พิษ“Save#พานทองแท้” “เช็ค26ล้าน”พ้นคดีฟอกเงิน

20 ต.ค. 2564 | 14:40 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2564 | 22:20 น.
2.0 k

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย…บากบั่น บุญเลิศ

“อาชญากร มักจะทิ้งร่องรอยหลักฐานไว้ในสถานที่เกิดเหตุเสมอ (Edmond Locard เคยกล่าวไว้ว่า “Every Contact Leaves Trace: การสัมผัสทุกครั้งยอมทิ้งร่องรอย”) กลายเป็นหัวใจของการสืบสวนและสอบสวนฉันใด...
 

กระบวนการตรวจสอบองค์กรของรัฐก็ควรจะสืบสาวลงไปใน “เหตุและผลของกระบวนการตัดสิน” แล้วจะพบร่องรอยต้นตอของการตัดสินใจได้ฉันนั้น!
 

ปมปัญหา “คดีฟอกเงินกู้ธนาคารกรุงไทย ที่เกี่ยวกับ “โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร” บุตรชาย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในส่วนของเส้นทางเงินก้อนที่ 2 วงเงิน 26 ล้านบาท ที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง นายพานทองแท้ และนางเกศินี จิปิภพ มารดาของนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร...ที่เห็นว่า พยานหลักฐานไม่พอที่จะสั่งฟ้อง และพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็เห็นสมควร “สั่งไม่ฟ้อง” เมื่อ 12 ตุลาคม 2561 กำลังกลายมาเป็น “มหากาพย์ว่าด้วยพิษสงในกระบวนการยุติธรรมของไทยในปัจจุบัน”
 

เพราะในช่วงวันที่ 12 ตุลาคม 2561 แม้ทางสำนักงานอัยการสูงสุด และดีเอสไอ จะมีมติเหมือนกันจากสถานการณ์พิเศษ “สั่งไม่ฟ้อง-พานทองแท้ ในคดีเช็ค 26 ล้านบาท” แต่ในส่วน นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยาของนายทักษิณ กับนายวันชัย หงษ์เหิน ผู้เป็นสามีนั้น สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็น “สั่งฟ้อง” ในข้อหา “ฐานสมคบ และร่วมกันฟอกเงิน เฉพาะการรับเช็ค 26 ล้านบาท” 
 

ขนาดที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประกาศดังลั่นในขณะนั้นว่า... “ในส่วนของนางกาญจนาภา-นายวันชัย ที่กลายเป็นผู้ต้องหานั้น ได้สั่งให้ติดตามนำตัวผู้ต้องหาไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯให้ได้...”
 


 

เป็นคำประกาศ ขณะที่นางกาญจนาภา และ นายวันชัย ซึ่งถูกออกหมายจับหลบหนีคดีไปนอกประเทศ ต่อมาสายสืบบ้านใหญ่จับบ้านเล็กพบว่า เบาะแสสุดท้ายพำนักอยู่ที่เกาะฮ่องกง...และปัจจุบันยังตามตัวมาไม่ได้
 

เวลา 3 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก แต่แล้วเหมือนฟ้าผ่า...เปรี้ยงลงมากลางใจผู้คน...จนชักดิ้นชักงอกันทั้งปฐพี!
 

7 ตุลาคม 2564  นายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดแถลงข่าวกรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งกลับคำ “สั่งยกฟ้อง” ในคดีฟอกเงินกู้ธนาคารกรุงไทย กรณีแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาท ในส่วนของ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน และนายวันชัย หงษ์เหิน ผู้เป็นสามี โดยได้ส่งหนังสือความเห็นกลับคำสั่งเป็น “สั่งไม่ฟ้อง” กลับไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า จะโต้แย้งความเห็นของพนักงานอัยการที่กลับความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้หรือไม่
 

เหตุและผลที่ “ผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุด 2 คน” ที่เป็นบรมครูยกมาชี้แจงคือ...เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 2 นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 3 ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีพิเศษ 4 ขอให้ทบทวนคําสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง 
 

