“ลดโทษ”คดีจำนำข้าว ลดความเชื่อมั่น “รัฐปราบโกง”

18 ธ.ค. 2564 | 07:00 น.
999

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3741 ระหว่างวันที่ 19-21 ธ.ค.2 564 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ


*** ยังคงต้องเกาะติดกันไปอย่างต่อเนื่องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสไวร้ายโควิด-19 สำหรับในประเทศไทยสถานการณ์การติดเชื้อใหม่ และผู้เสียชีวิตถือว่า “ดีขึ้น” ตามลำดับ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่และเสียชีวิต แนวโน้ม “ลดลง” โดยศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวันที่ 15 ธ.ค.2564 พบผู้ติดเชื้อใหม่ 3,370 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวัง 3,161 ราย, ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 78 ราย, ผู้ป่วยภายในเรือนจำ 111 ราย, ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 20 ราย จำนวนผู้หายป่วย 4,557 ราย รวมหายป่วยสะสม 2,083,275 ราย

*** ส่วนผู้ป่วยสะสมมี 2,149,413 ราย (ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) อยู่ระหว่างรักษา 46,315 ราย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่ม 29 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 21,260 ราย ย้อนไปเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.64 มีผู้ติดเชื้อใหม่ 3,787 ราย เสียชีวิต 20 ราย วันที่ 13 ธ.ค.64  ติดเชื้อใหม่ 3,398 ราย เสียชีวิต 23 ราย วันที่ 14 ธ.ค.64 ติดเชื้อใหม่ 2,862 ราย เสียชีวิต 37 ราย


*** ไล่เลียงดูแล้วสถานการณ์ของประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับ เพราะผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ในระดับต่ำกว่า 4 พันรายต่อวัน ขณะที่ผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับ 40-20 รายต่อวัน หากคนไทยได้รับการฉีด “วัคซีนโควิด” มากขึ้น และดูแลตัวเองให้ดีสม่ำเสมอ “การ์ด์ไม่ตก” ก็เชื่อว่าสักวันแนวโน้มการ “เสียชีวิต” น่าลดลงเหลือระดับ 10 ราย 

***  อัพเดท “โอมิครอน” ไวรัสโควิด-19 พันธุ์ใหม่ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) โดย เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผอ.องค์การอนามัยโลก ออกมาเตือนว่าเชื้อโควิด-19 ชนิดนี้กำลังแพร่ระบาดในอัตรารวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะนี้พบแล้วใน 77 ประเทศ และอาจมีอีกหลายประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้ว แต่ยังตรวจไม่พบ ขณะที่มาตรการต่าง ๆ ยังมีไม่เพียงพอที่จะรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ และแม้ว่า “โอมิครอน” จะไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมาก ๆ อาจจะทำให้ระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว หากไม่ได้เตรียมความพร้อมไว้ก่อน 


*** สำหรับ “โอมิครอน” ในไทย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ออกมาเปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1-11 ธ.ค. พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 8 ราย เป็นกลุ่มผู้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย มีการตรวจยืนยันว่า เป็นสายพันธุ์ดังกล่าว และอยู่ระหว่างการตรวจยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่อีก 3 ราย


***  ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. ออกมาว่า เป็นข่าวดีที่องค์การอนามัยโลก  และศูนย์ควบคุมเเละป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) ยืนยันว่า เชื้อ “โอมิครอน” จะเกิดไม่รุนแรง แต่ก็น่าเป็นห่วงเพราะแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา 2-5 เท่า แต่ถ้าดูข้อมูลบ้านเราในขณะนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลงมาเรื่อยๆ ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ถือว่าประชาชนช่วยกันด้วยดี แต่อยากให้ดูข้อแตกต่างระหว่างบ้านเรา กับ ยุโรป วัคซีนของยุโรปเขาฉีดได้ 80-90% แต่ติดเชื้อวันละถึง 3 หมื่นราย ส่วนที่เห็นชัดเขาต่างจากเราคือ ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องมาตรการ โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งต่างจากคนไทย 99% ใส่หน้ากากอนามัย จึงอยากเตือนพวกเรา “อย่าชะล่าใจ”  เพราะวัคซีนไม่ได้ป้องกัน 100% แต่เป็นพื้นฐานในการป้องกัน


+++ มีความเห็นจาก นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค บอกว่า กรณีที่ “อังกฤษ” มีการแพร่ระบาดสายพันธุ์โอมิครอนเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว อาจจะมาจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในประเทศ และประชาชนเริ่มผ่อนคลาย เมื่อออกนอกบ้านไม่ใส่หน้ากากอนามัยมากขึ้น มีการเดินทางมากขึ้น คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอาจจะติดเชื้อและเสียชีวิตได้ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลอังกฤษได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เนื่องจากส่วนใหญ่รับวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันอาจจะตกลง จำเป็นต้องฉีดวัคซีน 


*** ตอนนี้ คนไทยที่ยังไม่ฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 1 ประมาณ 2 ล้านคน ในจำนวนนี้คือกลุ่มที่มีโรคประจำตัวและผู้สูงอายุด้วย และอีกจำนวนหนึ่ง คือ กลุ่มไม่เอาวัคซีน ประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เมื่อติดโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหน โอกาสที่จะมีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากการติดโควิด-19 นั้น 80-90% ยังคงเป็นกลุ่มผู้สูงอายุกับกลุ่มที่มีโรคประจำตัว …เอาใครยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด ก็ต้องหาฉีด หรือฉีดเข็ม 1 แล้ว ก็ต้องฉีดเข็ม 2 ใครเข็ม 2 แล้วก็ต้องหาฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ซะ เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ถ้ายังไม่อยาก “ตาย” ว่าง่ายๆ อย่างนั้นเถอะ...


