เปิดจุดยืนทำไม รฟท.ไม่ฟ้อง ประชาชน บุกรุก"ที่ดินเขากระโดง

03 ก.ย. 2564 | 16:02 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2564 | 23:21 น.
678

การรถไฟฯ ย้ำจุดยืนกรณีแก้ปัญหาข้อพิพาท ที่ดินเขากระโดง ยึดปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย-หลักธรรมมาภิบาล อย่างเคร่งครัด สาเหตุ ไม่ฟ้องประชาชนบุกรุก

 

 

 

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงและให้ข้อมูลต่อพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชน

 

กรณีการอภิปรายของนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนราธิวาส พรรคประชาชาติ ที่มีการกล่าวถึงการดำเนินการของการรถไฟฯ เกี่ยวกับกรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินข้อพิพาทที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนบริเวณพื้นที่เขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้วางกรอบการดำเนินการและการบริหารที่ดินของการรถไฟฯ โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งองค์กร ประชาชน และประเทศชาติ ที่ดินของการรถไฟฯ ที่ดินของการรถไฟ มีจำนวนทั้งสิ้น 245,807.97 ไร่ มีที่มาของกรรมสิทธิ์ที่ดิน

จาก 6 ช่องทาง คือ การได้มาโดยพระบรมราชโองการ การเวนคืน การจัดซื้อ การรับมอบจากประชาชน การจับจอง และการแลกเปลี่ยนพื้นที่โดยรวมของการรถไฟฯ ทั้งหมดทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่

1. พื้นที่ใช้ในการเดินรถในปัจจุบัน 190,606.97 ไร่ อาทิ พื้นที่ย่านสถานี พื้นที่บ้านพักและที่ทำการ พื้นที่เขตทางรถไฟ พื้นที่โรงรถจักร โรงซ่อมบำรุง

2. พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการเดินรถในปัจจุบัน 55,201 ไร่ แบ่งออกเป็น

2.1 พื้นที่ที่นำมาจัดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้

นำออกจัดประโยชน์แล้ว 5,205 ไร่

อยู่ระหว่างดำเนินการ 49,996 ไร่

2.2 พื้นที่ที่ยังไม่สามารถนำมาจัดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ แบ่งออกเป็น

ที่ดินที่มีการบุกรุก มีผู้บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินของการรถไฟฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 18,822 ราย ประกอบด้วย พื้นที่ในเขตกรุงเทพปริมณฑล 1,538 ราย พื้นที่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 911 ราย นครราชสีมา ขอนแก่น ศรีสะเกษ และจังหวัดใกล้เคียง 3,045 ราย นครสวรรค์ พิษณุโลก จังหวัดใกล้เคียง 869 ราย และพื้นที่ในจังหวัดอื่นๆ 12,459 ราย

ที่ดินที่มีข้อพิพาท ซึ่งมีการออกเอกสารสิทธิ์บนพื้นที่ที่สันนิษฐานว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ เช่น พื้นที่บริเวณพังงา-ท่านุ่น จ.พังงา พื้นที่บริเวณอรัญประเทศ จ. สระแก้ว พื้นที่บริเวณบ้านโพธิ์มูล จ.อุบลราชธานี พื้นที่บริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น

สำหรับที่ดินที่มีข้อพิพาทนี้ การรถไฟฯ ได้ยึดแนวทางในการดำเนินการทุกขั้นตอนบนหลักการว่า ประชาชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการ และอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว ถือว่าเป็นผู้อาศัยในที่ดินโดยสุจริต โดยจะต้องมีการดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ อาจเกิดจากกระบวนการสำรวจและออกเอกสารสิทธิ์ที่คลาดเคลื่อนในอดีตทำให้เกิดกรณีของการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อน ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของการพิสูจน์สิทธิ์และขั้นตอนของกฎหมายมาโดยตลอด

การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินทั่วประเทศของการรถไฟฯทำอย่างไร 

กระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมการดำเนินการของการรถไฟฯ     ในด้านการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินทั่วประเทศ การรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ โดยการเจรจาให้ผู้บุกรุกเข้าทำสัญญาเช่า ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯ อีกทางหนึ่งด้วย

2.การจัดตั้งบริษัทลูกบริหารทรัพย์สิน ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการโดยตรงอย่างมืออาชีพเพื่อเพิ่มพูนรายได้ในการบริหารที่ดินให้กับ รฟท.

การดำเนินการของกระทรวงคมนาคม

ได้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ ดังนี้มีคำสั่ง ที่ 380/2563 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาในการกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารพื้นที่ให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ตามนโยบายของรัฐ และติดตามกำกับนโยบายการจัดการรายได้จากทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างรายได้จากการใช้อสังหาริมทรัพย์ของการรถไฟฯ อย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด

ได้มอบนโยบายให้ปลัดกระทรวงคมนาคม  อธิบดี  ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงคมนาคมนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ภายใต้การบูรณาการให้สอดคล้อง และตอบสนองต่อแนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 - 2580 รวมถึงนโยบายของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และสนับสนุนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามหลักธรรมาภิบาล ตามหนังสือของกระทรวงคมนาคม ที่ คค 0100/ว275 ลงวันที่ 29 มกราคม 2564

การสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

มีนโยบายในด้านการบริหาร และพัฒนาที่ดินโดยได้ดำเนินการ ดังนี้

มีนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมโดยได้ตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย อาทิ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ผู้บุกรุกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส

ปัญหาที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

ปัญหาการบุกรุกที่ดินบริเวณเขากระโดง มีปัญหามาอย่างยาวนาน มีผู้บุกรุก จำนวนประมาณ83 ราย ที่ผ่านมา รฟท. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรุกตามขั้นตอนภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง มีปัญหามีมาอย่างยาวนาน และมีความสลับซับซ้อน เกิดขึ้นจากกระบวนการสำรวจ การออกเอกสารสิทธิ์ที่คลาดเคลื่อน ซึ่งในอดีต

ที่ผ่านมาการรถไฟฯ ได้เสาะหาข้อเท็จจริง และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายมาโดยตลอด โดยล่าสุดเมื่อต้นปี 2564 การรถไฟฯ ได้ดำเนินการสำรวจที่ดินบริเวณเขากระโดงโดยไม่ได้มีการสำรวจที่ดินของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นการเฉพาะ พบว่า มีผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยหน่วยงานราชการประมาณ 900 ราย แบ่งเป็น

-โฉนดที่ดิน จำนวน 700 ราย

-ที่มีการครอบครอง (ท.ค.) จำนวน 19 ราย

-น.ส.3ก. จำนวน  7 ราย

-หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) จำนวน 1 ราย

-ทางสาธารณประโยชน์ จำนวน 53 แปลง

-และอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏเลขที่ดินในระวางแผนที่อีก จำนวน 129 แปลง

การรถไฟฯ ได้ดำเนินการแก้ปัญหาที่ดินที่มีข้อพิพาทที่มีการออกเอกสารสิทธิ์บนพื้นที่ที่สันนิษฐานว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ โดยยึดหลักการที่ว่า “ประชาชนถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการ และอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว เป็นผู้อาศัยในที่ดินโดยสุจริต” ดังนี้

การดำเนินการกรณีประชาชนฟ้องการรถไฟฯ

ประชาชน ได้ฟ้อง รฟท. โดยอ้างสิทธิ์ตาม ส.ค.1 และ นส.3 ก. และการรถไฟฯ ได้เข้าต่อสู้คดีตามขั้นตอนของกฎหมาย ศาลฎีกาในคดีเหล่านั้นเชื่อข้อเท็จจริงตามแผนที่ที่นำเสนอโดยการรถไฟฯ ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินบังคับคดีตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดในแต่ละคดีแล้ว

อย่างไรก็ดีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นจะผูกพันเฉพาะคู่ความในคดี โดยไม่ผูกพันบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่คู่ความตามคดีนั้นๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145

การดำเนินการกรณีไม่มีข้อพิพาทในศาล

การรถไฟฯ ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อหาข้อยุติในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบนที่ดินบริเวณเขากระโดง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอให้กรมที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ราษฎรและให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อพิจารณาทบทวนการใช้อำนาจดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 การรถไฟฯ ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน ขอให้กรมที่ดินดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61

ทำไมไม่ฟ้องประชาชนตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุด

ตามคำวินิจฉัยของสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นกรณีที่กรมที่ดินได้มีหนังสือหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่แจ้งให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61

ซึ่งการรถไฟฯ ไม่ทราบว่ากรมที่ดิน ได้หารือประเด็นใดรวมถึงการจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของสำนักงานอัยการสูงสุดเพียงใด อย่างไรก็ดีการรถไฟฯ ได้นำคำวินิจฉัยของสำนักงานอัยการสูงสุดมาพิจารณาในการดำเนินการแล้วเห็นว่า การที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ทับบนที่ดินที่สันนิษฐานว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ

เป็นกรณีที่ประชาชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการและอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว เป็นผู้อาศัยในที่ดินโดยสุจริต การรถไฟฯ จึงไม่มีความประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับประชาชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยทางราชการ แต่จะดำเนินการโดยมุ่งเน้นพิสูจน์ข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

เมื่อกรมที่ดินเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ราษฎรและให้บริการ

จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น และมีข้อเท็จจริงปรากฏตามผลของคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น ทำให้การรถไฟฯ เชื่อได้ว่าการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่บริเวณเขากระโดงโดยความคลาดเคลื่อนเกิดจากเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดินตามกฎหมายย่อมต้องทราบถึงการมีอยู่ของที่ดินดังกล่าว หากได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การรถไฟฯ จึงยืนยันขอให้กรมที่ดินพิจารณาดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่โดยพิจารณาการเพิกถอนโฉนดที่ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61  ต่อไป

 

การดำเนินการในปัจจุบันตามหลักการของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นอย่างไร ?

ปัจจุบัน การรถไฟฯ ได้ดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมาย ด้วยความ โปร่งใส เป็นธรรม ทั่วถึง และ

ไม่เลือกปฏิบัติ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนมากที่สุด บนหลักการของ รฟท. ซึ่งตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานว่า “ประชาชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการและอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว เป็นผู้อาศัยในที่ดินโดยสุจริต”

การรถไฟฯ ได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ ในนาม บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งจะลงนามสัญญาบริหาร กระบวนการทางด้านกฎหมาย การส่งมอบพื้นที่ พิจารณาแผนธุรกิจ แนวทางบริหารจัดการทรัพย์สิน และการจัดเก็บระบบฐานข้อมูลดิจิทัลที่ครบถ้วน ถูกต้อง และทันสมัย จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ ที่มีอยู่ เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด สามารถแก้ไขปัญหาการบุกรุก การออกเอกสารสิทธิ์ รวมถึงสามารถนำที่ดินมาจัดประโยชน์ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดให้กับองค์กร