่องรณรงค์สิทธิผู้บริโภค ร่วมกับภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง

แต่รสนามี “จุดอ่อน” จากการที่ไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ขาดความยืดหยุ่น ทำให้เสียฐานคะแนนส่วนนี้ไป
 


คราวนี้ผมพามาเทียบฟอร์มผู้สมัครตัวเก็ง 4 คน
 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง เกิดวันที่ 24 พ.ค. 2509 อายุ 56 ปี  อดีต รมว.คมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เจ้าของฉายา บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี จบปริญญาเอก วิศวกรรมโยธา (โครงสร้าง) มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ สหรัฐอเมริกา
 

จุดแข็งของชัชชาติ คือ มีประสบการณ์ทำงาน วิศวกรโครงสร้างในบริษัทเอกชน, อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ที่ปรึกษากระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 ก่อนก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์
 

แถมเปิดตัวชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ตั้งแต่ปลายปี 2562 เดินสายลงพื้นที่ต่อเนื่อง มีนโยบายหาเสียง “สร้างกรุงเทพฯ ที่ดีกว่าเดิม” ภาพลักษณ์ดี ติดดิน เดินเท้า มีฐานเสียงสนับสนุนจากคน 3 รุ่น รุ่นใหม่-รุ่นกลาง-รุ่นเก่า ได้รับแรงหนุนอย่างไม่เปิดเผยจากพรรคเพื่อไทย ภายหลังพรรคตัดสินใจไม่ส่งคนชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. 
 

ชัชชาติจะเป็นตัวเก็งการได้เสียงสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย และคนรุ่นใหม่แน่นอน
 

จุดอ่อนของชัชชาติ คือมีภาพเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทยจึงอาจถูกดิสเครดิต จึงอาจถูกขุดคุ้ยการทำงานสมัยเป็น รมช.-รมว.คมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยิ่งมีการโหมกระแสสร้างตัวตนให้อุ๊งอิ๊ง-แพทอธาร ชินวัตรมาเท่าใด ชัชชาติจะเจอกระดานหกให้คะแนนลดลงมากขึ้นเท่านั้น
 

จุดอ่อนต่อมาของชัชชาติ คือ ไม่มีผลงานเด่นชัด เข้าถึงตัวยาก สร้างภาพเก่ง และอาจเจอมรสุมการโจมตีในเรื่องคนใกล้ตัว-มือขวาต้องคดี-ลี้ภัยในกัมพูชา กรณีต่อาคือการขาดเสียงหนุนจาก ส.ก.ในพื้นที่เนื่องจากการตัดขาดไม่พัวพันกับเพื่อไทยในทางตรง
 




คนต่อมาคือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เจ้าของม็อตโต้ “ผู้ว่าฯ ที่พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ"
 

จุดแข็งของวิโรจน์คือ ความกล้าได้กล้าเสีย กล้าลุย มีแกนนำคณะก้าวหน้า-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตัวพ่อของคณะก้าวหน้าลงพื้นที่ช่วยหาเสียง  มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นฐานดั้งเดิมของพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกลสนับสนุน และมีกลุ่มสนับสนุนการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง กลุ่มนักธุรกิจที่ประสบปัญหาจ่ายค่าน้ำร้อน/น้ำชาที่ถูกใจนโยบายท้าชนส่วย บวกกับกลุ่มผู้สูงวัยที่อยากได้ผู้ว่าฯกทม.ที่มีบุคลิกภาพคล้าย สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ และอดีตผู้ว่าฯ กทม.เทใจให้คนรุ่นนี้มาเปลี่ยนเมือง
 

อย่างไรก็ตาม วิโรจน์ยังมีจุดอ่อนหลายด้าน แม้เป็นดีเอ็นเออนาคตใหม่ แต่ว่าจะโดนใจคนหรือไม่ เพราะผลงานไม่มีดีแต่พูด แม้มีดีเอ็นเออนาคตใหม่ แต่ผลงานไม่ประจักษ์ชัด ผู้คนรู้สึกว่าเป็นการท้าตีท้าต่อย หรือทำให้ชาว กทม. เสียประโยชน์ เพราะผู้ว่าฯ ไม่ทำหน้าที่ประสานงาน มีแต่ท่าทีปะฉะดะ บุคลิกเอาจริงเอาจัง อีกทั้งเจอบริบทของไม่เข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างแท้จริงของกทม.ที่ประชาชนต้องการ
 

นี่คือจุดบอดที่ยากแก่การสร้างกระแส เพราะแนวคิดของคนรุ่นใหม่ปัจจุบันที่เรียกร้องไม่สามารถตอบสนองได้จากผู้ว่าฯ กทม. ที่ทำงานคนละบทบาทกับส.ส.
 