*** กำลังเป็นกระแสที่ร้อนแรงขึ้นในสังคมกับกรณีการ “ลดโทษ” ให้กับ “ผู้ต้องขัง” คดีทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะนักโทษในความผิดคดีโครงการ “จำนำข้าว” เพราะจากการ “ลดโทษ”ให้ที่ผ่านมา “ระดะบิ๊ก”หลายคนติดคุกอีกไม่กี่ปี หรือหากใครได้ “ลดโทษ” อีก ก็มีโอกาสออกมา “เสวยสุข” อยู่นอกตารางแล้ว 


*** ไล่เลียงดูคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาคแรก ที่ศาลฎีกา สั่งจำคุกเมื่อปี 2562 มี บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ สมัยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับโทษจำคุก 48 ปี แต่ลดโทษลงเหลือ 10 ปี  ภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ จากโทษจำคุก 36 ปี เหลือวันต้องโทษ 8 ปี มนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำคุก 40 ปี เหลือโทษจำคุก 8 ปี ส่วน อภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง กำหนดโทษจำคุก 48 ปี แต่ล่าสุดเหลือติดคุก 6 ปี 3 เดือน …โอ้แม่เจ้า


*** ใคร ใครกัน... ที่อยู่เบื้องหลัง “เสนอลดโทษ” งานนี้ทำเอาสังคมคาใจทั่วบ้านทั่วเมือง นโยบาย “ปราบโกง” ของ “รัฐบาล” สิ้นมนต์ขลังไปเลย ถึงขนาดที่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ต้องแถลงการณ์ด่วนถึงนายกฯ คัดค้านการลดโทษผู้ต้องขังคดีคอร์รัปชัน ให้พิจารณาทบทวนนำหลักเกณฑ์การอภัยโทษ เมื่อปี 2559 มาบังคับใช้ และกำหนดหลักเกณฑ์อย่างชัดเจน ในกระบวนการให้อภัยโทษ การลดหย่อนผ่อนโทษ การพักโทษ รวมทั้งให้กำหนดเพิ่มเติมถึงข้อห้ามที่เข้มงวดอย่างยิ่งสำหรับคดีคอร์รัปชันร้ายแรง และมีโทษรุนแรง ขณะที่ “นายกฯ ลุงตู่” ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม” 


*** ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ออกมาบอกว่า นายกฯ ให้ไปตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมา 1 คณะ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการ และการจัดชั้นนักโทษ รวมถึงให้ทำหน้าที่เสนอแนะว่าควรจะกำหนดหลักเกณฑ์อะไร อย่างไร ในการขอพระราชทานอภัยโทษในคราวต่อๆ ไป โดยคณะกรรมการชุดนี้มีเวลาทำงาน 1 เดือน ...ความหมายถ้าเป็นอย่างนี้ก็คือว่า จะไม่มีผลต่อการ “ลดโทษ” ที่ลดโทษให้ไปแล้ว แต่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ไม่ยอม ได้เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 230 (1) เพื่อขอให้นำความส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือ ตีความพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ 5 ฉบับที่ออกมา หลังรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ม.50 (10) และ ม.63 หรือไม่ 


*** ศรีสุวรรณ จรรยา ตั้งข้อสังเกตว่า การลดโทษผู้ต้องขังบางคน ซึ่งเป็นผู้ต้องขังตามคำพิพากษาของศาล ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมเคลือบแคลงและสงสัยอย่างมากว่า การออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษที่ผ่านมานั้น มีความผิดปกติอะไรหลายประการ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นในเรื่องของโทษที่เกี่ยวกับการคดีทุจริตคอร์รัปชัน ประเด็นสำคัญคือ ทำไมรัฐบาลโดยกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม จึงบรรจุบัญชีรายชื่อกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตฯ นี้ อยู่ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษด้วย 


*** การที่รัฐบาลเสนอพระราชกฏษฎีกาฯ หากมีผลขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ผลที่ตามมาต้องมีผู้ที่รับผิดชอบทางการเมือง โดยปกติความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาลก็คือ การลาออกและหมายถึงคณะรัฐมนตรีด้วย เพราะเรื่องเหล่านี้ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี ... การ “ลดโทษ” ผู้ต้องขังคดีทุจริตคอร์รัปชั่น กลับกลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องร้อนของรัฐบาลชุดนี้แล้ว