บทเรียนทุจริตจำนำข้าว บาดลึก-หลุมดำประเทศ

15 ธ.ค. 2564 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2564 | 02:04 น.
3.9 k

คอลัมน์ ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

     นโยบาย “ประกันรายได้-จำนำข้าว” ที่ล้วนมีเป้าหมายในการดูแลสินค้าเกษตรให้กับกลุ่มชาวนาที่มีอยู่ราว 8 ล้านครัวเรือน กลายเป็นปมถกเกียงกันอีกครั้ง เมื่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า “…โครงการประกันรายได้ ไม่ส่งเสริมการลดต้นทุน ไม่ส่งเสริมการผลิต และไม่ส่งเสริมการตลาด เป็นเพียงการชดเชยส่วนต่าง ซึ่งแตกต่างกับโครงการรับจำนำข้าว ที่เป็นการเข้าจัดการกลไกราคาตลาด ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ชาวนาขายข้าวได้มากขึ้น…”เสมือนเป็นการปลุกผีนโยบายจำนำขึ้นมาอีกครั้ง

     เป็นการโยนระเบิดท่ามกลางปัญหาเดิมที่ยังไม่มีการสะสาง กล่าวเฉพาะโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปี และนาปรัง ปีการผลิต 2554-2557 อคส.ฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้วในช่วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 1,143 คดี มูลค่าความเสียหายราว 500,000 ล้านบาท เป็นคดีแพ่ง 246 คดี คดีอาญา 897 คดี กลุ่มที่ดำเนินคดีอยู่ในกลุ่ม เช่น เซอร์เวเยอร์ เจ้าของคลัง

 

     อคส.ยังระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี และข้าวเปลือกนาปรังยังไม่หมดยังเหลืออยู่อีกราว 220,000 ตัน ที่ต้องหาทางให้หมดภายในเดือน ก.ย. 2565 เพื่อปิดบัญชีโครงการจำนำให้เสร็จ

     ปัจจุบันรัฐบาลยังมีภาระหนี้จากโครงการดังกล่าวที่ต้องชำระคืนให้กับธ.ก.ส. อีกกว่า 1 แสนล้านบาท คาดว่าสำนักงบประมาณจะมีการตั้งงบประมาณเพื่อจ่ายหนี้ ปีละ 10-20% ของงบประมาณรายจ่าย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี จึงจะชำระหนี้หมด

 

     ขณะที่ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้เตรียมปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว ซึ่งยังมีข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลที่ได้จากการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี และข้าวเปลือกนาปรัง ของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ที่รอการระบายอีกประมาณ 220,000 ตัน ทั้งหมดเป็นข้าวเสื่อมคุณภาพ ต้องขายเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมเท่านั้น คนและสัตว์บริโภคไม่ได้ โดย อคส. ตั้งเป้าหมายระบายให้หมดภายในเดือน ก.ย.2565  เมื่อเปิดให้มีการระบายจนหมดแล้ว จะทำให้สามารถปิดบัญชีโครงการรับจำนำได้ แล้วถึงจะทราบว่ามีผลขาดทุนเท่าไร

 

     ในโดยเบื้องต้น ประมาณ 5 แสนล้านบาท จากการทุจริตในโครงการจำนำข้าว ปีการผลิต 2554-57  ซึ่งได้มีการส่งฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้ว รวม 1,143 คดี และผลขาดทุนดังกล่าวยังไม่รวมผลขาดทุนจากการที่ต้องขายข้าวในราคาต่ำในการประมูลข้าวสารในสต๊อกในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากข้าวยิ่งเก่า ยิ่งขายได้ราคาต่ำ รวมทั้งยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่รัฐต้องจ่าย เช่น ค่าเช่าคลังสินค้าเพื่อฝากเก็บข้าวสารในสต๊อก เป็นต้น

 

     ขณะที่โครงการประกันรายได้ ที่รัฐบาลจ่ายเฉพาะเงินส่วนต่างระหว่างราคาประกันและราคาตลาด โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง โดยไม่มีภาระเรื่องการเก็บสต๊อกเพราะเกษตรกรเป็นผู้เก็บเพื่อจำหน่ายเอง ขณะนี้อยู่ในช่วงการจ่ายเงินสวนต่างฯ งวดที่ 3-7 (9-14 ธ.ค.) ส่วนงวดที่เหลือ คือ 8-33 จะทยอยจ่ายในลำดับต่อไป  ซึ่งจะมีพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้รับประโยชน์โดยตรงทันทีกว่า 4.7 ล้านครัวเรือน

 

     โครงการรับจำนำข้าวนั้นจากผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอพบว่า การทุจริตในโครงการรับจํานําข้าว แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับต้นน้ำ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การจดทะเบียนเกษตรกร จนถึงการที่เกษตรกรนําข้าวเปลือกไปส่งมอบให้โรงสีในโครงการรับจํานําข้าว และรับเงินจาก ธ.ก.ส. ซึ่งผมนำเสนอไปแล้วในตอนที่ผ่านมา

