ร้านอาหาร - สนามกอล์ฟ รัฐควรให้เปิดกิจการ

25 ส.ค. 2564 | 06:20 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2564 | 18:59 น.
1.4 k

คอลัมน์ ข้าพระบาท ทาสประชาชน โดย ประพันธ์ คูณมี

วิกฤติโควิดระลอกนี้ ถือว่าเป็นระลอกใหญ่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้รัฐต้องมีมาตรการล็อกดาวน์ โดยมีคำสั่งให้ปิดกิจการต่างๆ มากมาย รวมถึงกำหนดเวลาเดินทาง ห้ามออกนอกบ้าน ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ปิดโรงงานที่สงสัยว่าเป็นคลัสเตอร์แพร่เชื้อ รวมมาตราการอื่นอีกเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเดือน จนตัวเลขผู้ติดเชื้อทรงตัวอยู่ระหว่าง1-2 หมื่นราย มีผู้เสียชีวิตหลักร้อยทุกวัน 


แม้ปัญหาโควิดจะผ่อนคลายลงไปได้บ้าง แต่ก็คงไม่หายขาดไปจากโลก หรือหมดสิ้นไปจากประชาชนไทย หนทางที่ประเทศต่างๆ ดำเนินการและรับมือกับโควิด จึงเป็นไปในทิศทางระดมฉีดวัคซีนแก่ประชาชนให้มากที่สุด และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคให้หายมาก ให้ประชาชนรู้จักดูแล ป้องกันและรักษาตนเอง เรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิดอย่างไร 


ขณะเดียวกันรัฐก็ผ่อนคลายมาตรการบังคับประชาชน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้ชีวิตประชาชนกลับคืนสูภาวะปกติให้มากที่สุด หลายประเทศได้กลับมาท่องเที่ยว ชมกีฬา เล่นกีฬา ออกกำลังกายได้ตามปกติ โดยมีมาตรการป้องกันที่ดี จำกัดจำนวนผู้เข้าชม หรือผ่านการตรวจคัดกรองว่าไม่ติดเชื้อ หรือมีการรับรองเรื่องผ่านการฉีดวัคซีนและไม่มีอาการสงสัยว่าจะติดเชื้อ เป็นต้น


หันมาพิจารณามาตรการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศและกำหนดให้ประชาชนปฏิบัติ และบังคับให้เจ้าของกิจการต่างๆต้องปิดกิจการ ในช่วงเวลาสองเดือนที่ผ่านมา มีการออกคำสั่งให้ปิดกิจการโดยมิได้จำแนก โดยให้ปิดกิจการไปหมดแทบทุกกิจการ ไม่ว่า ร้านอาหาร,ห้างสรรพสินค้า, โรงงานบางแห่ง, ธนาคาร, สถานที่ราชการ แม้แต่สวนสาธารณะ,สนามกีฬา,สนามกอล์ฟ-สนามซ้อมกอล์ฟ และกิจกรรมอื่นๆ 

แม้มีความเสี่ยงต่ำและไม่ปรากฏว่าเป็นคลัสเตอร์ หรือ แหล่งแพร่เชื้อ กิจกรรมเหล่านี้ก็โดนเหมารวมปิดไปหมด เช่นเดียวกับแคมป์ก่อสร้าง ผับบาร์ หรือโรงงาน ชุมชน ที่พบผู้ติดเชื้อ กรณีดังกล่าว จะเป็นวิธีการจัดการปัญหาที่ถูกต้องหรือไม่ ก็มีบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การปิดกิจการอื่นๆ แบบเหมารวมนั้น นอกจากมิได้ทำให้จำนวนผู้ป่วยผู้ติดเชื้อลดลงแล้ว กลับกลายเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนแก่ประชาชน สร้างปัญหาทางเศรษฐกิจมากกว่าช่วยให้ปัญหาโควิดลดลง 


