CPF…หวานหมู ราคาหมูแพง

07 ม.ค. 2565 | 08:00 น.
4.9 k

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ By…เจ๊เมาธ์

*** ความกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นทำให้นักลงทุนทั่วโลกชะลอดูว่า จะจัดการกับพอร์ตการลงทุนของตัวเองอย่างไรถึงจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นกลไกการควบคุมระบบเศรษฐกิจภายในของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนต่างก็รู้ดีว่าจะต้องเกิดขึ้น ดังนั้นแทนที่จะคิดว่าจะลดผลกระทบได้ยังไง...น่าจะมาคิดว่าจะหาผลประโยชน์แบบไหนดีกว่านะคะ
 

แน่นอนว่าหุ้นกลุ่มแรกที่จะได้ประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดคือหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่อย่าง KBANK BBL SCB KTB และ TTB ซึ่งถ้าจะมองจากมุมของเจ๊เมาธ์หุ้นธนาคารใหญ่ที่ดูดีจะมีแค่ BBL ซึ่งมีจุดเด่นคือ เรื่องของเสถียรภาพของราคาหุ้นและจำนวนผลตอบแทนที่มาจากเงินปันผลที่สูงกว่าใคร ส่วนทางด้าน KBANK และ SCB ที่เริ่มมาเน้นเรื่องฟินเทค ก็ดูดี แต่ต้องบอกเอาไว้ก่อนว่าฟินเทคจะเห็นผลก็ต้องใช้เวลาอีกปีถึงสองปีโน้นเลยค่ะ 
 

*** ทางด้านของหุ้นประกันภัยที่หลายปากบอกมาว่าดี ถ้าจะนับตัวที่เด่นที่สุดก็จะเป็นทาง TIPH TVI และ AYUD ที่ตอนนี้จะมีดีอยู่บ้างก็เรื่องการขี่กระแสเรื่องรับอานิสงส์ดอกเบี้ยของเฟดเท่านั้น แต่เจ๊เมาธ์คิดว่าราคาที่กลุ่มนี้จะถูกดันสูงกว่าพื้นฐานมากแล้ว เล่นรอบอาจจะพอได้...แต่ถือยาวอาจจะต้องคิดดูให้ดีเจ้าค่ะ
 

*** ไม่บอกก็รู้ว่า CPF ได้อานิสงส์จากราคาหมูที่เพิ่มมากกว่าใคร เพราะหลังจากผูกขาดเรื่องหมูมานานจนทำให้ระบบ Supply Chain แทบจะทั้งหมดเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุม นี่ยังไม่รวมเรื่องที่กลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจำนวนมากต้องขายพ่อแม่พันธุ์หมูออกไป หรือบางรายถึงกับต้องเลิกเลี้ยงหมูไปเป็นการถาวร เพราะที่ทนรับสภาพราคาหมูที่ถูกกดต่ำและต้นทุนจากค่ายาและค่าอาหารสัตว์ที่ถูกผูกขาดมาหลายปีไม่ไหว จนทำให้ระบบการบริหารจัดการราคาหมูเกิดความบิดเบี้ยวจนควบคุมไม่ได้ ซึ่งการแก้ปัญหาระยะสั้นเฉพาะเรื่องราคาหมูแพงในส่วนของผู้บริโภค ก็อาจจะมองไปที่เรื่องของการที่ภาครัฐอนุมัติให้นำเข้าหมูจากต่างประเทศ เพื่อช่วยแชร์ส่วนแบ่งของตลาดเพื่อแก้ปัญหาการผู้ขาดราคาขายจากกลุ่มผู้ขายไม่กี่รายภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวแล้วการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศก็จะส่งผลกับผู้เลี้ยงหมูรายย่อยในประเทศเช่นกัน 
 

รอบนี้ไม่ว่าจะมองทางใดดูเหมือนว่างานนี้ทาง CPF ได้เปรียบในทุกทาง มันก็อย่างว่า...ลงทุนซื้อคน ซื้อกลไกทางการบริหารระบบและกลไกทางการตลาดมานานมันก็ต้องได้เปรียบกว่า ไม่พูดมาก...เอาเป็นว่างานนี้ราคาหุ้นของ CPF มีโอกาสกลับที่เดิม น่าจะประมาณว่าเทิร์นอะราวด์เลยเชียวค่ะ

*** 7UP ตัวเดิมกลับมาแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะการที่ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ไม่ต้องไปดูแลสมาคมฟุตบอลไทย เนื่องจากได้ตัวมาดามแป้ง “นวลพรรณ ล่ำซำ” มาเป็นผู้จัดการฟุตบอลไทยหรือเปล่า เพราะจากที่เจ๊เมาธ์ลองหาข้อมูลดูก็ยังไม่รู้ หรือยังไม่เห็นว่ามีปัจจัยพิเศษอะไรที่ทำให้ราคาหุ้นของ 7UP ปรับราคาขึ้นใหม่ในรอบนี้ เอ...หรือจะเป็นเพราะว่าการที่มาดามแป้งพาทีมชาติคว้าแชมป์ อาเซียนคัพ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 สมัยที่ 6 แล้วทำให้ท่านผู้ถือหุ้นใหญ่ของ 7UP ไม่จี้และไม่ถูกโฟกัสเรื่องการจัดการฟุตบอลทีมชาติ ...แล้วก็ไม่ต้องถูกแฟนบอลด่าเหมือนเดิมกันน๊าา เอาเป็นว่าถ้าจะให้ดีท่านสมยศก็ทำให้ราคาหุ้นของ 7UP มีเสถียรภาพที่มากกว่านี้ก็น่าจะดีนะคะ ไหนๆ ก็ปล่อยมือจนทำให้ฟุตบอลทีมชาติไทยดูดีขึ้นมา คราวนี้ก็ทำให้หุ้นที่เป็นผู้ถือหุ้นดูดีในสายตานักลงทุนขึ้นด้วยก็คงจะดีมากเลยค่ะ
 

*** ทั้งที่ OR เป็นหนึ่งในหุ้นที่มีอนาคตไกล แต่เพราะว่าความที่มีอนาคตไกลจนมาไม่ถึงสักทีที่ว่านี่หละมันทำให้ราคาหุ้นของ OR ถอยหลังลงมาตลอด เพราะถึงแม้ว่าเศรษฐกิจหลังโควิดจะทำให้การเดินทางและการบริโภคน้ำมันกลับเข้าสู่ที่เดิมแบบเมื่อก่อน แต่เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงเกินไป ก็ทำให้ภาครัฐต้องเข้ามาแทรกแซงจนทำให้ราคาได้จากการขายน้ำมันเชื้อเพลิงหายไป และถ้าจะหวังรายได้จากสินค้าที่ไม่ใช้น้ำมัน (Non-Oil) ก็อยู่ที่เดิมไม่มีความคืบหน้า ส่วนถ้าจะหวังเรื่องการเป็นสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ตอนนี้ก็ยังมีน้อยจนมองยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ ก็เอาเป็นว่าใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ OR ก็ทนรอต่อไปนะคะ หุ้นในอนาคตมันก็แบบนี้...ต้องรออนาคตเจ้าค่ะ 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,747 วันที่ 9 - 12 มกราคม พ.ศ. 2565