คดี “ผกก.โจ้” อย่ามวยล้ม ต้มคนดู

28 ส.ค. 2564 | 06:10 น.
2.5 k

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย... ว.เชิงดอย

+++ กลายเป็นความฉาวโฉ่ในวงการ “ตำรวจไทย” กับกรณีที่ “ผกก.โจ้” พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์  จ.นครสวรรค์ กับพวกรวม 7 คน ร่วมทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดด้วยการใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะ เพื่อเรียกรับเงินจำนวน 2 ล้านบาท จนผู้ต้องหาเสียชีวิต และนำไปสู่การตั้งข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้ผู้อื่นเสียหาย ร่วมกันข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย จน “บิ๊กปั๊ด- พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ต้องลงนามในคำสั่งให้ “ผกก.โจ้” พ้นจากตำแหน่งผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ออกจากราชการไว้ก่อนตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2564 พร้อมสั่งไล่ล่าจับตัวมาดำเนินคดี


+++ เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน จน “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องสั่งการให้ดำเนินการตามกฎหมายจนถึงที่สุด  “ให้ทุกหน่วยงานกำจัดเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมเลวร้าย ทุจริตในหน้าที่ ออกจากหน่วยงานตามกฎหมาย การกระทำใดที่มีผลกระทบต่อสังคมและประชาชน ต้องกำจัดออกไป เพื่อไม่ให้บุคคลนั้นมีโอกาสเติบโต ใช้ตำแหน่งหน้าที่สร้างความเสียหายต่อส่วนรวม” นายกรัฐมนตรีระบุ

+++ แต่คดีของ “ผกก.โจ้” มีมุมมองที่น่าสนใจจาก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ทนายความ อดีตส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ให้ข้อคิดในการทำคดีกับตำรวจว่า คดีที่นครสวรรค์ อยากเตือนตำรวจว่าอย่าทำตามกระแส เพราะจะทำงานยาก คดีนี้ "ผิดแน่นอน" (แต่ใครผิดบ้างไม่รู้) มีการทำร้ายผู้ต้องหาจนตาย แต่การสอบสวนเพื่อให้สามารถลงโทษผู้ต้องหาได้ตามข้อหาที่เป็นจริง ไม่ใช่เรื่องง่าย นักกฎหมาย ลองตอบคำถามผมดู 1.คดีนี้เป็นการฆ่าโดยเจตนาเล็งเห็นผลหรือไม่ ถ้าจะตอบแบบไม่คิดอะไร ตอบแบบสูตรสำเร็จ ตอบแบบพวกขี้เกียจอ่านตำรา ยกกาแฟขึ้นดื่ม ค่อย ๆ วางแก้วลงวางมาดนิดหน่อย ก็ตอบตามแนวฎีกาที่ 5332/2560 ว่า เป็นการฆ่าโดยเจตนา โดยเล็งเห็นผล 2.งั้นผมจะถามต่อไปว่า ถ้าเจตนาฆ่า แล้วทำไมต้องกู้ชีพด้วยการทำ CPR เพราะตามคลิปเห็นชัดว่า มีการกดกระตุ้นหัวใจหลายครั้ง แต่ไม่สามารถกู้ชีพคืนได้ ถ้าเจตนาฆ่า เมื่อตายแล้วก็จบสิ สมเจตนาที่ทำแล้ว จะไปกู้ชีพทำไม 3.หรือคดีนี้ เป็นเพียง "รีดเอาทรัพย์" เพราะถ้าเป็นการรีดเอาทรัพย์ ก็ต้องเริ่มด้วยการตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มิใช่เริ่มด้วยฆ่าด้วยเจตนา

+++ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ชี้ว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องยากที่คนไม่เรียนกฎหมายจะเข้าใจ ตนเขียนเรื่องนี้เพียงเตือนด้วยความรู้น้อย ไม่อยากให้ผิดพลาด แต่คิดว่ามือสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ก็คงระดับมือพระกาฬ ประการสำคัญตำรวจ และ อัยการ ต้องไม่ทำตามกระแส มิฉะนั้น การลงโทษก็ไม่เป็นไปตามสัดส่วนแห่งการกระทำความผิด “เรื่องนี้ประชาชนต้องการเห็นการดำเนินคดีที่รวดเร็ว เป็นธรรม และ ผู้กระทำผิดต้องถูกลงโทษ ไม่ยากหรอก พยานหลักฐานชัด ยากที่การตั้งข้อหาว่า เจตนาฆ่าโดยการเล็งเห็นผล หรือ รีดเอาทรัพย์ + ทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตาย???” ...คดี “ผกก.โจ้” จะสามารถเอาผิดได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน หรือจะเป็น “มวยล้มต้มคนดู” ต้องรอดูกันไป ... 


+++ ยินดีกับ “หมอต้น-นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์” ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ที่ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุม ครม.ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คนใหม่ ตามที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เสนอเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 นี้เป็นไปต้น เป็นการขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ แทน พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ที่จะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย.2564 นี้ ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ “อธิบดีดีเอสไอ” เป็นคนที่ไม่ใช่มาจาก “นายตำรวจ” แต่ครั้งนี้เป็น “หมอผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์”


+++ ที่ผ่านมานับแต่มี “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” เกิดขึ้นมาในปี 2545 หรือเมื่อ 19 ปีก่อน อธิบดีดีเอสไอ 10 คนที่ ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากตำรวจถึง 6 คน ไล่เลียงจาก พล.ต.ท.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์, พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์, สุนัย มโนมัยอุดม,พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง, นายธาริต เพ็งดิษฐ์, พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์, สุวณา สุวรรณจูฑะ, กอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ (รักษาการ), พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง  แล พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร 


+++ ต่อไปนี้เราคงจะได้เห็น “ดีเอสไอ” ยุค “หมอต้น-นพ.ไตรยฤทธิ์” ทำคดีพิเศษโดยใช้ความรู้ความสามารถส่วนหนึ่งเกี่ยวกับ “นิติวิทยาศาสตร์” มาช่วยคลี่คลายคดีสำคัญ ๆ เพราะเคยผ่านตำแหน่งสำคัญๆ นอกจากเคยเป็นหมอมาแล้ว ยังผ่านตำแหน่ง  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนิติเวช สำนักนิติวิทยาศาสตร์บริการ, ผอ.สำนักมาตรฐานนิติวิทยาศาสตร์, รองผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ก่อนจะที่มีคำสั่งย้ายมารับราชการตำแหน่ง “รองอธิบดีดีเอสไอ” และได้ขึ้นเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม 


+++ ช่วงหนึ่งขณะที่ นพ.ไตรยฤทธิ์ ได้รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอส ก็มีผลงานโดดเด่นด้านการสืบสวนสอบสวน อาทิ สามารถยึดอายัดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติดได้แล้วประมาณ 7,000 ล้านบาท สูงกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้คือ 6,000 ล้านบาท และ ระหว่างเป็นรองอธิบดี ก็ได้นำระบบการสืบสวนสอบสวนออนไลน์มาใช้ในการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น กรณีหลอกลวงให้ลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex-3D) ซึ่งในคดีนี้ เบื้องต้นมีผู้เสียหายลงทะเบียนไว้กว่า 14,000 คน แต่มาให้ปากคำการสอบสวน 8,436 คน พบมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 1,908 ล้านบาท ปัจจุบันคดีได้ส่งไปยังสำนักงานอัยการคดีพิเศษแล้ว