รถยนต์ (พระ) ประเทียบ

26 มี.ค. 2565 | 11:37 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มี.ค. 2565 | 18:41 น.
1.9 k

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

สีเหลืองสดๆเปนอีกนัยยะหนึ่งของการรู้แจ้ง enlightenment บางคราวบ่งนิยามความหมายถึงความโล่งใจ และปลอดโปร่ง ในยุค1990s โรงพยาบาลมีราคาบางแห่งตกแต่งภายในด้วยที่นั่งและฝาผนังสีเหลืองสด นัยยะว่าช่วยอารมณ์ผู้ป่วยคนไข้มิให้หมองหม่นจนพาลให้ร่างกายเฉาล้า-กำลังในใจพาให้ป่วยคลายหายไข้
 

ทว่าในเมืองไทยเราก็ยังมีรถยนต์พวกหนึ่งทำสีเหลืองพิเศษ วิ่งอยู่ในงาน‘ราช’การ มานานเน มีสีเหลืองจัด สังเกตดูแลว่างานออกแบบนี้คล้ายกำหนดให้เปนสีตรงกลางระหว่าง light yellow กับ sun yellow ในสไตล์สีรถเยอรมัน สวยสง่างดงาม 

รถกลุ่มนี้ท่านว่า คือรถยนต์ประเทียบ /รถยนต์พระประเทียบ
 

อนึ่งว่าข้างคำโบราณในอดีตกาลครั้งก่อนรถจะมีเครื่องยนต์นั้น รถประเทียบ รถพระประเทียบก็มีแล้วเรียกขานกันคือรถที่มีวอ(หลังคา)แหลมขึ้นไปใช้ม้าเทียมลาก มีความโอ่โถง ผูกม่านทอง ใช้แก่เจ้านายชั้นสูง 

ส่วนเจ้านายชั้นรองลงมา ใช้รถประเทียบ ผูกม่านตาดสีธรรมดา ส่วนว่าท่านผู้ใดจะได้ใช้รถประเทียบหรือรถพระประเทียบ นอกจากขึ้นกับลำดับเกียรติแล้วก็ขึ้นกับพระมหากรุณาฯโปรดเกล้าด้วย
 

ต่อข้อถามเกี่ยวแก่ว่าในสมัยหลังมานี้ คือเปนอย่างไร ก็ขอเรียนตอบว่าตามความเข้าใจอันน้อยว่า หลังจากมีเทคโนโลยีเครื่องยนต์ รถประเทียบ/รถพระประเทียบ ก็กลายเปนรถ ‘ยนต์’(พระ)ประเทียบ ซึ่งในบทความนี้เพื่อให้บังเกิดความสะดวกในการอ่านของท่านผู้อ่านก็จะขอใช้นามเรียกรวมขึ้นไปว่า รถพระประเทียบ แทนคำว่ารถยนต์ประเทียบ/รถยนต์พระประเทียบ ทั้งยังเปนการให้เกียรติยกย่องท่านผู้ใช้งานอีกประการหนึ่งด้วยตามธรรมเนียมไทยๆ
 

รถยนต์พระประเทียบนี้เท่าที่ทราบก็เห็นว่าเปนรถของหลวง (หลวงแบบที่ว่า “หลวง” ไม่ใช่รัฐบาล) มักจัดทำให้มีสีเหลืองเข้มดังกล่าว


 

เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ผู้มีเกียรติยศท่านใดเข้าเฝ้าฯ หรือ ทรงพระกรุณาให้ผู้มีเกียรติยศท่านใดแทนพระองค์ไปในกิจสำคัญเปนทางการ ก็อาจมีพระมหากรุณาฯให้รถพระประเทียบไปรับท่านผู้นั้นในกรณีแรก และไปส่งท่านผู้นั้นในกรณีที่สอง ตามนัยยะนี้แต่อดีตมาจึงหาได้เปนรถประจำตำแหน่งของท่านผู้ใดไม่ ในรัชกาลก่อนนั้น ท่านผู้ขับรถนี้มักเปนสารถีแต่งเครื่องแบบขาวกระดุมทองสองแถวกางเกงแบบสนับเพลาสีกรมท่าพองตรงต้นขา ใส่หมวกหม้อตาลกรมท่ามีกระบังดำหน้าหมวกครุฑ ขับมารับส่งท่านผู้ทรงเกียรติทรงคุณตามที่ได้กล่าวไว้ เท่าที่เคยได้พบเห็น มาเติมน้ำมัน รถพระประเทียบสีเหลืองเข้มนี้มีตั้งแต่รถขนาดกลาง อย่าง Mercedes w124 code A , BMW 528i หน้าหมู ไปถึงรถขนาดใหญ่ อย่าง Mercedes w126 , Mercedes w140, Toyota Century ตรานกยูง และ รถตู้เชฟโรเล็ต 
 