หลายกิจกรรมที่รัฐสั่งปิดนั้น แทบไม่มีผลต่อการเพิ่มขึ้น หรือ ลดลงในการติดเชื้อแต่อย่างใด เพราะกิจกรรมเหล่านั้นมิได้มีผล หรือเป็นสาเหตุแห่งการแพร่เชื้อโควิด จึงเป็นเวลาอันสมควร หรือยังที่รัฐพึงจะได้ทบทวนมาตรการปิดกิจการแบบไม่เลือกหน้า โดยมิได้จำแนกแยกแยะนั้นเสีย เพราะมาตรการดังกล่าว มีแต่ผลเสียมากกว่าได้ ตรงกันข้ามกลายเป็นสร้างความเสียหายซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน และผู้ประกอบกิจการมากกว่าที่จะช่วยยับยั้งโรคระบาดให้ลดลง


ปัญหากรณีร้านอาหารและสนามกอล์ฟ ที่ผู้เขียนเห็นว่าควรให้เปิดกิจการ นอกจากเหตุผลของทั้งสองสมาคมฯ ที่ยื่นต่อรัฐบาลแล้ว ยังมีนายแพทย์สองท่านที่ออกมาให้ความเห็นแบบคนที่เข้าใจวิถีชีวิตของทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ และเข้าใจดีว่าสถานที่เหล่านั้น มิได้เป็นต้นตอที่สร้างปัญหา ที่ รัฐไม่ควรไปซ้ำเติมประชาชน


ท่านแรกคือ คุณหมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คุณหมอตั้งคำถามว่า "ปิดร้านอาหารทำไม? ไม่ควรเหมารวมตัวอย่างไม่ดี ซ้ำเติมประชาชนและลูกจ้าง ที่มีอาชีพสุจริตและปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดมาตลอด" 

โดยคุณหมอได้โพสต์เฟชบุ๊กให้เหตุผลอีกว่า “การตัดสินใจปิดไม่ให้ประชาชนนั่งทานอาหารในร้านอาหาร อาจจำเป็นต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน จริงอยู่มีผู้ประกอบการอยู่บ้างที่ไม่เข้มงวด ในเรื่องของจำนวนคนที่เข้าร้าน ทำให้การรักษาระยะห่างไม่ได้ผลและไม่ควบคุมวินัย แต่ไม่ควรนำมาห้ามทั้งหมด ในเมื่อสามารถที่จะควบคุมให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดได้ ไม่ใช่หรือ? และในเมื่อเราทราบอยู่เต็มอกแล้วว่า ชีวิตชาวโลกคงต้องอยู่กับโควิดไปอีกนาน และประเทศไทยเองก็ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของวัคซีน ทั้งจำนวนและความหลากหลายของวัคซีน การทำให้การดำรงชีวิตของคนไทยเข้าใก้ลปกติอย่างปลอดภัย ทั้งตนเองและมีความรับผิดชอบต่อสังคม กลับเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริมมากกว่า...ไม่ใช่หรือ? 


การดูตัวอย่างที่ไม่ดี แต่ตีคลุมไปว่าเลวร้ายไปทั้งหมด นอกจากไม่ช่วยควบคุมโรค แต่น่าจะเป็นการซ้ำเติมประชาชนและลูกจ้างที่มีอาชีพสุจริตและปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัดมาตลอด และแม้แต่การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ซึ่งสามารถควบคุมให้ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัดก็ยังได้ แต่มองเปรียบเสมือนว่าเป็นร้านขี้เหล้าเมายาไปทั้งหมด”


นี่คือความเห็นหนึ่งหมอ ที่กล้าออกมาพูดและแสดงความคิดเห็นแทนประชาชน และตรงใจผู้ประกอบการที่เดือดร้อน ตรงข้อเท็จจริงที่สุดที่รัฐต้องรับฟัง และเป็นความจริงที่รัฐควรเปลี่ยนมุมมอง


อีกท่านคือ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เขี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ให้ความเห็นชี้ว่า การปิดสนามกอล์ฟ และสวนสาธารณะ ลดการแพร่ระบาดของโควิดได้น้อยมาก ประชาชนเครียดควรเปิดให้คลายเครียดอย่างปลอดภัย โดยท่านได้โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า 