คนต่อมาคือ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ “ดร.เอ้” ผู้สมัครฯ ในนามพรรคประชาธิปัตย์ เกิด 20 เม.ย.2515 (อายุ 49 ปี) อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ อดีตประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ปริญญาเอก Sc.D.(Geotechnical Engineering) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา ปี 2545 ได้รับรางวัล Eisenhower Follows คนเดียวในอาเซียนที่ได้รับรางวัลนี้
 

จุดแข็งของ สุชัชชวีร์ คือการประกาศนโยบาย “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” โดยใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมและประสบการทำงานแก้ปัญหาเมืองหลวง การที่เขาเคยเป็นประธานในการจัดงานประชุมอุโมงค์โลก ซึ่งเป็นงานประชุมทางวิชาการของเหล่าวิศวกรนานาชาติ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก



ขณะที่การมีภาพคนรุ่นใหม่ ที่ประสบความสำเร็จ มีความรู้ความสามารถ อยู่ที่จะสร้างความแตกต่างกับชัชชาติได้อย่างไร
 

ผนวกกับการมีฐานนิยมคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า และการได้ฐานคะแนนเสียงสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์ การมีส.ก.-ส.ข. สนับสนุนทำให้มีคะแนนตุนในมืออย่างน้อย 3-4 แสน คะแนนแน่นอน
 

จุดอ่อนของสุชัชววีร์ คือ ไม่มีประสบการณ์ตรงในงานการเมือง ชั่วโมงบินต่ำ ไม่เคยจับงานบริหารระดับชาติมาก่อน เมื่อผสมโรงเข้ากับปมวาทะกรรมทายาทไอน์สไตน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา การที่พรรคตัดสินใจตั้ง ผอ.เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ไม่เก๋าเกมพอ การเป็นคนที่รับปากง่ายแต่ไม่ค่อยทำจริง เจอชิ่งวาทกรรมอุ้มทหาร-สลิ่ม จึงกินใจคนรุ่นใหม่ที่จะเทคะแนนให้
 

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. (2559-2565) เกิดวันที่ 15 ก.พ.2494 อายุ 70 ปี จบการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 30 เคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองปราบฯ ผบ.ชน.-รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
 

พล.ต.อ.อัศวิน มีจุดแข็งคือ จับงานบริหาร กทม.มายาวนานถึง 8 ปีเต็ม รับตั้งแต่รับตำแหน่งรองผู้ว่ากทม.ตั้งแต่ปี 2556 จึงรู้งาน มีการวางโครงข่ายกำลังคน แทรกซึมทั้ง 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ แถมมีสายสัมพันธ์กับกลุ่ม 3 ป. ที่คุมการเมืองภาพใหญ่ระดับประเทศ 
 

การมีฐานคะแนนกลุ่ม กกปส.สนับสนุน การจับกลุ่มขาใหญ่ ผู้ทรงบารมีทุกตรอก ทุกซอยในเมืองหลวงแถมมีผลงานแก้โควิด สวนสาธารณะสีเขียว คลองผดุงกรุงเกษมแลนด์มาร์ค มีส.ก.ในสังกัดกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯสนับสนุน แต่อาจจะไม่ใช่จุดพีคของอัศวินอีกต่อไป
 

เพราะอัศวินมีจุดอ่อนจากการทำงานหลายด้าน ไล่จากการบริหาร กทม.ช่วง 8 ปี คนอาจมองว่าไม่มีผลงานที่โดดเด่นเข้าตา จนเกิดความเบื่อหน่าย การเป็นคนที่ไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยโชว์ทำให้ไม่เป็นที่รู้จักของ “นิวโหวตเตอร์” ทำให้เสียคะแนนกลุ่มนี้ไป
 


 

นอกจากนี้อัศวิน ยังมีภาพจำความเป็นตำรวจที่ผู้คนมีภาพจำในเรื่องการใช้อำนาจ เป็นผู้สั่งการมากกว่าการลงมือทำ กดทับผู้ลงคะแนน เมื่อพูดไม่เก่ง ผลงานไม่ชัด แถมแก่ และสืบทอดอำนาจ แม้จะมีกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ” ที่ลงสมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) หนุน แต่อารมณ์ความเบื่อ “บิ๊กวิน” ในตำแหน่งพ่อเมืองกรุงเทพฯ นั้นมีพลังกดทับพอๆกับคนเบื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
 

ทั้งหมดคือการเทียบฟอร์ม 4 รายชื่อในศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. หลังจากนี้ รอเพียงการพลิกเกมการหาเสียง การสร้างกระแสจากแคมเปญและรอ “วัน ว. เวลา น.” เปิดคูหาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ถูกแช่แข็งมานานหลายปี!
 

ใครจะคว้าเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ไปครอง มิพ้น 4 คนนี้ แน่นอน!