ผู้ต้องหาทั้งสอง อ้างว่าข้อเท็จจริง รูปแบบพฤติการณ์ ที่กล่าวหาเป็นกรณีเดียวกันกับที่กล่าวหา นายพานทองแท้ ชินวัตร ซึ่งศาลได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้องไปแล้ว อีกทั้งมูลเหตุก็เป็นกรณีสืบเนื่องจากการกล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร และเป็นเหตุให้นาย ทักษิณ ชินวัตร ถูกฟ้อง ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่ไต่สวนฟังไม่ได้ว่า นายทักษิณ กระทําความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้ว



 

นอกจากนี้ ยังกล่าวอ้างว่าเช็คที่ นายวิชัย กฤษดาธานนท์ สั่งจ่ายเงิน 26 ล้านบาท ที่เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาทั้งสองถูกกล่าวหาคดีเป็นธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของ บริษัท ช.การช่าง ในตลาดหุ้น บริษัท หลักทรัพย์ธนชาติ ต่อมา มีการขายหุ้นและได้คืนเงินลงทุนพร้อมกําไรแล้ว 27 ล้านบาทเศษไปแล้ว มีทั้งพยานบุคคล และพยานเอกสารสนับสนุน
 

พนักงานอัยการพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากการร้องขอความเป็นธรรม จึงเห็นว่า คดีมีข้อเท็จจริงใหม่ตามที่ผู้ต้องหาทั้งสอง ร้องขอความเป็นธรรม เพราะ.....
 

1.เพราะคดีที่ฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร และนายพานทองแท้ ชินวัตร ซึ่งศาลต่างยกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว 
 

2.ตามระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดําเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 (ซึ่งเป็นระเบียบที่บังคับใช้ในขณะนั้น) ข้อ 58 ก็วางหลักเกณฑ์ให้เป็นแนวทางปฏิบัติของพนักงานอัยการทั่วประเทศในการดําเนินคดีอาญาไว้ด้วยว่า ในคดีที่มีผู้ต้องหาหลายคนกระทําความผิดในคดีเดียวกันและได้ฟ้องผู้ต้องหาบางคนไว้แล้ว แต่ต่อมาศาลยกฟ้อง ในเหตุลักษณะคดีและคดีเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้วให้พนักงานอัยการทบทวนความเห็นหรือคําสั่ง สําหรับผู้ต้องหาที่สั่งฟ้องและยังจับตัวไม่ได้ไว้ด้วย
 

3. พนักงานอัยการยังเห็นว่า ทางคดีไม่มีพยานหรือข้อเท็จจริงใดๆ ว่าผู้ต้องหา ทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย หรือมีบทบาทหรืออํานาจใดๆ ในการบีบบังคับธนาคาร ตลอดจนไม่มีส่วนรู้เห็นถึงกระบวนการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย ให้กับกลุ่มนายวิชัย กฤษดาธานนท์กับพวกดังกล่าว 
 

4.พนักงานอัยการ เห็นว่า การร้องขอความเป็นธรรม มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็นและคําสั่ง จึงมีคําสั่งกลับความเห็นเดิมที่สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง เป็นสั่งไม่ฟ้อง นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 2 นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 3 ในข้อหาร่วมกัน ฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน

ฟังความอัยการมาช่างมีเหตุผลเชิงประจักษ์ แต่ผมอยากชวนเชิญสาธารณชนทั่วประเทศมาพิจารณา “ร่องรอยหลักฐานไว้ในสถานที่เกิดเหตุ” ร่วมกันแต่ละเรื่องไป ดังนี้.....
 

1.เมื่อตอนปี 2561 ที่มีคำสั่งฟ้องนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 2 นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 3 ในข้อหาร่วมกัน ฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน จากการรับเช็ค 26 ล้านบาท “อัยการ-ดีเอสไอ” รู้หรือไม่มาว่า คดีที่ฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร ศาลสั่งยกฟ้อง...คำตอบคือรู้ใช่มั้ย?
 

