จากฐานันดรที่สี่สู่เจ้าของเหมืองหยก (19)

15 พ.ย. 2564 | 08:30 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลายวันก่อนคุณสุวรรณีแวะเข้ามาหาเยี่ยมเยือนผม เราได้พูดคุยกันถึงกลโกงต่างๆ ที่เธอถูกหลอกบนเหมืองหยกมาหลายครั้ง เป็นที่สนุกสนานมาก แต่ผมก็เหลือบไปเห็นแหวนที่เธอใส่อยู่ในนิ้วของเธอ ซึ่งเป็นแหวนที่แปลกๆ ซึ่งผมไม่เคยเห็นมาก่อน จึงได้สอบถามเธอว่าแหวนอะไร เธอบอกว่าอาจารย์เชยมากเลย ที่ไม่รู้จัก “แหวนนพเก้า” ซึ่งผมก็ยอมรับตรงๆ ว่าไม่มีความรู้เลยจริงๆ เธอจึงเล่าให้ฟังถึงแหวนดังกล่าวครับ
 

แหวนนพเก้า บ้างก็เรียกว่า แหวนนพรัตน์ หรือบ้างก็เรียกว่าแหวนพิรอดนพเก้า ซึ่งแหวนนพเก้ามีประวัติความเป็นมาช้านาน ตั้งแต่ยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นแหวนอันประกอบด้วยอัญมณีเก้าชนิดอยู่ในวงเดียวกัน ในอดีตมีไว้เฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น
 

ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้กำหนดให้นำอัญมณีนพเก้า(9 ชนิด) มาประดับตกแต่งบนเรือนแหวนเรียกว่า แหวนนพเก้า สำหรับพระราชทานให้แก่พระราชวงศ์ รวมถึงเพื่อไว้ปูนบำเหน็จให้แก่ขุนนาง ข้าราชการ และบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดิน
 

ภายในแหวนส่วนใหญ่จะมีการนำเอาอัญมณีเก้าชนิดมาใส่ไว้ คุณสมบัติในทางมงคลของอัญมณีทุกชนิดจะแตกต่างกันไปดังนี้ 1. เพชร ซึ่งมีความหมายถึงความยิ่งใหญ่ มีชัยต่อศัตรู ความร่ำรวย  2. ทับทิม ซึ่งหมายถึงความสำเร็จ ลาภยศ สรรเสริญ 3. มรกต ซึ่งหมายถึงความกล้าหาญ ความศัทธา ป้องกันภัยอันตรายทั้งปวง 4. บุษราคัม ซึ่งหมายถึง ความมีเสน่ห์ เป็นที่รักและความอยู่รอดปลอดภัย 5. โกเมน อายุยืน สุขภาพพลามัยแข็งแรง 6. นิลกาฬหรือไพลิน ซึ่งหมายถึงความเมตตากรุณา ความรัก ความร่ำรวย 7. มุกดาหาร หมายถึงความร่มเย็นเป็นสุข 8. เพทาย หมายถึงชัยชนะเหนือคดีความ หรือการเจรจาต่อรองต่างๆ  9. ไพฑูรย์หรือตาแมว หมายถึงเทวดาคุ้มครอง ป้องกันฑูตผีปีศาลทั้งปวง หรือบางคนที่ชอบเดินทางในตอนกลางคืนรอดปลอดภัย

 

 

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้คนที่หามาจะสวมใส่แหวนนพเก้า ส่วนใหญ่จะต้องให้ผู้ที่มีความรู้ตรวจเช็คราศีประจำตัวของตนเองเสียก่อน เพราะมีความเชื่อว่าอัญมณีแต่ละชนิด จะมีความจำเพาะเจาะจงกับโฉลกของแต่ละบุคคลแตกต่างกันออกไป บางคนจะถูกโฉลกกับอัญมณีนี้ แต่จะไม่ถูกโฉลกหรือมีดวงพิฆาตกับอัญมณีนี้ เป็นต้น
 

วิธีการแก้ไข ถ้าอัญมณีประเภทไหนที่มีดวงพิฆาตผู้ครอบครอง เขาก็นิยมให้แก้ด้วยการเปลี่ยนอีกชนิดอื่นเข้ามาใส่แทน ตัวอย่างเช่น ผู้ครอบครองมีดวงไม่ถูกโฉลกกับทับทิม เขาก็เอาหยกเข้าใส่แทนที่ทับทิมเป็นต้น ดังนั้นก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งให้กูรูทางนี้ ได้ทำการทำนายทายทักกัน ด้วยการนำดวงชะตามาผูกกับการทำแหวน สำหรับใช้เป็นวัตถุมงคลกันไป นี่เป็นความเชื่อส่วนบุคคลนะครับ ดังนั้นแฟนคลับทุกท่านโปรดใช้วิจารณญาณตนเองในการตัดสินใจนะครับ
 

