โควิด-19 ผลกระทบต่อการจ้างงานเยาวชน และแรงงานนอกระบบของไทย

18 ส.ค. 2564 | 11:55 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2564 | 18:55 น.
6.7 k

โควิด-19 ผลกระทบต่อการจ้างงานเยาวชนและแรงงานนอกระบบของไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย... ผศ.ดร.เจสสิกา เวชบรรยงรัตน์, ดร.ตัณฑกา วิวัฒน์สุรกิจ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,706 หน้า 5 วันที่ 19 - 21 สิงหาคม 2564

งานวิจัยจากทางสหรัฐ อเมริกาและยุโรปพบว่า นักศึกษาจบใหม่ รวมถึงแรงงานรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ต้องเผชิญกับผลกระทบทางลบระยะยาวในด้านต่างๆ ได้แก่ ความไม่สอดคล้องของงานในตลาดแรงงาน (Job Mismatch) เส้นทางความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ และรายรับ

 

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ผลกระทบในลักษณะเดียวกันนี้ส่งผลกับประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียด้วยหรือไม่ ในส่วนของประเทศไทย แรงงานรุ่นใหม่จะได้รับผลกระทบอย่างไรจากภาวะเศรษฐกิจขาลง อันเป็นผลมาจากวิกฤติิโควิด-19 

 

เพื่อหาคำตอบเหล่านี้ บทความนี้ได้นำข้อมูลตลาดแรงงานจากปีที่ผ่านมา วิเคราะห์หาผลกระทบเบื้องต้นจากโควิด-19 ที่มีต่อแรงงานกลุ่มใหม่ในประเทศไทย

 

ในอดีต ตลอดช่วงระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยนับว่ามีอัตราการว่างงานที่ตํ่ามาก คือ ประมาณร้อยละ 1 เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่แรงงานมากกว่าครึ่งของทั้งหมด เป็นแรงงานนอกระบบ นั่นหมายความว่า การจ้างงานนอกระบบรองรับแรงงานที่ย้ายออกจากในระบบ โดยถือว่าแรงงานนอกระบบเหล่านี้ยังมีอาชีพในการสำรวจการทำงานของประชากร 

 

คำจำกัดความของแรงงานนอกระบบคือ แรงงานที่ทำงานแต่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน ดังเช่นแรงงานในระบบ นอกจากนั้น แรงงานนอกระบบมักจะมีรายได้ที่ตํ่ากว่า และมีทักษะความสามารถที่ตํ่ากว่าแรงงานในระบบ

 

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤติโควิด-19 อัตราการว่างงานในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นทวีคูณ จากร้อยละ 1 ในไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2563 (ก่อนการ lockdown ครั้งแรก) เป็นร้อยละ 2 ในไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2564 ถึงแม้ว่าอัตราการว่างงานจะยังตํ่ามากเมื่อเทียบกับอัตราการว่างของประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่ความเป็นจริงที่ตัว เลขอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีก่อน หมายความว่า เศรษฐกิจนอก ระบบไม่สามารถรองรับวิกฤติครั้งนี้ได้เหมือนในอดีต

 

จากข้อมูลสถิติเบื้องต้น โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า อัตราการว่างงานที่สูงขึ้นนั้น ไม่ได้สูงขึ้นในสัดส่วนที่เท่ากันทุกภาคส่วน เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามกลุ่มอายุและระดับการศึกษา จะพบว่า ในปีที่ผ่านมากลุ่มที่มีอายุน้อยและระดับการศึกษาสูง คือกลุ่มที่มีอัตราการว่างงานสูงสุด

 

โควิด-19 ผลกระทบต่อการจ้างงานเยาวชน และแรงงานนอกระบบของไทย

เรามักจะไม่ค่อยพบแรงงานนอกระบบในประเทศที่พัฒนาแล้ว กล่าวคือ นักศึกษาจบใหม่จะเข้าทำงานในระบบ หรือว่างงาน ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย ที่แรงงานกลุ่มใหม่มีทางเลือกทั้งทำงานในระบบ ว่างงาน หรือได้งานนอกระบบ โดยตลาดแรงงานนอกระบบเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 54 ของแรงงานทั้งหมดโดยประมาณ

 

แล้วอะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มแรงงานที่อายุน้อย และเศรษฐกิจนอกระบบ จากผลงานวิจัยของ Vivatsurakit และ Vechbanyongratana ซึ่งตีพิมพ์ใน Asian Development Review เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าร้อยละ 40 ของแรงงานที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2523 ถึง พ.ศ. 2532 (กลุ่มอายุที่น้อยที่สุดของตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา) อยู่ในแรงงานนอกระบบ รับอาชีพอิสระ หรือประกอบธุรกิจของตัวเอง 

 

ในขณะที่ร้อยละ 60 ของกลุ่มนี้เป็นแรงงานในระบบ ซึ่งจะทำงานในบริษัทเอกชนและภาครัฐ นอกจากนี้ งานวิจัยฉบับนี้พบว่า แรงงานกลุ่มใหม่ส่วนใหญ่ที่เป็นแรงงานในระบบจะทำงานในบริษัทเอกชน โดยมีเพียงร้อยละ 17 ที่ทำงานกับภาครัฐ ตรงกันข้ามกับกลุ่มแรงงานที่มีอายุสูงกว่า ที่ทำงานในส่วนราชการมากกว่าบริษัทเอกชน

