หนี้ครัวเรือนท่วมหัวคนไทย?

30 ต.ค. 2564 | 06:30 น.
1.3 k

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย... บากบั่น บุญเลิศ

วันนี้ผมจะพาท่านผู้อ่านมาติดตามปัญหา “หนี้ครัวเรือนของไทย” ที่กำลังท่วมหัวคนไทยกันอยู่ขณะนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์โดย Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 
    

หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวที่ 5.0% ซึ่งเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า และยังนับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ไตรมาส  โดยเป็นการเติบโตแบบเร่งตัวในสินเชื่อจากกลุ่มผู้ให้กู้ยืมหลักนำโดย ธนาคารพาณิชย์ สหกรณ์ออมทรัพย์ และ บริษัท บัตรเครดิต ลิสซิ่ง และ สินเชื่อส่วนบุคคล  


โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อครัวเรือนจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีสัดส่วนการให้ สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนสูงที่สุด ขยายตัวได้ที่ 6.0% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2562 ขณะที่สินเชื่อครัวเรือนที่กู้จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน  มีการเติบโตที่ชะลอลง

การเร่งตัวของสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ พบว่า เกิดจากการขยายตัวที่เร่งขึ้น ของสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสำคัญ โดยในไตรมาส 2 ปี 2021 ยอดคงค้างของสินเชื่ออุปโภคบริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์เติบโต 5.7% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโต 5.3% ตามการกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล (สัดส่วน  22.5% ต่อสินเชื่ออุปโภคบริโภครวมในระบบธนาคารพาณิชย์) ที่เร่งตัวขึ้นเป็นหลัก โดยเติบโตสูงที่ 8.4% เร่งขึ้น อย่างมีนัยสำคัญจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโต 5.9% 


ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนอื่นในระบบธนาคารพาณิชย์ มีแนวโน้มทรงตัวหรือชะลอตัวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เติบโตในอัตราเท่ากับไตรมาสก่อนหน้าที่ 6.8% ขณะที่สินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตมีการชะลอตัวลงในช่วงเวลาเดียวกัน 

ลักษณะการเติบโตของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ ที่นำโดยสินเชื่อส่วนบุคคล ประกอบกับการเติบโตในอัตราที่สูง และเร่งขึ้นของสินเชื่อจากบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล สะท้อนถึงแนวโน้มการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่าย ทดแทนสภาพคล่องที่หายไปตามรายได้ที่ลดลงของภาคครัวเรือนที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตของหนี้ครัวเรือนในช่วงนี้ 


และเป็นเทรนด์ที่ดำเนินมาต่อเนื่องในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับข้อมูลประกอบจาก Google  Trends ในส่วนของการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับ “เงินกู้-เงินด่วน” ซึ่งจากผลการค้นหาที่ปรากฏ สามารถเป็นได้ทั้ง หนี้ในและนอกระบบ โดยล่าสุดแม้ดัชนีจะมีแนวโน้มชะลอลงบ้างในไตรมาส 3 แต่ก็ยังสูงกว่าระดับก่อนโควิด 


ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ปริมาณหนี้ครัวเรือนไม่ได้ชะลอตัวลงตามสภาวะเศรษฐกิจ คือ การให้ความช่วยเหลือ ทางการเงินแก่ลูกหนี้รายย่อยทั้งในรูปแบบของการพักชำระหนี้ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ผ่านมา ของสถาบันการเงิน ซึ่งทำให้การชำระหนี้ของครัวเรือนมีน้อยลงกว่าปกติ อย่างไรก็ดีคาดว่าปัจจัยส่วนนี้จะเริ่มมีผล ลดน้อยลงหลังมาตรการช่วยเหลือของลูกหนี้บางกลุ่มเริ่มทยอยหมดลงในระยะถัดไป 


แม้หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 จะขยายตัวเร่งขึ้น แต่อัตราการเติบโตของ GDP ที่ปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับ ปีก่อนหน้าจากปัจจัยฐานต่ำทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยลดลงมาอยู่ที่ 89.3% ต่อ GDP จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 90.6% 


โดยไตรมาส 2 ปี 2564 GDP ณ ราคาปัจจุบัน (nominal GDP) เติบโต สูงถึง 10.7% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้าที่ nominal GDP หดตัวรุนแรงที่ -14.7% ส่งผลทำให้ผลรวมของ GDP ที่นำมาคำนวณสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ปรับดีขึ้นมาเป็น -1.4% ในไตรมาสที่ 2 จาก -7.3%  ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้


อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ 89.3% ในไตรมาส 2 ก็ยังถือว่าสูงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด โดย ณ สิ้นปี 2562 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่เพียง 79.8%  


EIC ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยอาจกลับมาสูงขึ้นได้อีกในปีนี้ ภายใต้สมมติฐาน การเติบโต Real GDP ปี 2564  ที่ 0.7% คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 2564 จะอยู่ในช่วง  90%-92% นั่นหมายความว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ 


โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 เกิดขึ้นมากและมีมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลต่อเศรษฐกิจ เพิ่มเติม ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะกลับมาปรับสูงขึ้นอีกครั้ง และอาจปรับเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีก หากการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนยังคงขยายตัวรวดเร็วในขณะที่เศรษฐกิจหดตัว 


แม้ในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จะเริ่มคลี่คลาย นำไปสู่การทยอยเปิดเมือง และการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ตามลำดับ แต่ภาวะหนี้สูงของภาคครัวเรือนไทยน่าจะยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้อง ใช้เวลาในการแก้ไขไปอีกหลายปี 


ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ซึ่งบางส่วนยังมีการถูกพักชำระไว้ชั่วคราว ในระยะต่อไปที่ครัวเรือนต้องกลับมาชำระหนี้จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีความท้าทายทั้งในแง่ของการบริหารจัดการหนี้ และการใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับครัวเรือนที่มีสภาพคล่องจำกัด 


นอกจากนี้ ในส่วนของรายได้ภาคครัวเรือนก็น่าจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ตามตลาดแรงงานที่ได้รับผลกระทบหนักและฟื้นตัวกลับมาไม่ง่าย เพราะงานหลายประเภทโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวลดลงไปมากและจะฟื้นตัวช้า 


ขณะที่แนวโน้มงานที่เติบโต หลังโควิด เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือ ไอที ก็ต้องการทักษะแรงงานที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้แรงงานที่ตกงานออกมา ในช่วงโควิดจำนวนไม่น้อยอาจไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยที่ได้รายได้เหมือนช่วงก่อนโควิด