บทเรียนทุจริตจำนำข้าว บาดลึก-หลุมดำประเทศ

     มาดูการทุจริตใน ระดับกลางน้ำ คือ ช่วงที่โรงสีต้องสีข้าวเปลือกแล้วนําข้าวสารไปส่งมอบให้โกดังกลาง โดยมีเซอร์เวย์เยอร์เป็นผู้ตรวจปริมาณประเภทและลักษณะของข้าว

 

     การทุจริตระดับกลางน้ำที่เกี่ยวข้องกับโรงสีมี 2 เรื่องๆ แรกคือ การลักลอบซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์ของเกษตรกร (ดูรายงานการลักลอบในสื่อต่างประเทศ เช่น Reuters (2013) Eimer (2014) ) องค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ และเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกใน กัมพูชาคาดคะเนว่า น่าจะมีการลักลอบส่งข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่จังหวัดชายแดนของไทยใน ปี 2555 ถึงต้นปี 2556 ไม่ต่ำกว่า 0.5-1.5 ล้านตัน หนังสือเรื่องมหากาพย์โกงข้าวของหมอวรงค์ก็ได้ ส่งคนไปถ่ายรูปกระบวนการดังกล่าว (ดู วรงค์ 2557) เจ้าของโรงสีบางแห่งให้ข้อมูลว่าโรงสีที่ลักลอบนําข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาสวมสิทธิ์ของเกษตรกร มักเป็นโรงสีที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือ ในจังหวัดของผู้มีอิทธิพลทางการเมือง

 

     การทุจริตของโรงสีเรื่องที่สอง คือ โรงสีบางแห่งโดยเฉพาะโรงสีที่อยู่ในเครือข่ายของผู้มีอิทธิพลทางการเมือง ได้ลักลอบนําข้าวสารของโครงการจํานําออกไปหมุนขายหาเงินก่อน แล้วจึงหาซื้อข้าวราคาถูกมาส่งคืนในภายหลัง

 

     การลักลอบดังกล่าวทําให้เกิดปัญหาข้าวหายจากโกดังกลางถึง 2.9 ล้านตัน ตามรายงานของ คณะอนุกรรมการปิดบัญชี ที่ปรากฏเป็นข่าวในเดือนมิถุนายน 2556 (กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ 18 มิถุนายน 2556)

 

     การลักลอบนําข้าวสารจากโรงสีไปขายก่อนเกิดจากการที่ผู้ส่งออกข้าวและผู้ค้าส่งข้าวถุงไม่ สามารถซื้อข้าวได้ในตลาดเอกชน เพราะข้าวส่วนใหญ่อยู่ในมือรัฐบาล จึงมีนายหน้าติดต่อกับผู้ส่งออก (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ส่งออกข้าวนึ่ง เพราะข้าวนึ่งมีราคาสูงกว่าข้าวขาวทั่วไป) และผู้ค้าข้าวถุง ว่าตน สามารถจัดหาข้าวที่ผู้ซื้อต้องการได้ โดยคิดค่านายหน้าจากผู้ซื้อ จากนั้นนายหน้าดังกล่าวก็จัดการให้ โรงสีในเครือข่ายนําข้าวเปลือกจากโครงการจํานําไปส่งมอบให้โรงสีข้าวนึ่งของผู้ส่งออก หรือนํา ข้าวสารจากโครงการจํานําไปปรับปรุงสภาพตามเกรดข้าวที่ผู้ซื้อต้องการ แล้วส่งมอบให้ผู้ซื้อ

 

     หลังจากนั้นนายหน้าดังกล่าว ก็จะติดต่อหาซื้อข้าวเก่าจากรัฐบาล (ซึ่งเป็นข้าวจากโครงการจํานําก่อน สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์) ในราคาถูก หรือข้าวราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านมาส่งมอบให้แก่โกดังกลาง แทนโรงสี วิธีนี้นายหน้าจะต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอํานาจในการระบายข้าวเก่า รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐประจําโกดัง เซอร์เวย์เยอร์ และเจ้าของโกดังที่เป็นผู้ร่วมกระบวนการในเครือข่ายเดียวกัน เพราะหากปราศจากการคุ้มครองทางการเมือง เจ้าของโกดังเสี่ยงถูกลงโทษสูง

 

     โครงการจำนำข้าวหากนำมาเป็นนโยบาย จึงต้องพิจารณากันให้ดีนะครับ เงินได้ประชาชนเท่าไหร่ ทุจริตรายทางเป็นอย่างไร มันมีบทเรียนอันเจ็บปวดของคนไทยตลอดรายทางนะครับ