Merchant Baron ขุนนางวาณิชจีน กับ ธรรมเนียมคารวะ

12 มี.ค. 2565 | 12:16 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2565 | 19:20 น.
1.1 k

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ได้เล่าสู่ท่านฟังถึงเรื่องงานสีดำของเหล่าผู้ใหญ่จีนในเมืองไทยมาสองตอนแล้ว เพื่อให้จบบริบูรณ์ จึงมีตอนนี้เปนตอนที่สาม
  

จะกล่าวถึงว่าวงการค้าฝ่ายชุมจีนนั้น ใน stereotypeความฝังใจ ของพวกเขาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการจัดเรียงลำดับศักดิ์กันอยู่ในที ว่ากันว่า ท่านเหล่านี้เมื่อมีนักคติชนวิทยาเข้าไป ศึกษามักพบว่า มีตัวแปร 3 ประการที่จะทำให้คนๆหนึ่งในชุมจีนเมืองไทย(หมายรวมถึงโพ้นทะเลแห่งอื่นด้วย) นั้นได้รับความนับหน้าถือตาเปนอย่างสูง นั่นคือ

ต้องเปนคนที่มีการศึกษา - ส่วนว่าการศึกษาจะเรียนมาจากเมืองจีน เมืองไทย เมืองฝรั่งไม่สำคัญ สำคัญที่มีการศึกษา และการศึกษานั้นสำแดงออกสองทางคือ ยิ่งสูงยิ่งดี หรือไม่เช่นนั้นก็ยิ่งกว้างขวางยิ่งดี
 

ต้องเปนคนมีกะตังค์-การศึกษาที่สูงหรือกว้างมักเอื้อให้คนก้าวเข้าสู่ที่ทางอันมีรายได้สูง ความนับถือตรงนี้บางทีเปนผลเกี่ยวเนื่องกันมาอยู่ แต่อย่างไรก็ดี ท่านที่มีการศึกษาไม่สูง แต่ทว่าได้คร่ำหวอดเคี่ยวกรำในวงการพ่อค้าวาณิชก่อร่างสร้างธุรกิจจนเปนปึกแผ่น_มีกะตังค์ ก็นับได้ว่ามีคุณสมบัติทางนี้เช่นกัน-เจนจบมหา’ลัยชีวิต

ต้องเปนคนใจบุญ - ถ้าว่าสร้างตัวจน มีกะตังค์แล้วไม่หยิบใช้ออกแจกจ่าย ไม่ทำกุศลบำรุงอาราม ศาลเจ้า มูลนิธิ ไม่สร้างโรงเรียนโรงพยาบาล ไม่สนับสนุน/ให้โอกาสคนรุ่นหลัง อย่างนี้ไม่ดี ถือว่าใช้ไม่ได้ เราท่านจึงมักพบเห็นผู้มีองค์ประกอบครบสาม ยามเจรจาพาทีมีความสุขุมสำรวม เขียนหนังสือเชิญคนทำงาน /ขอบคุณคู่ค้า ใช้ถ้อยคำรัดกุมแต่สละสลวย ออกงานไปไหนๆนั่งรถคันใหญ่ หลังยาว เข้าทำการกุศลโดยไม่เลือกยากดีมีจน และ เสียสละเวลาส่วนตัวช่วยงานสังคม ทั้งสมาคมจีนเองและงานขอแรงต่างๆของรัฐ
 

ส่วนอันว่างานสังคมที่กล่าวถึงนี้นั้นมันก็ไม่ใช่ว่าจะแต่งตัวหรูหราพารถลิโมซีนไปเที่ยวกินเลี้ยงยามค่ำคืนในลักษณะ กินฟรี มีเกียรติ กันแต่เพียงอย่างนั้น
 

ทว่ามันเกี่ยวกับการลงแรงขับเคลื่อนสิ่งที่มีประโยชน์แก่สังคม ในอัตราราคาค่าตอบแทนต่ำเรี่ยติดดิน ซึ่งบางครั้งต้องทำเปนทีม ในรูปแบบกรรมการ ซึ่งมีผู้สามารถจากหลายๆแหล่งมาร่วมอุดมการณ์กันถึงได้เรียกว่างานสังคม_เพื่อสังคม  
 