โดยทั่วไปจะคุ้นตาว่ารถพระประเทียบนั้นใช้แก่สมเด็จพระสังฆราชซึ่งก็เปนความจริงอยู่ แต่ที่นานๆจะพบเห็นทีก็มีการใช้แก่การรับคณะทูตต่างชาติซึ่งบางคราวเเทนพระองค์พระราชาธิราชฝ่ายโน้นมาหรือมีลำดับศักดิ์สูงๆมาบ้าง บางคราว รับ_ส่งผู้แทนพระองค์ หากจะเทียบกรณีของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 (ซึ่งปัจจุบันโปรดเกล้าฯสถาปนาเปนสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯกรมหลวงฯ) นั้น สมเด็จฯทรงปรารภมาแต่ยังทรงเปนเจ้าคุณชั้นสามัญว่าไม่ประสงค์จะทรงรับการถวายรถยนต์ทุกกรณี ด้วยมีพระคติว่า ไม่ควรแก่การครอบครอง ไม่มีที่จอด ไม่มีความสามารถซ่อมบำรุง ในอดีตยามยังทรงดำรงสมณคุณที่พระราชาคณะชั้นรองสมเด็จ หลายคราวยังเสด็จไปตามกิจนิมนต์ด้วยเเท็กซี่บ้าง รถกระบะของลูกศิษย์บ้าง ทว่าเมื่อทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาแล้วหากเปนกิจหลวง ก็จะมีการจัดรถพระประเทียบสีเหลืองเข้มนี้มาถวาย_สนองงานพระองค์ท่าน 
 

มีข้อสังเกตว่ารถพระประเทียบมักจะไม่ค่อยเปนรถรุ่นใหม่เอี่ยมที่มีรูปทรงโฉบเฉี่ยว แต่ค่อนไปในทางรถที่มีทรวดทรงสง่างาม แลเคร่งขรึมเหนือกาลเวลาเรียกได้ว่าเปนรถเก่าที่คลาสสิกแต่ยังใช้งานได้ดี เหมือนฝรั่งว่า everyday classic


 

ต่อนี้เปนรูปรถพระประเทียบที่สนองงานสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนๆ เปน เมอร์ซิเดส ฟินเทลหางปลาบ้าง เปนเมอร์ซิเดส พอนทอนท้ายมนบ้าง
 

รูปอุปัทวเหตุนี้ เกิดขึ้นในปลายปี 2514 สมเด็จพระสังฆราชฯ จวน อุฏฐายี ผู้ทรงเคยเปนนักเรียนนายร้อยก่อนลาเพศฆราวาส อุปสมบทเจริญธรรมในสมณวิถี เคยเปนที่พระกรรมวาจาจารย์ ถวายงานพระผนวช พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ประทับนั่งไปกิจนิมนต์ชนบทภาคตะวันออก มีรถบรรทุกเล็กพุ่งเข้าชนขบวนเสด็จ ทั้งรถนำและรถพระประเทียบ การปะทะรุนแรงถึงสิ้นพระชนม์ ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพมา ณ ที่นี้
 

อีกรูปเปนการพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ กระบวนรถพระประเทียบ ประกอบด้วย toyota century ตรานกยูง และเมอร์ซิเดส ปลาวาฬ w140 เข้าเทียบหน้าประตูวัดบวรนิเวศวิหาร สนองงานครั้งสุดท้าย เชิญตะลุ่มพระอัฐิธาตุในสมเด็จท่าน ซึ่งบรรจุในพระเจดีย์จากพระเสลี่ยงไปประดิษฐานยังวัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี แดนกำเนิดชีวิตในร่มพระศาสนาของพระองค์  หมายเหตุ: บันทึกไว้เผื่อเปนประโยชน์รถยนต์เมอร์ซิเดส ฟินเทล หางปลา นั้นช่วงล่างโดยเฉพาะล้อหลังออกแบบมาให้สอบเข้าหาตัวรถ เหมือนรถจี๊ปอเมริกัน M151
 

ยามเมื่อมีผู้นั่งข้างหลัง รถมีน้ำหนักบรรทุกล้อหลังจึงจะแบะออกจากอาการสอบนั้น ทำให้เกาะถนนได้ดีขึ้นเปนฉาก คนเก่าๆผู้เข้าใจกลไกนี้เขาจะเปิดฝากระโปรงหลังนำข้าวสารหนึ่งกระสอบหนักแปดสิบ-หนึ่งร้อยกิโลกรัมบรรทุกถ่วงท้ายรถไว้เสมอไป เพื่อให้รถเกาะถนน และเอาออกหากว่าจะมีคนนั่งเบาะหลังแทนหลายๆคนมูสันต้มไฟอ่อนมาทำให้กินโรยบะหมี่แลตังไฉ่ รสชาติเรียบง่ายแต่ไม่ควรดูเบาฝีมือเขาเลย

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18  ฉบับที่ 3,769 วันที่ 27 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2565