บทเรียนจากคำพิพากษาฎีกา กับผู้ชุมนุมทางการเมือง (จบ)

16 ก.ย. 2564 | 16:30 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2564 | 23:29 น.
2.0 k

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

2. กรณีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่มีการชุมนุมต่อเนื่องติดต่อกัน ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม - 3 ธันวาคม 2551 เป็นเวลารวม 193 วันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การรวมตัวเพื่อชุมนุม การกล่าวปราศรัย การเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม รวมทั้งการบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล จนกระทั่งทำให้ทรัพย์สินราชการเสียหาย ก็เพื่อให้บรรลุผลตามประสงค์ของจำเลยที่1-6 (5 แกนนำ และ 1 ผู้ประสานงาน) การบุกรุกทำเนียบรัฐบาลและทำให้ทรัพย์สินราชการเสียหายที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่1-6 ในคดีก่อน จึงเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป เพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุมก็ไม่เลิก และการกระทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215,216 และ 116 
 

ในคดีนี้ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว เมื่อคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ถือว่าศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์เป็นระงับไป ตาม ป.วิอาญา มาตรา 39(4) ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ

จากแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 5167/2563 ได้วางบรรทัดฐานให้เห็นว่า การชุมนุมทางการเมืองที่มีเจตนารมณ์เดียวของ พธม. คือคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญและขับไล่รัฐบาลขณะนั้น โดยมีการชุมนุมต่อเนื่องติดต่อกัน แม้จะมีการเคลื่อนไหวดาวกระจายไปในที่ต่างๆ แต่ยังคงปักหลักพักค้าง โดยมีเวทีหลักเพียงแห่งเดียว ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นการกระทำกรรมเดียว ถือเป็นคำวินิจฉัยที่เป็นคุณแก่จำเลยทุกคนที่เข้าร่วมชุมนุม กรณีจึงแตกต่างจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง หรือม็อบสามนิ้วในปัจจุบัน ที่มีการชุมนุมเป็นครั้งคราว ไม่ต่อเนื่องกัน หากถูกฟ้องและดำเนินคดี กรณีอาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน คือต่างกรรม ต่างวาระ ซึ่งผู้ชุมนุมพึงระวัง  อาจถูกลงโทษเรียงกระทงตามความผิดแต่ละกรรมได้ เมื่อรวมหลายกรรมอาจเจอคุกหลายปี
 

นอกจากนี้ เมื่ออัยการโจทก์ได้ฟ้องแกนนำเป็นจำเลย ในฐานความผิดใดความผิดหนึ่ง โดยบรรยายฟ้องอ้างเหตุการกระทำความผิดอันเกิดจากการชุมนุมในคราวเดียวกัน และขอให้ศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว จะเอาเหตุการณ์อื่นๆ ในการชุมนุมคราวเดียวกัน มาฟ้องให้จำเลยที่เป็นแกนนำและผู้เข้าร่วมชุมนุมให้ต้องรับผิดอีกไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ต้องห้าม เพราะเป็นการฟ้องซ้ำ นั่นคือการกระทำความผิดกรรมเดียว จะฟ้องให้จำเลยได้รับโทษหลายครั้งมิได้ ดังที่ศาลฎีว่าได้วินิจฉัย 
 

3. มีประเด็นที่น่าศึกษาอีกว่า ในการพิจารณาคดีความผิดของ ประชาชน ในกรณีที่เป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง อันเป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพของประชาชน ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ พนักงานสอบสวน มักจะอ้างเอาประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับกับประชาชน เพื่อกล่าวหาและดำเนินคดีเสมอ โดยเฉพาะ ป.อาญา ม.215, 216 และ 116 ทำให้เห็นว่า กฎหมายอาญาอยู่เหนือสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฯ 

กรณีตามคำพิพากษาฎีกานี้ก็เช่นกัน ที่สำคัญคือ จำเลยในคดีลักษณะดังกล่าว เมื่อเป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุม หรือเป็นแกนนำก็ตาม เมื่อไม่มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดอาญาร้ายแรง หรือเป็นผู้ก่ออาชญากรรมเยี่ยงอาชญากร กรณีเป็นเพียงความผิดทางการเมือง ต่อต้านการใช้อำนาจโดยมิชอบของฝ่ายรัฐ หรือกระทำหน้าที่ในฐานะพลเมือง และโทษที่ศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษ ก็มีอัตราโทษเพียง 8 เดือน เหตุใดจึงไม่อยู่ในดุลยพินิจของศาล ที่สามารถที่จะรอการลงอาญาหรือรอการกำหนดโทษ 
 