บางท่านเหล่านี้สตางค์มาก บางท่านความรู้มาก บางท่านประสพการณ์มาก มาร่วมงานสังคมกับท่านที่กว้างขวางมาก มีเครือข่ายมาก เดินทางในถิ่นที่แปลกๆมามาก เมื่อสำเร็จสัมฤทธิ์ผลก็มิได้คิดถึงค่าจ้างค่าออนอะไรมุ่งแต่ผลิตงานคุณภาพ โดยสังคมได้เสพคุณภาพอันนั้นเกินอัตราราคาหากว่ามีการจ่าย


 

คนเหล่านี้สมาชิกในชุมจีนจึงนับถือหนักหนาว่าเปนผู้ดีแท้ ไม่ทิ้งภาระสังคมไว้ให้คนอื่นในสังคมต้องแบกหาม อยู่แต่ฝ่ายเดียว เปนความนับถือชนิดทีไม่เกี่ยวแก่ชาติกำเนิด_ชาติวุฒิ
 

หลายคราวผลงานทางสังคมเหล่านี้เปนที่ประจักษ์ พ่อค้าผู้ใหญ่หลายท่านดังนี้ก็มีชั้นตรา ซึ่งมีพระ
มหากรุณาฯพระราชทานให้
 

พ่อค้าผู้ใหญ่หลายท่านดังนั้น จึงเปนที่รู้กันว่า ปวงเขาไม่ใช่พ่อค้าธรรมดา ทว่าเปนขุนนาง_ขุนนางฝ่ายวาณิช (จีน) - merchant baron 
 

อนึ่งว่า เขามีคำเรียกว่า จีนโพ้นทะเลนี้เรียกแยกกันอยู่สองคำ หัวเฉียวหมายว่ามาจากแผ่นดินแม่ มาเติบโตที่โพ้นทะเลไกล ส่วน หัวอี้ หมายว่าพวกลูกของหัวเฉียวที่ทั้งเกิดและเติบโตบนดินแดนโพ้นทะเลไปแล้ว
 

เมืองไทยนั้น ชื่อชั้นอย่างนายอุเทน เตชะไพบูลย์ / นายกำจาย เอี่ยมสุรีย์ นายสมาน โอภาสวงศ์ ท่านผู้ล่วงลับเหล่านี้เปนพ่อค้าผู้ใหญ่ในนิยามขุนนางวาณิชของชุมจีนหัวเฉียวหัวอี้ทั้งสิ้น 
 

ยามเมื่อท่านขุนนางวาณิชเหล่านี้จากไป เขาไม่ได้ร่วมงานปลงศพของท่านกันโดยธรรมดา ต้องเดินทางไปเคารพศพท่านผู้จากไปด้วยตนเองซึ่งว่าหากแข้งขาอ่อนแรงไม่สะดวกออกจากบ้าน หรือขึ้นบันไดศาลา ก็จักต้องเอ่ยปากไหว้วานลูกหลานเปนผู้แทน


 

เทียบถ้าหากว่าศพผู้ดีผู้ใหญ่ไทยที่มีความผูกพันหรือมีคุณแก่กันมาแต่หนหลัง นอกจากหรีดดอกไม้สดแล้ว ผู้แทนที่ดีจะสั่งร้านให้จัดดอกไม้จันทน์แบบพุ่มช่อ พร้อมทั้งธูปเทียนย่อ ใส่กล่องอย่างว่าหีบขนาดเล็ก_ถือไปให้ผู้ไหว้วาน “จบ” อธิษฐานขอขมาลาโทษขออโหสิกรรมเสียก่อน แล้วจึงถือไป ถึงที่งาน_เปิดออกนำดอกไม้จันทน์ที่ ‘จบ’ แล้วมาวางเชิงตะกอนเคารพท่านผู้วายชนม์แทน 
 

ฉะนี้แล้ว ข้างศพผู้ดีผู้ใหญ่จีนที่มีความนับถือมาก จะด้วยเคยให้การอุปการะ_อุดหนุนมาแต่หนหลังก็แล้วแต่ นอกจากหรีดดอกไม้สดแล้ว ต้องนำแผ่นเต็กผ้าแพร เขียนถ้อยคำสดุดีผู้วายชนม์ถือไปคำนับท่านผู้ด้วย เช่น ศพนายธนาคารที่ให้กู้เงินทำการค้า กัมประโดที่ค้ำประกันเครดิตให้ยามเมื่อเริ่มสร้างตัว หรือผู้ใหญ่ที่ให้โอกาสได้งานทำ เปนต้น
 

