“เขากระโดง”ประเทศ ฤา..คำพิพากษาศาลไม่มีผล

13 ต.ค. 2564 | 14:00 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2564 | 20:47 น.
3.0 k

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

หากนับตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.2564 ถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่า 90 วัน เข้าไปแล้ว ที่การดำเนินการยึดที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกายังไร้ซึ่งการดำเนินการแต่อย่างใด
 

นับเป็นเวลากว่า 90 วันเศษ ที่ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำหนังสือเลขที่ รฟ1/1911/2564 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 564 ถึง อธิบดีกรมที่ดิน  เรื่อง ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในพื้นที่บริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ประมาณ 5,083 ไร่ 
 

ประกอบด้วย 1.ที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง กม.000 ถึง กม.8+000 เนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของ รฟท. ตาม พ.ร.ฎ.การกำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี พ.ศ.2462 และพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออก พ.ศ.2464
 

2.โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ออกเมื่อวันที่ 26 ต.ค.2515 เนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 55.8 ตารางวา ซึ่งเดิมเป็นของนายชัย ชิดชอบ (เสียชีวิต) และโฉนดที่ดินเลขที่ 8564 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ออกเมื่อวันที่ 13 ส.ค.2518 เนื้อที่ 37 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา ของนางกรุณา ชิดชอบ พื้นที่รวม 44 ไร่เศษ ซึ่งที่ดินดังกล่าวตามสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกล่าวหาเลขที่ดำที่ 51910034 เรื่องกล่าวหาเลขแดงที่ 14959054 เมื่อช่วงเดือน ก.ย.2554 ที่ระบุว่า การออกโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง เป็นการออกโฉนดในที่ดินของ รฟท.
 

3.ที่ดินในเขตแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 842-876/2560 ลงวันที่ 16 ก.พ.2560 และคดีหมายเลขแดงที่ 8027/2563 ลงวันที่ 22 พ.ย.2561 ในลักษณะที่ว่า ที่ดินพิพาทในคำพิพากษาทั้ง 2 คดีดังกล่าว เนื้อที่รวม 194 ไร่  เป็นที่ดินของ รฟท.
 

ในหนังสือดังกล่าวแจ้งไปยังอธิบดีกรมที่ดิน “เพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทั้งหมด และแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบภายใน 90 วัน หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวการรถไฟแห่งประเทศไทย จะได้ใช้สิทธิทางศาลต่อไป” 
 

นอกจากทำหนังสือไปถึงอธิบดีกรมที่ดินแล้ว นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท.ยังทำหนังสือไปถึง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่กำกับดูแล รฟท. ให้รับทราบเรื่องที่ขอให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ออกทับที่ดินการรถไฟฯบริเวณเขากระโดงด้วย
 

ทั้ง 2 คดี ศาลฎีกามีคำพิพากษาและวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทในพื้นที่เขากระโดง ตามแผนที่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของการรถไฟฯ พิพากษาให้ขับไล่ รื้อถอน และให้ราษฎรชดใช้ค่าเสียหายให้กับการรถไฟฯ เนื่องจากแนวของคำพิพากษาเป็นการพิจารณาในครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ ทั้งแปลงมีจำนวนเนื้อที่ 5,083 ไร่ 80 ตารางวา อันเป็นที่หวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน เข้าลักษณะเป็นที่ดินรถไฟมาตรา 3(2) ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติจัดวางทางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6(1) (2)
 

ในมาตราทั้ง 2 นั้น กำหนดห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟ หรือ อสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นของรถไฟ ห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใดๆ ถือกรรมสิทธิ์ เข้าครอบครองทำประโยชน์ด้วยวิธีใดๆ ตราบใดที่ยัง “ไม่มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเป็นพิเศษว่าทรัพย์นั้นๆ ขาดจากเป็นที่ดินรถไฟ และมีการเพิกถอนหรือแก้ไขพระราชกฤษฎีภาสงวนที่ดินของการรถไฟฯ”  
 

ดังนั้นศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากศาลฎีกาได้แจ้งผลคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 62 กรมที่ดินต้องมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย
 