มาคุยถึงเรื่องคุณสุวรรณีต่อดีกว่านะครับ หลังจากบุกป่าฝ่าดงขึ้นไปที่เหมืองหยก บนเขาปะกันเพื่อไปหาซื้อหยก มีการพบปะเล่ห์กลของนักค้าหยกบนภูเขามา ทำให้เธอแข็งแกร่งขึ้นเยอะ แต่ที่น่าตกใจคือ นอกจากที่จะต้องต่อสู้กับศึกนอกบ้านแล้ว เธอยังต้องสู้ศึกในบ้านอีก เหตุที่ทำให้ทราบในภายหลังคือ วันหนึ่งเมื่อ “เจ้าเชนคัมแบรค” ที่เธอให้ความไว้วางใจเกิดป่วยเป็นโรคไข้ป่ามาเลเรีย ถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ เธอจึงได้พาไปเข้าทำการรักษาที่โรงพยาบาลในเมืองมิจีน่า

เจ้าเชนเกิดตาเห็นธรรม ที่เจ้านายช่วยเหลือดูแลเป็นอย่างดี ในช่วงวาระสุดท้ายของเจ้าเชนที่กำลังใกล้จะมาถึง เจ้าเชนที่นอนอยู่บนเตียง ได้ขอทำการคาราวะเจ้านายเป็นครั้งสุดท้าย และได้สารภาพบาปว่า เขาได้ทำการยักยอกเอาหยกที่เคยเป็นของเจ้านายไปหลายครั้ง โดยเอาไปโดยไม่บอกกล่าว(ขโมย) ซึ่งอยู่ในช่วงที่เจ้านายเป็นเจ้าของเหมืองหยก และให้เขาเป็นคนเฝ้าดูแล เขาจึงนำออกไปขายโดยไม่นำเงินส่งให้เจ้านาย จึงขอให้เจ้านายอโหสิกรรมให้เขาด้วย เพราะเขาเชื่อว่านี่คือบาปที่ใหญ่หลวงมาก หากนายไม่อโหสิกรรมให้ บาปนี้จะต้องติดตามไปถึงชาติหน้า ตามความเชื่อของชาวเมียนมานั่นเอง
 

คุณสุวรรณีเล่าให้ฟังว่า เมื่อเธอได้ยินคำขออโหสิกรรมนั้น ทำให้เธอนึกถึงคำสอนของพ่อสามี ที่บอกว่า “ทรัพย์ในดินทุกชนิด พระเจ้าทรงประธานให้แก่มวลมนุษย์ ใครก็ตามบังอาจบดบังมาเป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียว จะถูกกรรมตามสนอง” เจ้าเชนคงจะถูกเจ้ากรรมนายเวรมาตามสนองกรรมที่ก่อไว้แน่ๆ เลย
 

ในช่วงที่กำลังรุ่งโรจน์ การค้าขายหยกกำลังไปได้สวย สุวรรณีได้ทำกำไรจากการซื้อมา-ขายไปอย่างสนุกสนานนั้น วันหนึ่งพ่อสามีได้มีผู้ใหญ่ในกองทัพที่เป็นเพื่อนกับท่าน ในสมัยที่ท่านรับราชการอยู่มาเยี่ยมที่บ้าน ทางผู้ใหญ่ท่านนั้นได้เอ่ยปากถามว่า สนใจจะเอาสัมปทานเหมืองหยกหรือไม่?
 

เธอตอบโดยไม่ลังเลเลยว่าสนใจมาก ทางผู้ใหญ่จึงบอกกับคุณพ่อของสามีว่า จะต้องทำการทำแผนงานไปขออนุญาตกับทางกองทัพได้เลย เดี๋ยวทางผู้ใหญ่ท่านนี้จะดำเนินการต่อให้ ซึ่งในตอนนั้นเธอเองก็ไม่ทราบว่าแผนงานดังกล่าวคืออะไรหรือจะต้องเขียนอย่างไร ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากท่านผู้ใหญ่ท่านนั้น ส่งคนมาจัดการสัมภาษณ์เธอและพ่อของสามี แล้วจึงเริ่มเขียนแผนเพื่อส่งไปขออนุญาติสัมปทานให้
 

ซึ่งในตอนต่อไปผมจะนำมาเล่าให้อ่านต่อนะครับ เพราะอาทิตย์นี้หน้ากระดาษได้หมดเสียแล้วครับ อย่าเพิ่งรำคาญเสียก่อนนะครับ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