 

คำถามถัดมาคือ ทำไมการกระจายตัวของการจ้างงานในแรงงานรุ่นใหม่ จึงน่าสนใจ สาเหตุหนึ่งคือ แรงงานรุ่นใหม่มีความเสี่ยงสูงสุด ที่บริษัทเอกชนจะบอกเลิกจ้าง เนื่องจากกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายค่าชดเชยของประเทศไทย

 

นั่นคือกรณีที่ถูกเลิกจ้าง แรงงานที่อยู่ในช่วงทดลองงาน หรือกลุ่มที่มีระยะเวลาทำงานสั้นจะได้รับเงินชดเชยจากบริษัทเอกชนตํ่าที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มแรงงาน ที่ทำงานเป็นระยะเวลานานกว่า 

 

ดังนั้น กลุ่มแรงงานที่โดนเลิกจ้างอาจต้องหางานในตลาดแรงงานนอกระบบเมื่องานในระบบมีจำนวนจำกัด หรือ มีจำนวนน้อยลง ข้อมูลจากการสำรวจแรงงานนอกระบบ ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติ พบว่า กรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้ โดยจากแผนภูมิข้างต้นพบว่า จำนวนของแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้นในช่วงอายุตํ่ากว่า 30 ปี ระหว่างไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2562 และไตรมาสเดียวกันของปี พ.ศ. 2563 

 

โดยจะเห็นได้ว่า การเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในแรงงานนอกระบบชัดเจนและสูงที่สุดในแรงงานที่มีช่วงอายุระหว่าง 15 ปี ถึง 19 ปี ซึ่งสัดส่วนของการเพิ่มขึ้นนี้ คิดเป็นร้อยละ 6 นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในทางกลับกัน พบว่า จำนวนแรงงานนอกระบบของกลุ่มอายุสูงกว่าหรือเท่ากับ 30 ปี มีจำนวนลดลงในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

 

โควิด-19 ผลกระทบต่อการจ้างงานเยาวชน และแรงงานนอกระบบของไทย

 

ผลสถิติเบื้องต้นด้านแรงงานหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 แสดงให้เห็นว่า อัตราการว่างงานของแรงงานที่มีระดับการศึกษาสูงกว่า มีมากกว่าและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มแรงงานที่มีระดับการศึกษาตํ่ากว่า และอัตราการว่างงานของแรงงานกลุ่มใหม่จะเพิ่มขึ้นสูงกว่าและเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่ากลุ่มแรงงานเก่า 

 

นอกจากนี้ เราพบว่าการจ้างงานในแรงงานนอกระบบ มีการเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ แต่ไม่ได้เกิดในกลุ่มแรงงานที่มีอายุสูงกว่า

 

แนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้นับเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถส่งผลกระทบต่ออาชีพในระยะยาวของกลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ในปัจจุบัน รวมไปถึงกลุ่มที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตอันใกล้นี้

 

คำถามคือ จะมีแนวทางไหนที่สามารถทำได้บ้างในสภาพการณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะเมื่อทรัพยากรที่รัฐบาลมีได้ถูกใช้จนใกล้จะ ถึงขีดจำกัด ทั้งนี้ อาจารย์แนะแนวของโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และมหาวิทยาลัยควรให้ความรู้ และข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับโอกาสต่างๆ ของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างสูง และต้องใช้เวลายาวนานในการฟื้นฟู เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิต 

 

นอกจากนี้ นักศึกษาจบใหม่และแรงงานกลุ่มใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ควรจะมีโอกาสได้เพิ่มทักษะ และความชำนาญ เพื่อที่จะช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้ค้นพบอาชีพที่เหมาะสม และมีความก้าว หน้าในอาชีพ 

 

ท้ายที่สุด การสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับนักเรียน นักศึกษา เพื่อศึกษาเพิ่ม เติมในระดับที่สูงขึ้น สามารถช่วยหลายๆ คน ระหว่างการรอคอยให้ผ่านพ้นช่วงที่ตลาดแรงงานตกตํ่า

 

โดยสรุปแล้ว ตลาดแรงงานปัจจุบันมีความท้าทายเป็นอย่างมาก แต่ความรุน แรงของผลกระทบโดยส่วนใหญ่ตกอยู่ที่กลุ่มคนอายุน้อย เยาวชนไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายของตลาดแรงงานในขณะนี้ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบระยะยาวต่อความก้าวหน้าด้านอาชีพ 

 

รวมไปถึงโอกาสในการสร้างรายได้ ดังนั้น สถาบันการศึกษาต่างๆ จึงมีความจำเป็นต้องร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือ ในการบรรเทาปัญหาที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานจะต้องเผชิญ และช่วยเพิ่มพูนทักษะให้กลุ่มแรงงานเพื่อเตรียมรับมือกับเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 

 

อ้างอิง

• Vivatsurakit, T, & Vechbanyongratana, J. 2021. “Education-occupation mismatch and its wage penalties in Thailand” Asian Development Review 38 (1): 119-141

 

• สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2020. การสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาส 1 พ.ศ. 2563   

 

• สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2021. การสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาส 1 พ.ศ. 2564  

 

• สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2019 การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2562 

 

• สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2020 การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2563