ประเด็นคือ หากนับจาก 23 มิถุนายน 2564 ถึงตอนเขียนต้นฉบับคือ วันที่ 12 ตุลาคม 2564 เป็นเวลากว่า 109 วัน ถือว่า พ้นกำหนดระยะเวลา 90 วันแล้ว 
 

ยังไม่มีใครทราบว่า กรมที่ดินจะดำเนินการเพิกถอนโฉนดและเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกทับที่ดินรถไฟฯ บริเวณเขากระโดงหรือไม่
 

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของข้อกฎหมาย กรณีที่มีการออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินโดยมิชอบนั้น ในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ถือเป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดินที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่ดิน โดยกำหนดให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจสั่งเพิกถอน หรือแก้ไขโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือคลาดเคลื่อน
 

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และสามารถขยายการสอบสวนได้อีก 60 วัน 
 

นั่นหมายความว่า กรมที่ดินมีเวลาดำเนินการต้องสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน  
 

ถ้าเป็นไปตามรูปการณ์นี้ ผมขอฟันธงลงไปตอนนี้ได้เลยว่า...การดำเนินการเอาที่หลวงคืนมาในประเทศสารขันธ์นคร จะพิลึกกึกกือเอามากๆ...เพราะจะบีบบังคับให้
 

1. การรถไฟฯ ต้องพลิกเกมใหม่ด้วยการฟ้องกรมที่ดินต่อศาล....อะฮ้า..มึนละสิว่าฟ้องทำไม ฟ้องกรมที่ดินเพื่อขอให้ศาลสั่งให้กรมที่ดิน ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินและเอกสารสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าว เนื่องจากกรมที่ดินเป็นผู้ออกเอกสารสิทธิ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้กับชาวบ้าน....
 

2. การที่กรมที่ดินมีหนังสือแจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงใดบ้างที่ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้กรมที่ดินเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่นั้น อาจจะเป็นสัญญาณว่าจะต้องมีการฟ้องการเพิกถอนโฉนดเป็นรายแปลงก็เป็นไปได้
 

3. การรถไฟฯ จะไม่ดำเนินการยึดที่ดินมาเป็นของตัวเองแน่นอน แต่จะอ้างว่า การรถไฟฯ ไม่ต้องการไปทะเลาะกับชาวบ้าน และการเพิกถอนโฉนดเป็นหน้าที่ของกรมที่ดิน 
 

คดีการครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเขากระโดง จึงเป็นประวัติศาสตร์ของการบังคับใช้กฎหมายของรัฐกับผู้บุกรุกที่ทรงพลานุภาพของสาระขันธ์ประเทศ ไม่เพียงแต่มีครอบครอง ส.ค.1 มากกว่า 35 ราย มีการออกเอกสารสิท์ให้กับผู้ถือครอง นส. 3 ก อีกกว่า 500 ราย และมีการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชนที่ถือครองโฉนดที่ดินมากกว่า 320 ราย 
 

ปัจจุบัน แผนที่แนวเขตที่ดินการรถไฟฯบริเวณเขากระโดงหลายแปลงเป็นของนักการเมืองในพื้นที่ เช่น บ้านพักของศักดิ์สยาม ชิดชอบ บ้านพักของซ้อต่าย-นางกรุณา ชิดชอบ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ทำการของบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด และสนามกีฬาช้างอารีนา 
 

ความจริงการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว จัดการได้ไม่ยากเลยในทางปฏิบัติ หาก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมาชิกครอบครัวตระกูลชิดชอบ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดิน 1 ใน 2 แปลงที่ออกโฉนดมาตั้งแต่ พ.ศ.2554 มีคำสั่งให้ รฟท. ดำเนินการตามกฎหมายกับการออกโฉนดโดยมิชอบในที่ดินเขากระโดงซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้เป็นตัวอย่างในการบังคับใช้กฎหมาย
 

จากนั้นตัวเองและครอบครัวขอคืนที่ดินตามโฉนดที่ครอบครองให้แก่การรถไฟฯ ให้เป็นตัวอย่างของการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย 
 

แค่นี้พระเอกตัวจริงก็วิ่งมาเคาะประตูคนในบ้านของตระกูลชิดชอบ...