กู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน จะไหวหรือ?

18 ส.ค. 2564 | 15:45 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2564 | 00:22 น.
837

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย..กาแฟขม

  *** ประเทศยังอยู่ในภาวะสงครามโรค ต่อสู้กับโรคโควิดวายร้าย ไล่บี้ ไล่ทิ่ม จนหัวคะมำ บ้างบาดเจ็บ ล้มตาย เสียหายกันเป็นจำนวนมาก ยอดผู้ติดเชื้อล่าสุดวันที่ 15 สิงหาคม 2564 มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,157 ราย เสียชีวิต 182 ราย สะสมผู้ติดเชื้อ 928,314 ราย เสียชีวิตสะสม 7,734 ราย อาการยังคงหนักหน่วง ประเมินกันว่ายอดผู้ติดเชื้ออาจพุ่งไปสู่ 3 หมื่นรายต่อวันได้ภายในสิ้นเดือนส.ค.ต่อด้วยต้นเดือน ก.ย.

  *** สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ( GDP) ไตรมาส 2 ของปี 2564  ขยายตัว 7.5 % โดยรวมครึ่งปีเศรษฐกิจไทยปีนี้ปรับตัว 2.0 % ขณะที่ทั้งปี 2564 สศช.ปรับลดประมาณการจีดีพีใหม่ คาดการณ์อยู่ที่ 0.7-1.2% ค่ากลางอยู่ที่ 1 % อยู่บนสมมติฐานการควบคุมการระบาดของโควิดไตรมาส 3 โดยสามารถเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในไตรมาส 4 และต้องควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดในพื้นที่ฐานการผลิตและการท่องเที่ยว และไม่เกิดการระบาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศหลักจนต้องล็อคดาวน์และกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย  และที่สำคัญต้องกระจายฉีดวัคซีนได้ 85 ล้านโดสในปี 2564  ที่สำคัญหากไม่สามารถควบคุมได้ โอกาสที่จะเห็นจีดีพีทั้งปีขยายตัวต่ำกว่า 0.7%

  *** ฟังสภาพัฒน์แล้วต้องไปฟัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่า ธปท.บอกว่า โควิดฉุดรายได้ประเทศหายไป 2.6 ล้านล้านบาท ใน 2 ปี ระหว่างปี 63-65 ขยายความช่วงปี 2563-2564 โควิด 19 สร้าง “หลุมรายได้” ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทย  คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท จากนายจ้างและอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้าง 7.0 แสนล้านบาท   

  *** รายได้จากการจ้างงานในปี 2565 คาดว่าจะหายไปอีกราว 8 แสนล้านบาท  เม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นช่วยให้รายได้ และฐานะทางการเงินของประชาชนและ SMEs กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด ภาครัฐต้องเติมเงินเข้าไปในระบบควรอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 7% ของ GDP การกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะช่วยให้ GDP กลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะยาวปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่ม โดยในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของ GDP ในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว

  *** เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพี ก็ออกมาให้มุมมอง การเผชิญวิกฤติโควิด ทุกประเทศได้รับผลกระทบทั้งหมด ประเทศใดปรับตัวได้ ก็จะก้าวกระโดด หากประเทศไทยขาดนโยบายที่มีความพร้อม และมีการเปลี่ยนแปลงไม่เร็วพอ ก็จะตกขบวน ปัญหาที่เผชิญอยู่ เรื่องปากท้อง คนได้รับความลำบากมาก เจอวิกฤติต้องกักตัว ไปทำงานไม่ได้ ต้องช่วยกันดูแลปากท้องประชาชน พร้อม “ป้องกัน” ถ้าฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมรวดเร็วมากเท่าไหร่ ก็จะลดผลกระทบได้มากเท่านั้น

  *** ถัดมาเรื่องการ “รักษา” ที่ต้องเร็ว ถึงแม้ว่าผู้ป่วย 90% หายได้ด้วยการดูแลตัวเอง แต่การที่ผู้ป่วยต้องอยู่บ้าน ยังจำเป็นต้องดำเนินการคู่กับหมอทางไกล Telehealth และต้องเข้าถึงยาโดยเร็ว ถัดมาเรื่อง “อนาคต” ที่ประเทศเสี่ยงถดถอย หากภาครัฐไม่มีมาตรการรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รักษาดูแลให้ธุรกิจทุกระดับอยู่รอด และ ปรับตัวสู่ธุรกิจอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจ 4.0 และที่สำคัญต้องเตรียมพร้อมเรื่องคน เทคโนโลยี

  *** ไปดูความเคลื่อนไหวทางสังคมธุรกิจ  scgp เปิดนวัตกรรมถุงซักผ้าละลายน้ำได้ ลดเสี่ยงติดเชื้อจากเสื้อผ้าผู้ป่วยโควิด-19 ให้แม่บ้านและเจ้าหน้าที่แพทย์ โดยทีมพัฒนาได้นำความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์มาพัฒนาคุณสมบัติของฟิล์มบรรจุภัณฑ์ ให้สามารถละลายน้ำได้ก่อนนำมาออกแบบเป็นถุงซักผ้า ที่สามารถละลายน้ำได้ที่อุณภูมิ 65  องศาเซลเซียลขึ้นไปจนหมดภายใน 3-15 นาที นับว่าเป็นการตอบโจทย์ความปลอดภัยในสถานการณ์ปัจจุบันได้ดียิ่ง

  *** บอร์ด กนอ.ไฟเขียวตั้งนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้  ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตอบสนองนโยบายรัฐด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยมีเป้าหมายรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เชื่อจะเป็นพื้นที่สำคัญดึงดูดเทคโนโลยีขั้นสูงลงทุนอีอีซี คาดสามารถสร้างมูลค่าลงทุนได้ 33,200 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นราว 8,300 คน วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) บอกว่า ตั้งในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ บริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด พื้นที่โครงการอยู่ในตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ประมาณ 1,181 ไร่ มูลค่าการลงทุนโครงการ  4,856 ล้านบาท คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก และเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปี

  *** สมศักดิ์ จิตติพลังศรี บอสใหญ่แห่งค่าย “ซัยโจ เด็นกิ” แว่วว่าช่วงนี้เดินสายทำบุญในช่วงวิกฤติโควิด-19 และใกล้สารทจีน หลังไหว้เสร็จเดินสายแจกอาหารและสิ่งของให้แก่ผู้ยากไร้ โดยสนับสนุนเงิน 1 ล้านบาทแก่สมาคมนิติธรรมศาสตร์ สำหรับข้าวกล่องวันละ 1 พันกล่อง เป็นเวลา 1เดือนในพื้นที่กรุงเทพฯ และแจ้งความจำนงที่จะบริจาคข้าวสารอาหารแห้งให้วัดและชุมชนที่ยากจนในต่างจังหวัดเพิ่มเติมแห่งละ 2 แสนบาท ไปยังวัดท่าจีน จังหวัดตรัง, วัดเขากำแพง จังหวัดสุพรรณบุรี, วัดป่าธรรมโสภน จังหวัดลพบุรี, วิหารเซียนอ.สง่า พัทยา, วัดจีนหลังวัดชัยมงคล เจริญผล, วัดเล่งเน่อยี่ วัดทิพย์วารี และในเครือ ก่อนหน้านั้นครอบครัว “จิตติพลังศรี” ก็มอบเงิน1 ล้านให้เพื่อซื้ออาหารแห้งแจกที่จังหวัดนนทบุรี