‘มาม่า’ 50 ปี

05 มี.ค. 2565 | 11:59 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มี.ค. 2565 | 19:02 น.
5.7 k

แบรนด์ สตอรีส์ กฤษณ์ ศิรประภาศิริ [email protected]

น่ายินดีครับ

 

มาม่า” 50 ปีแล้ว

 

แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยอดนิยมของไทย เรียกได้ว่า “บริโภค” กันทุกบ้าน ทุกครัวเรือน

 

นอกจากคำว่า “มาม่า” จะเป็น GENERIC NAME ยังอาศัยเป็น “ดัชนี” ชี้วัดเศรษฐกิจไทยว่า ตกต่ำหรือรุ่งเรือง

 

“มาม่า” 6 บาท ขายดีแสดงว่า ผู้คนจนปัญญา จนทรัพย์ ต้องอาศัย “แป้ง” ให้อิ่มท้อง มีแรงสู้ต่อไปอีกมื้อ

มาม่า

กำเนิดของ “มาม่า” เกิดจากวิสัยทัศน์ การมองการณ์ไกลของนายห้างเทียม โชควัฒนา เจ้าของบริษัทสหพัฒน์ ท่านเห็นอนาคตของ “สินค้า” อาหารประเภทนี้ ตัดสินใจร่วมทุนกับบริษัทไต้หวัน เพรซิเดนท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ เมื่อปี พ.ศ. 2515 เพื่อผลิต “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” INSTANT NOODLES ให้กับตลาดผู้บริโภคในประเทศไทย

 

“นวัตกรรมอาหาร” ของโลกชิ้นนี้ เกิดจากสมองและความเพียรพยายามของ MOMOFUKU ANDO นักธุรกิจญี่ปุ่นตัวเล็กๆที่เห็นปัญหาของการขาดแคลนอาหารในประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

เขามีความคิดตลอดเวลาว่า จะทำงานเพื่อ “ช่วยให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น”

 

ANDO เชื่อว่า “อาหาร” มีความสำคัญยิ่ง ถ้าขาดอาหารปัจจัยอื่นๆก็ไม่มีความหมาย อย่างเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และศิลปวัฒนธรรมไม่เกิด

 

“ถ้าท้องอิ่ม โลกสงบ” เป็นคำคมที่เขาพยายามขายความคิด

 

ปี 1957 เมื่องาน CREDIT UNION ที่ ANDO รับผิดชอบล้มละลาย ANDO สูญสิ้นสมบัติทรัพย์สินทุกอย่าง เหลือแต่ห้องที่เช่าไว้ในเมือง OSAKA เขาไม่ยอมแพ้กับโชคชะตา ยิ่งได้เห็นสภาพการขาดแคลนอาหาร ต้องไปเข้าคิวกันซื้อในตลาดมืด บะหมี่ (RAMEN) ยังเป็นอาหารยอดนิยมของชาว “ซามูไร” หลังสงครามโลก

 

ANDO เกิดความคิดที่จะพัฒนา RAMEN บะหมี่ที่ปรุงได้ง่ายสามารถกินที่บ้านที่มีแค่ “น้ำร้อน” ก็ชงสุกได้แล้ว

พิพัฒ พะเนียงเวทย์

การค้นคว้าวิจัยทดลองของเขาทำไปโดยไม่มีวันหยุดเป็นปี (เฉลี่ยได้นอนคืนละ 4 ชั่วโมง) ลองผิดลองถูก ศึกษาวิธีทอด TEMPURA ฯลฯ พยายามหาคำตอบว่า ทำอย่างไรให้ได้ “บะหมี่” ที่ “แห้ง” สนิท จนสามารถเก็บไว้ได้นานๆ และทำอย่างไรจึงจะได้กินโดยแค่ “ชงน้ำร้อน” ง่ายๆ ฯลฯ

 

เดือนสิงหาคม ปี 1958 “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ซองแรกของโลกก็ออกมาจากไลน์การ “ผลิต” สู่ “ตลาด” ญี่ปุ่น

 

CHICKEN RAMEN ประสบผลสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว ผู้คนเรียกขาน MAGIC NOODLES ผลิตภัฑณ์วิเศษแค่ชงด้วยน้ำร้อน 2 นาที สะดวก รวดเร็ว รสชาติถูกปาก

 

ความสำเร็จตามมาด้วยการพัฒนาไม่หยุดนิ่งของ ANDO และทำให้ NISSIN FOODS ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง เป็นบริษัทผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชั้นนำ หนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

ปี พ.ศ. 2515 ที่นายห้างเทียม ตั้งโรงงานผลิตบะหมี่ “มาม่า”ในไทย ดูจะเป็น “สินค้า” ที่มาก่อนยุค “บะหมี่ซองสำเร็จรูป” ราคา 2 บาท ขณะที่ร้านอาหารข้างทางก็ขายกันชามละ บาท สองบาท การร่วมทุนกับบริษัทไต้หวันประสบการขาดทุน สหพัฒน์ จึงซื้อหุ้นทั้งหมดในเวลาต่อมา

 

นายห้างเทียม โชควัฒนา ได้ “ลูกหม้อ” สหพัฒน์ นามพิพัฒ พะเนียงเวทย์ เข้าไปบริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด บริษัทลูกเป็นโรงงานผู้ผลิต “มาม่า”

พิพัฒ พะเนียงเวทย์ และทายาท

ด้วยความสามารถและการทุ่มเทพัฒนาของ “กรรมการผู้อำนวยการ” ท่านนี้ “มาม่า” ได้ผ่านร้อนผ่านหนาว มาจนถึงวันนี้ได้ฉลอง 50 ปี “พิพัฒ” เองปีนี้ก็ 83 เรียกได้ว่า ใช้เวลาทั้งชีวิตกับ “มาม่า” แม้วัยเลยเกษียณมานาน แต่ก็คงไม่วางมือง่ายๆ ด้วยความผูกพันยาวนาน แถมต้องดูแลทายาท “พะเนียงเวทย์” อีก 7 คน (บุตรธิดาต่างมารดา) ที่มีตำแหน่งใหญ่โตในบริษัท

 

นายห้างบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา เสี่ยใหญ่สหพัฒน์ เจ้าของ “มาม่า” หุ้นใหญ่ตัวจริง ก็ยังไม่ “วางมือ”

 

คนดูแลธุรกิจ 200-300 บริษัท อย่างนายห้างบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ไม่ใช่ “คนจุกจิก” ฉลาดพอที่จะดูแค่ BOTTOM LINE ของแต่ละบริษัท

 

“ถ้าบริษัทมีกำไร ชั้นถึงจะยิ้มได้”

 

“มาม่า” ผ่านโลกมาก 50 ปี ขอให้โชคดี “เดินหน้า” อีก “ครึ่งศตวรรษ” เพื่อจะเป็น “มาม่า 100 ปี” ความภูมิใจไทยแลนด์

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,762 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2565