รัฐบาลประยุทธ์ ต้องเร่งโชว์ฝีมือ แก้ปัญหาเงินเฟ้อ

22 ม.ค. 2565 | 08:00 น.

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังออกมาประเมินเศรษฐกิจล่าสุด ปี 65 จีดีพีจะขยายตัวอยู่ที่ 3.5% - 4% ขณะที่กรอบเงินเฟ้อได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1 - 3% โดยสถานการณ์ราคาสินค้าและราคาพลังงานมีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น หลายฝ่ายเกิดความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ บางช่วงเวลาเงินเฟ้ออาจขยับเข้าใกล้ 3 % หรือทะลุ 3% แม้จะมั่นใจพยายามคุมให้อยู่ในกรอบ 1-3% ได้ แต่การทะลุไปใกล้เคียง 3% หรือสูงกว่าเมื่อเทียบกับรายได้ย่อมไม่ได้ส่งผลดี
 

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงรายได้อยู่กับที่ ซึ่งไม่ต่างจากหดตัว ข้าวของแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น ขาดเงินในการจับจ่ายใช้สอยบริโภค โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นในหมวดอาหารที่ถีบตัวสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการขาดแคลนในสินค้าหลักบางรายการอย่างเนื้อสุกรที่หายไปจากตลาด ซึ่งต้องใช้เวลาในการหาซัพพลายป้อนตลาดระยะเวลาหนึ่ง ผลทำให้ต่อเนื่องไปยังสินค้าอาหารรายการอื่นที่ปรับราคาขึ้นตามไปด้วย

ผู้บริโภคยังต้องเผชิญกับราคาสินค้าในหมวดพลังงาน อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่า น้ำมันเป็นปัจจัยจำเป็นและมีผลต่อเนื่องไปสู่กลุ่มพลังงานทั้งหมวด รวมไปถึงสินค้าจำเป็นอื่นๆ ที่พึ่งพิงน้ำมันเป็นปัจจัยการผลิต ทั้งค่าขนส่ง และอาจจะมีผลต่อเนื่อง ไปที่ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้มและต่อเนื่องไปยังหมวดค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่อาจปรับขึ้นเช่นเดียวกัน หากสินค้าอื่นปรับไปก่อนแล้ว จะกลายเป็นสินค้าและบริการจำเป็นปรับราคาพร้อมกันยกแผง
 

แม้รัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ เข้าไปดูแลราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มสูงอย่างมากอย่างใกล้ชิดแล้ว ขณะที่ราคาน้ำมัน กระทรวงพลังงานได้เข้าไปดูแล โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปดูแลเพื่อทำให้ราคาพลังงานมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และมีความเชื่อว่าสถานการณ์ราคาสินค้าและพลังงานจะเริ่มคลี่คลายภายในช่วงครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ดี เราเห็นว่า การแก้ปัญหาด้วยการสั่งการกำชับให้ดูแลราคาสินค้าอาจยังไม่เพียงพอ รัฐบาลต้องมองภาพใหญ่ แรงกดดันเงินเฟ้อหลักมาจากสาเหตุใด และเศรษฐกิจในภาพรวมเกิดปัญหาอย่างไร เงินเฟ้อที่เกิดจากแรงผลักจากต้นทุน ขณะที่รายได้หดหาย แก้อย่างไร แน่นอนเงินเฟ้อจากต้นทุนจะไม่สามารถใช้นโยบายการเงินในการเข้าไปบริหารจัดการได้ แต่นโยบายการคลังที่เหมาะสมและทันกับสถานการณ์เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาควบคู่กับมาตรการรัฐที่จัดการกับปัญหาต้นทุนโดยตรง โดยต้องดำเนินการให้เป็นแบบครบวงจรไปพร้อมกัน