ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ “โอกาส” หลังโควิด-19

16 ธ.ค. 2564 | 12:30 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2564 | 19:44 น.

บทบรรณาธิการ

     นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา “GO Thailand : เปิดเมือง เปิดประเทศ เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ตอนหนึ่งว่า เทคโนโลยีดิสรัปชัน ซ้ำเติมด้วยวิกฤตโควิด-19 ให้บทเรียนว่า โลกเปลี่ยนแปลง เกิดความไม่แน่นอน ซับซ้อน คลุมเครือ และผันผวนสูง จะอยู่รอดและเข้มแข็งได้ คือ ต้องยืดหยุ่นคล่องตัวต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อบริหารจัดการวิกฤตที่เกิดขึ้นได้

     การที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีโครงสร้างที่พึ่งพาตลาดโลกมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ภาคบริการ การส่งออก ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเสนอว่าถึงเวลาทบทวน โดยต้องเร่งให้การบริโภคภายใน หรือโลคัลดีมานด์ ให้เป็นเครื่องยนต์สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น

     ทั้งนี้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หน่วยงานหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ชี้ว่า ปี 2565 เศรษฐกิจจะขยายตัวผ่าน 4 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่

     1.การส่งออก ที่มีทิศทางขยายตัวได้ต่อเนื่อง  2.การใช้จ่ายภาครัฐที่จะเข้าสู่ระบบ 1 ล้านล้านบาท มาจากงบลงทุนภาครัฐ  6 แสนล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3 แสนล้านบาท และอีก 1 แสนล้านบาท จะมาจากพ.ร.ก.กู้เงินฉบับเพิ่มเติม   

     3.การลงทุนภาคเอกชน ที่กลับมาแล้ว โดยปี 2563-2564 ที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้สูงสุด เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน โดยเฉพาะที่จะปรับสู่อุตสาหกรรมใหม่ (S-Curve) และ 4. การบริโภคของครัวเรือน ซึ่งรัฐจะสร้างความมั่นใจในการใช้จ่าย

     การที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้ครบทั้ง 4 ตัว จะสนับสนุนให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและสมดุล จากที่ในปี 2564 มีเพียงการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้อย่างเห็นได้ชัด โดย 10 เดือนแรกขยายตัวแล้ว 15.7%  จากเป้าเมื่อต้นปีที่ 4% มีลุ้นทั้งปีจะเติบโตได้ 15% โดยมีการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี และจากพ.ร.ก.กู้ ที่ใส่เข้าระบบ ประคองกำลังซื้อประชาชนในห้วงวิกฤตโควิด-19    

     การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่นั้น สาขาเศรษฐกิจที่ต้องผูกพันกับตลาดโลกเป็นหลัก อาทิ การส่งออก การท่องเที่ยว ภาคบริการต่างๆ ที่จะยิ่งเพิ่มขึ้นจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีออนไลน์ ยังคงต้องแข่งขันสร้างความเติบโตให้ประเทศเต็มศักยภาพ แต่ในเชิงนโยบายภาครัฐต้องให้น้ำหนักภาคครัวเรือนหรือตลาดภายในให้เข้มแข็งและเติบโตขึ้นมามีบทบาทในโครงสร้างเศรษฐกิจจากนี้ไปให้เพิ่มขึ้น

     ภาคครัวเรือนที่เข้มแข็งนั้นคือ คนไทยต้องมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้น จากการมีงานมีอาชีพที่มีผลิตภาพสูงขึ้น สร้างชนชั้นกลางให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งยังจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย-คนจน ที่ยังอยู่ในระดับสูงในสังคมไทย ให้ขยับเข้าใกล้กันมากยิ่งขึ้น

     ที่นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงว่า ปีหน้า 2565 จะเป็นปีที่พลิกโฉมประเทศไทย ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน จะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อผลักดันให้อนาคตของประเทศไทยสดใส เกิดขึ้นได้จริง