แผ่นเต็กผ้าแพรในยุคนี้หามีคนทำขายไม่แล้ว ลักษณาการเปนเหมือนหรีดผ้าห่มแต่สวยกว่าดูแพงกว่า ผ้าผวยนั้นสวยงามกว่า มีคำโคลงเปนภาษาจีนตวัดพู่กันสวยงาม เชิงรำลึกถึงท่านผู้ตาย เช่นว่า “ท่านอาวุโสจากไปแล้ว” หรือทำนองว่า “ดาวเหนือลับแสง แสนอาลัย”
 

ในเมื่อแผ่นเต็กผ้าแพรหาไม่มี ก็ต้องใช้วิธีเปลี่ยนเปนแพรไบ๋เลี้ยงเขียนคำสดุดี ขึงไว้ที่เพดานงานให้ห้อยลงมาอย่างว่าป้ายประกาศกิตติคุณ


 

การต้องส่งแพรแทนคำอาลัยไปคำนับศพนี้ต้องมีชื่อผู้ส่งจารึกไว้ จะส่งชื่อในนามผู้ด้อยอาวุโสไม่ได้ ต้องส่งในนามผู้อาวุโสสูงสุดของสายสกุลให้ลำดับศักดิ์เสมอกันแก่ผู้รับคารวะ
การณ์อันนี้มันยากนัก
 

เคยถามท่านสตรีผู้ใหญ่ว่ามีข้อสังเกตใดบ้างที่จะ “ทราบ” นัยยะอย่างนี้บ้าง ที่ว่าใครเทียมกับใคร ท่านว่า เราค้าขายพึ่งพากับใคร_ไม่รู้เขาได้หรือ ใครมีกิตติคุณอย่างไร ไปดูตราที่หน้าอก ต่อมาจึงได้คอยสังเกตรหัสนัยการแต่งกายของท่านผู้ใหญ่_ขุนนางพ่อค้า ท่านที่ใส่เสื้อนอกและเปน Merchant Baron เขามีดุมดอกไม้จีบกลัดติดปกซ้ายไว้ บางท่านปากกระเป๋าเหน็บคันชีพ กิตติคุณพระราชทาน เปนรหัสย่อให้เข้าใจ
 

จึงได้ทราบซึ้งต่อมาตามท่านสั่งการไว้ ว่าธรรมเนียมการค้าฝ่ายจีน ผู้ด้อยอาวุโส ต้องให้ความคารวะแก่ท่านผู้อาวุโส แพรไบ๋เลี้ยงผืนนี้จารึกอักษรสี่ตัว อ่านจากขวาย้อนมาซ้ายตามระบบอักษรศาสตร์ฝ่ายป้ายของจีน

德 高 望 重 “เด๋อ เกา วั่ง จร่ง” 
VIRTUE / PRESTIGE /MORAL STANDING / REPUTATION 
  

เปนคำโบราณแปลตรงตัวมิได้ แต่ให้ความหมายรวมว่า คุณธรรมของท่านสูงส่ง เปนที่เคารพชื่นชมของผู้คนอย่างหนักหนา
 

ด้านซ้ายเปนพื้นที่ของผู้ส่งแพร_ต้องระบุนามกร ชื่อยี่ห้อเปนอักษรจีน ด้านขวาเปนพื้นที่ของผู้รับแพร_ต้องระบุนามกร ชื่อแซ่เปนอักษรจีน
 

ในยุคไวไฟนี้หาผู้เข้าใจกติกาและแบบธรรมเนียมแพรอาลัยนี้ยาก ต้องเข้าไปว่าถึงทรงวาด ผู้เขียนและ
ทำแพรชุดนี้เปนจีนนักหนังสือชาวเยาวราช เมื่อจะตวัดพู่กันระบุชื่อผู้ส่งแพร_เงยหน้าขึ้นถามคำถาม ที่ยากยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับ หัวอี้ เจนเนอร์เรชั่น 3-4 ซึ่งเปนหลานนอกอีกต่างหากใช้นามสกุลไทยฝ่ายบิดามาหลายรุ่นแล้ว


“ขอประทานโทษ, แล้วคุณแซ่อะไร?”
 

มันคงต้องแก้ทางด้วยการกรอกนามสกุลเปนตัวไทยเข้าไปที่ผ้าแพรอักษรจีนแทนดังนี้ฯ


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,765 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2565