2.เจ้าพนักงานอัยการทราบ ระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดําเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 58 ที่วางหลักเกณฑ์ให้เป็นแนวทางปฏิบัติของอัยการทั่วประเทศในการดําเนินคดีอาญาในคดีเดียวกันและศาลสั่งยกฟ้องหรือไม่...คำตอบคือ รู้ใช่มั้ย?
 

3.คดีรับเช็คของนายพานทองแท้ ชินวัตร ซึ่งผู้บริหารสำนักงานอัยการ 2 ท่าน บอกว่า ศาลยกฟ้องนั้นน่าจะผิด...เพราะ
 

คดีที่ศาลมีคำสั่งยกฟ้องนายพานทองแท้ ชินวัตร เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2562 เป็นคดีฟอกเงินกู้ธนาคารกรุงไทย ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5, 9, 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91 กรณีนายพานทองแท้รับโอนเงินเป็นเช็ค 10 ล้านบาทเข้าบัญชี มิใช่คดีรับเช็ค 26 ล้านบาทแต่อย่างใด...
 

...และต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุดนี่แหละ โดย นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่อุทธรรณ์คดี..ใช่หรือไม่?
 

ส่วนคดีฟอกเงินกรณีแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาทของนายพานทองแท้ที่พ้นมลทินจนนำมาซึ่งการร้องขอความเป็นธรรมที่กำลังรอดีเอสไอพิจารณาเห็นแย้งหรือสนับสนุนให้ยกฟ้องนั้น...
 

เป็นเพราะอัยการสั่งไม่ฟ้อง นายพานทองแท้ และนางเกศินี จิปิภพ มารดาของนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานไม่พอที่จะสั่งฟ้อง และพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ก็เห็นสมควรสั่งไม่ฟ้อง มิใช่หรือ...
 

ซึ่งในทางกระบวนการยุติธรรม นี่เป็นข้อหาที่ฉกาจฉกรรจ์อย่างยิ่งว่า เป็นการตัดตอนกระบวนการพิจารณาตัดสินในชั้นศาลสถิตยุติธรรม แม้จะเป็นระเบียบที่ให้อำนาจ แต่ดุลยพินิจที่ว่ามีช่องโหว่มากมายให้อับอายขายหน้า เหมือนคดีบอส กระทิงแดง ใช่หรือไม่ ?
 

4.ที่พนักงานอัยการยังเห็นว่า ทางคดีไม่มีพยานหรือข้อเท็จจริงใด ๆ ว่าผู้ต้องหา ทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย หรือมีบทบาทหรืออํานาจใด ๆ ในการบีบบังคับธนาคาร ตลอดจนไม่มีส่วนรู้เห็นถึงกระบวนการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย ให้กับกลุ่มนายวิชัย กฤษดาธานนท์กับพวกดังกล่าว...นั้นเป็นความคิดของอัยการใช่หรือไม่
 

แล้วทำไมเวลาแค่ 3 ปี ความเห็นของ “อัยการ” จึงสวนทางกับมติเดิมของอัยการสูงสุด และดีเอสไอ ที่สั่งฟ้องนางกาญจนภาหงษ์เหิน และ นายวันชัย...?!?
 

5.พนักงานอัยการสูงสุด รับรู้หรือไม่ว่า การสั่งไม่ฟ้องนายพานทองแท้ ในคดีรับเช็ค 26 ล้านบาทเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2561 นั้นจะทำให้ผู้ต้องหาอื่นในคดีเดียวกัน สามารถร้องขอความเป็นธรรม ตาม ระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดําเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 58 วางหลักเกณฑ์ให้เป็นแนวทางปฏิบัติของพนักงานอัยการในการดําเนินคดีอาญาไว้ว่า ในคดีที่มีผู้ต้องหาหลายคนกระทําความผิดในคดีเดียวกันและได้ฟ้องผู้ต้องหาบางคนไว้แล้ว แต่ต่อมาศาลยกฟ้อง ในเหตุลักษณะคดีและคดีเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้วให้พนักงานอัยการทบทวนความเห็นหรือคําสั่ง สําหรับผู้ต้องหาที่สั่งฟ้องและยังจับตัวไม่ได้ไว้....