"ปิดอีกแล้วสนามกอล์ฟ การออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ทำให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อรับมือโควิด-19 ที่กำลังระบาดอย่างหนักขณะนี้ แสงแดดช่วยให้ผิวหนังสร้างวิตามินดี รังสียูวีในแสงแดดช่วยฆ่าไวรัสในเวลาไม่กี่นาที พื้นที่กว้างอากาศถ่ายเทดี มีลมพัดเชื้อโรคเวลาออกจากลมหายใจคนป่วยให้ลอยออกไปไกลๆ และลดจำนวนเชื้อโรคในอากาศอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสในสนามกอล์ฟ 


นักกอล์ฟอายุเกิน 60 ปี ส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้ว บางสนามอนุญาตให้เฉพาะนักกอล์ฟที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้าไปเล่นได้ การเดินทางไปสนามกอล์ฟก็ไปด้วยรถส่วนตัว ไม่ได้ไปรถสาธารณะที่จะไปติดเชื้อหรือแพร่เชื้อใคร ในการเล่นก็ไม่ได้อยู่ใก้ลกัน ต่างคนต่างตีลูก มาเจอกันอีกทีบนกรีนซึ่งพื้นที่กว้างยืนห่างกัน เพียงแต่เข้มงวดให้ทุกคนในสนามใส่หน้ากากอนามัย ทั้งแคดดี้และนักกอล์ฟ สนามกอล์ฟทุกแห่งมีมาตรการความปลอดภัยดีอยู่แล้ว ทั้งเรื่องจำนวนคน การเว้นระยะห่าง การล้างมือ การบังคับแคดดี้ให้ใส่หน้ากากตลอดเวลา สิ่งที่ควรทำคือ เร่งฉีดวัคซีนให้แคดดี้โดยเร็ว และกิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆ เช่น วิ่ง เดิน ในสวนสาธารณะก็ไม่ควรปิดเช่นกัน


สรุปก็คือ คุณหมอเห็นว่า โอกาสการติดเชื้อขณะออกกำลังกายกลางแจ้งน้อยมาก สนามกอล์ฟไม่ใช่แหล่งแพร่ระบาด ต่างจากสถานที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท การปิดสนามกอล์ฟ ช่วยน้อยมากในการลดการแพร่เชื้อ แต่ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน  สนามกอล์ฟเปิดได้จะช่วยให้คนมีงานทำอีกมากมาย เป็นการช่วยเหลือประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ”


ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ กับความเห็นของคุณหมอทั้งสองท่าน ที่มองปัญหาได้อย่างลึกซึ้งและเข้าใจตามข้อเท็จจริง ทั้งยังให้เหตุผลในทางการแพทย์ประกอบ ตามหลักวิชาการที่ควรแก่การรับฟังอย่างยิ่ง ร้านอาหาร,สนามกอล์ฟ, กิจกรรมกีฬากลางแจ้ง การออกกำลังกายในสวนสาธารณะ มิใช่แหล่งแพร่เชื้อแต่อย่างใด ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ปรากฏว่า ร้านอาหารและสมาคมภัตตาคารไทย, สนามกอล์ฟและสมาคมสนามกอล์ฟไทย ก็ก้มหน้าก้มตาให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตามคำสั่งและประกาศของรัฐบาลด้วยดีตลอดมา 


และเมื่อความจริงได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารและกิจการสนามกอล์ฟ มิได้เป็นแหล่งแพร่เชื้อ การปิดสถานที่ดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน ก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ มากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะได้รับฟังและทบทวนแก้ไขเสีย ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองเสียใหม่ การผ่อนคลายมาตรการในกิจการใดๆ ที่ทำให้ภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศฟื้นกลับคืนมา และทำให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้ โดยไม่ก่อปัญหาต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งรีบดำเนินการ


โดยสถานการปัจจุบัน กิจการร้านอาหาร และกิจการสนามกอล์ฟ การออกกำลังกายกลางแจ้งในสวนสาธารณะ จึงเป็นกิจการนำร่องที่รัฐบาล และ ศบค. ควรเปิดให้ดำเนินกิจการได้ตามปกติดีกว่ามีคำสั่งปิด ดังเหตุผลที่กล่าวมา เพราะมาตรการปิดกิจการแบบไม่เลือกหน้า เหมารวมไปหมดเช่นนี้ เท่ากับรัฐบาลอุ้มเอาระเบิดเวลามาไว้ใก้ลตัวเท่านั้นเอง