เปิดเส้นทาง ‘มาม่า’ สู่ Sustainable Business

22 ก.พ. 2565 | 05:17 น.

“ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์” ทรานส์ฟอร์เมชั่นองค์กรครั้งใหญ่ เดินหน้าขับเคลื่อน New Business Model สู่ Sustainable Business ทำให้เป็นรูปธรรม ตอบโจทย์ยั่งยืนของโลก ด้วย 2 I “Innovation-Internationalization”

ภายใต้เงาของ “มาม่า” หลายคนคุ้นเคยกับชื่อ “สหพัฒน์” ในบทบาทของผู้ทำตลาด แต่ในอีกมุม “ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์” หรือ TF ในฐานะผู้ผลิต ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างให้ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จไทยเติบโตและประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม การเดินทางมายาวนานจนครบ 50 ปี ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ กับการประกาศวิชันของ “มาม่า” ภายใต้ New Business Model กับการก้าวสู่ Sustainable Business ที่ไม่ว่าจะเป็นตลาดไทยหรือตลาดโลกนั่นคือ ตลาดของ TF

 

“พิพัฒ พะเนียงเวทย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หัวเรือใหญ่ผู้บุกเบิก “มาม่า” ในวัย 83 ปี ที่พร้อมส่งไม้ต่อให้กับทายาททั้ง 5 นำโดย ดร.พจน์,ดร.พจนี, พจนา, เพชร และพันธ์ พะเพียงเวทย์ ที่แบ่งสรรหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างลงตัว

มาม่า มาม่า

“พิพัฒน์” ย้อนรอย 5 ทศวรรษของ “มาม่า” ให้ฟังว่า มาม่ามีวันนี้ได้ มาจาก 3 สิ่งคือ สินค้าดี 2. พาร์ทเนอร์ดี มีสหพัฒน์เป็นพี่เลี้ยง 3. ทีมบริหารดี ลงทุนแบบพอเพียง ไม่เกินตัว ทำให้มาม่าผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นต้มยำกุ้ง หรือล่าสุดโควิด-19 มาได้อย่างราบรื่น

จากจุดเริ่มต้นมาม่าในซองกระดาษแก้ว ราคา 2 บาทถูกพัฒนามาต่อเนื่อง ต้องเผชิญกับวิกฤติด้านการผลิต ต้นทุนวัตถุดิบสูง ปรับเปลี่ยนนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ลดต้นทุน ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง แม้วันนี้ “มาม่า” จะขยับราคามาเป็น 6 บาท แต่ยังคงคอนเซปท์เดิม “สะดวก สะอาด ประหยัด ปลอดภัย”

 

วันนี้ “มาม่า” กำลังจะก้าวข้ามโดยทีมผู้บริหารรุ่นใหม่ ที่มาพร้อมเทคโนโลยี เป้าหมายของมาม่าจึงไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่นับจากนี้ “โลก” คือตลาดของ TF

 

เป้าหมายของ TF คือการเป็นต้นแบบขององค์กรที่ขับเคลื่อนนโยบาย BCG (Bio Circular Green Economy) ซึ่งที่ผ่านมา “มาม่า” มุ่งเรื่องของ Marketing Innovation, Product Innovation และ Process Innovation แต่อนาคตนับจากนี้ “มาม่า” จะเดินหน้าสู่ Food Innovation และ Food Security เพื่อรองรับความมั่นคงด้านอาหารให้กับคนทั่วโลก พร้อมก้าวสู่ Future Food และขยายตลาดในการรองรับผู้บริโภคในกลุ่ม Healthy เพิ่มมากขึ้น ภายใต้การทำงานของ TFIT หรือ ทีเอฟอินโนเวชันทีม

“New Business Model ของทีเอฟ จะเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่นิยมสินค้าเพื่อสุขภาพและเทรนด์การใช้ชีวิตที่ต้องการความง่ายและสะดวก มุ่งขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านช่องทางต่างๆ ที่หลากหลาย”

 

สิ่งสำคัญคือ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เข้ามาพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าในโรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่โรงงานสีเขียวเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) และนโยบายการขับเคลื่อน Bio Circular Green Economy (BCG)

 

ภายใต้แนวคิด Sustainable Business ทีเอฟจะเดินหน้าทั้งเรื่องของ Green TF, Responsible Made of production & consumption และ Collaborative intelligence ที่เป็นการผนึกรวมระหว่าง AI กับ HI (Human intelligence)

 

การเดินหน้าสู่อนาคตนับจากนี้จะมี 2 I คือ Innovation และ Internationalization ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่แค่มาม่า ที่ส่งออกไปขายในต่างประเทศ แต่ยังมีทัพสินค้าหลากหลายทั้ง ก๋วยจั๊บ, ผัดไท ฯลฯ ที่ถูกส่งออกไปขายใน 68 ประเทศทั่วโลก ทีเอฟยังมีเป้าหมายการทำตลาดที่มากกว่า Beyond Export นั่นคือ Global Market ซึ่งจะเน้นการทำตลาดผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพรีเมียมและไฮแวลูเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ของผู้บริโภคในต่างประเทศ รวมทั้งการปรับดีไซน์และขนาดแพคเกจจิ้ง ให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับตลาดในแต่ละประเทศมากขึ้น เน้นช่องทางการทำตลาดออฟไลน์และออนไลน์ควบคู่กัน

 

“วันนี้ทีเอฟมีโรงงานในต่างประเทศ 4 แห่งในเมียนมา กัมพูชา บังกลาเทศ และฮังการี ซึ่งมีแผนขยายโรงงานเพิ่ม ทั้งในรูปแบบของการเข้าซื้อกิจการ หรือการร่วมทุนแต่ต้องมีพาร์ทเนอร์ท้องถิ่นเข้าร่วม เพราะมีจุดแข็งทั้งในเรื่องของตลาด กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ นอกจากนี้มีแผนขยายตลาดไปยังแอฟริกา และอีกหลายๆ ประเทศที่มีศักยภาพ รวมทั้งการจัดตั้งสำนักงานเองด้วย”

 

ในปีนี้ทีเอฟมีแผนใช้งบลงทุนราว 400 ล้านบาทด้านโรงงานผลิต ยังไม่นับรวมการลงทุนในต่างประเทศ โดยเป้าหมายของทีเอฟในปี 2026 จะมีรายได้ราว 3 หมื่นล้านบาท มาจากยอดขายในประเทศ 1.5 หมื่นล้านบาท และต่างประเทศ 1.5 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่มีรายได้ 1.4 หมื่นล้านบาท เป็นรายได้จากในประเทศ 70% หรือราว 1 หมื่นล้านบาท และต่างประเทศ 30% หรือราว 4,000 ล้านบาท

 

โอกาสของ “มาม่า” บนเวทีโลกยังสดใสและท้าทายเลือดใหม่ของทีเอฟไม่น้อย

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,759 วันที่ 20 - 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565