ในประเด็นนี้ ถ้าบอกว่าไม่รู้เลย ...ประเทศสาระขันธ์แห่งนี้ คงต้องจับบรรดามือกฎหมายของประเทศไปเข้าตะแลงแกง หรือไปเข้าคอร์สฝึกว่าด้วยเรื่อง “ระเบียบวิธีการและกระบวนการสอบทาน” กันให้หมดทั่วทั้งพารา...
 

“ซ่อม”กันให้หนัก ไล่ตั้งแต่ระดับชั้นต้น ผู้บริหารสูงสุด ยันระดับกรรมการอัยการด้วยก็ไม่แปลก
 

เพราะความเห็นของคณะทำงานในสำนักอัยการคดีศาลสูง สำนักงานอัยการสูงสุด ที่มีมติพิลึกพิลั่น “Saving Private Oak-Panthongtae” ไม่ยื่นอุทธรณ์คดีฟอกเงินของนายพานทองแท้ ในคดีรับเช็ค 10 ล้านบาทเศษ ทั้งๆ ที่ช่วงเดือน เมษายน 2563 ดีเอสไอทำความเห็นกลับไปยังอัยการสูงสุดว่า คดีนี้มีประเด็นควรให้ศาลสูงวินิจฉัย จึงขอให้อุทธรณ์คดี แต่รองอัยการสูงสุดรายหนึ่งที่ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ได้ลงนามคำสั่งชี้ขาด “ไม่ยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าว” จึงทำให้คดีนี้จึงถึงที่สุด...นี่แหละเป็นต้นตอ
 

ทั้งๆ ที่ในช่วงวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ได้ยื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 6 และศาลพิจารณาอนุญาตให้ขยายเวลาอุทธรณ์ออกไปได้ถึง 25 มิถุนายน 2563 แต่ในเวลาเดียวกันเป๊ะนั้น รองอัยการสูงสุด ได้ลงนามคำสั่งชี้ขาด “ไม่ยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าว” คดีนี้จึงถึงที่สุด แล้วมาบอกสาธาณระชนว่า อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ไม่รู้เรื่อง...
 

เมื่อนำต้นเหตุที่หนึ่งมาบวกกับต้นเหตุที่สองคือการพิจารณาตัดสินใจของสำนักงานอัยการสูงสุดที่สั่งไม่ฟ้อง นายพานทองแท้ และนางเกศินี 
 

จิปิภพ มารดาของนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ในคดีฟอกเงินกรณีแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาท เพราะเห็นว่า พยานหลักฐานไม่พอที่จะสั่งฟ้อง และพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ก็เห็นสมควรสั่งไม่ฟ้อง จึงเป็นเหตุให้ผู้ต้องหา 2 คน ที่เกี่ยวพันกับคดีฟอกเงินยื่นขอความเป็นธรรม และอัยการเห็นด้วยจึงมีมติกลับคำสั่ง เป็น “สั่งไม่ฟ้อง” คนในครอบครัวชินวัตร ใช่หรือไม่
 

หาร่องรอยมาให้ขนาดนี้ ใครช่วยตอบผมทีว่า ควรทำอย่างไรกันดีในประเทศสาระขันธ์แห่งนี้...
 

และถ้าทางอธิบดีดีเอสไอลงนามไม่เห็นแย้งในคดีนี้อีก โปรดดับไฟนอนกันเถอะพ่อแม่พี่น้องไทย ผมจะเกาะติดคดีนี้ให้ถึงที่สุด
 

เพราะผมเห็นแบบเดียวกับคุณทักษิณ ชินวัตร และคุณพานทองแท้ ชินวัตรว่า “ไม่มีความเลวร้ายใดที่จะยิ่งไปกว่า ความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือในนามของกระบวนการยุติธรรม : There is no crueler tyranny than that which is perpetuated under the shield of law and in the name of justice.” ที่มองเตส กิเออร์ นักคิดนักต่อสู้ชาวฝรั่งเศส เคยกล่าวไว้เมื่อปีค.ส.1689-1755 จนลื่อสั่นไปทั้งโลก