ทั้ง ๆ เมื่อเปรียบกับคดีอาญาลักษณะความผิดอื่นที่ร้ายแรงกว่านี้ ไม่ว่าความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ลัก, วิ่ง, ชิง, ปล้น, ทำร้ายร่างกาย หรือประมาท และฆ่าผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลก็มีคำพิพากษาให้รอการลงโทษได้ คดีการเมืองที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด มิได้มีเถยจิตเป็นโจร หรือ มีลักษณะเป็นอาชญากร น่าจะอยู่ในดุลยพินิจที่ศาลควรให้โอกาสแก่จำเลย ให้ความเป็นธรรม โดยรอการลงอาญา หรือ รอการกำหนดโทษได้ แต่คดีตามฎีกาดังกล่าว กลับมีลักษณะมุ่งให้จำเลยต้องโทษจำคุกสถานเดียว โดยไมรอการลงอาญา นี่ก็เป็นบทเรียนหนึ่งที่ผู้ชุมนุมควรจะได้ศึกษา
 

4. มีประเด็นที่ควรศึกษาและน่าพิจารณาเป็นประเด็นสุดท้ายว่า การชุมนุมลักษณะอย่างไร จึงจะเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มิได้มีเจตนาเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญฯ กรณีนี้เป็นเรื่องที่ยังหาบรรทัดฐานที่แน่นอนยังมิได้ เพราะแนวคำพิพากษาศาลฎีกา มีทั้งที่เห็นว่าเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ บางฏีกาก็ตีความแตกต่างกัน 
 

ตัวอย่างเช่น การชุมนุมของ พธม. ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธ กระสุนปืนและแก๊สน้ำตาหมดอายุ เข้ายิงและสลายผู้ชุมนุมจนบาดเจ็บล้มตาย ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ประชาชนชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ใช้สิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจโดยมิชอบและเจตนาฆ่าประชาชน การสลายการชุมนุมมิได้ปฎิบัติตามหลักสากล จึงพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ประชาชนที่บาดเจ็บล้มตาย และยังมีฎีกาหลายฉบับที่วินิจฉัยว่า การชุมนุมของประชาชนเป็นไปโดยสงบ เช่น กรณีคดีการชุมนุมของชาวสงขลา คัดค้านการวางท่อก๊าซในทะเล และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทุบตี สลายการชุมนุม 
 

แต่คำวินิจฉัยตามฎีกาที่ 5167/2563 กลับมีแนวคำวินิจฉัยที่แตกต่างออกไป ทั้งๆ ที่ในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ มีคำวินิจฉัยเห็นสอดคล้องกันโดยศาลชั้นต้นเห็นว่า "กรณียังไม่ชัดแจ้งว่า การกระทำของจำเลยหรือของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มิได้เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญตามที่โจทก์ฟ้องจริงหรือไม่ เนื่องจากการชุมนุมของพันธมิตรฯ บรรยากาศในการชุมนุมโดยรวมต้องถือว่า เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 63 
 

ส่วนความไม่สงบที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กลุ่มพันธมิตรฯ มิได้เป็นฝ่ายก่อให้เกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นจากฝ่ายตรงข้าม และยังเห็นว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ  ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ และเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 215,216
 

แต่ศาลฎีกากลับไปยกเอา เหตุเรื่องการชุมนุมทำให้ประชาชนและข้าราชการเดือดร้อน ไม่สามารถเดินทางผ่านถนนสาธารณะบริเวณที่มีการปิดกั้นการจราจรโดยกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งยังยกข้อกฎหมายเรื่อง พรบ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 39 และการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืน พรบ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มาประกอบคำวินิจฉัยว่า เป็นการชุมนุมโดยไม่สงบ โดยไม่เห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้น ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับศาลล่างที่คำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ประกอบกับพฤติกรรมของผู้ชุมนุมว่ามีเจตนาอย่างไรเป็นสำคัญ รวมถึงพิจารณาว่า ความวุ่นวายเกิดจากการกระทำของผู้ชุมนุมหรือไม่ อันเป็นการให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนยิ่งกว่า ความไม่สะดวกอันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการชุมนุมทางการเมือง
 

การศึกษาบทเรียนจากคำพิพากษาฎีกา สำหรับผู้ชุมนุมทางการเมืองเพื่อเข้าใจแนวคิดและบรรทัดฐานในการพิจารณาและพิพากษาคดี เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งของผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะการชุมนุมในยุคปัจจุบัน หากถูกดำเนินคดีโดยสถานหนัก หรือในทุกกระทงความผิดตามกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน ผู้ชุมนุมอาจติดคุกหัวโตโดยมิอาจร้องครวญครางกับใครได้ และกฎหมายปัจจุบันแตกต่างจากอดีต 
 

ขนาดผู้ชุมนุม พธม.ทำตัวเรียบร้อยชุมนุมโดยสงบ ไม่ได้ก่อความรุนแรงใดๆ ยังโดนขนาดนี้ แล้วม็อบสามกีบ กลุ่มทะลุแก๊ส ทะลุฟ้า คาร์ม็อบ จะหลุดเงื้อมมือกฎหมายได้อย่างไร อนาคตคงจบที่คุก ถ้ายังท้าทายอำนาจตามกฎหมาย