จากฐานันดรที่สี่สู่เจ้าของเหมืองหยก (5)

09 ส.ค. 2564 | 08:30 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เรื่องราวของคุณสุวรรณียังไม่จบ เพราะตัวละครที่ยังคงมีชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์ พร้อมทั้งครอบครัวที่น่ารัก ด้วยมีบุตรีที่ฉลาด เรียนเก่ง ซึ่งปัจจุบันนี้เรียนหนังสืออยู่ที่กรุงเทพฯ ในระดับมัธยมปลายแล้ว อีกทั้งมีความตั้งใจที่อยากจะเรียนแพทย์ เพื่อจะได้กลับไปรักษาประชาชนที่ด้อยโอกาสในอนนาคต ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะจากผลการเรียนที่ผมได้เห็นแล้ว เชื่อว่าน่าจะทำได้นั่นเองครับ
 

ในเรื่องราวที่ผมได้เล่าไปในตอนที่ผ่านมา ถึงการตัดสินใจที่จะเลิกสัมปทานเหมืองบ่อพลอยที่เมืองก๊กของคุณพ่อของคุณอู ติซา ทำให้ช่วงเวลาว่างในการทำการค้าค่อนข้างจะมีมาก ดังนั้นมีอยู่วันหนึ่ง อู ติซาจึงชักชวนภรรยาชาวไทย เดินทางไปเยี่ยมคุณพ่อ-คุณแม่ที่เมืองมิจีน่า รัฐกระฉิ่น ซึ่งที่นั่นเป็นถิ่นกำเนิดของอู ติซา คุณสุวรรณีเล่าให้ผมฟังว่า ทุกครั้งก่อนหน้านั้น เวลาจะเข้าไปยังประเทศเมียนมา มักจะเดินทางเข้าไปแบบไม่ค่อยถูกต้องตามกฎหมายนัก ซึ่งก็จะเดินทางเข้าไปทางชายแดนทั้งที่อำเภอแม่สายและอำเภอแม่สอด
 

แต่ครั้งนี้จะต้องมีการเปิดตัวกับทางญาติสนิทมิตรสหายของ อู ติซา แล้ว จึงจำเป็นต้องเดินทางแบบถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันเกิดความผิดพลาด อันจะนำพาซึ่งความยุ่งยากมาให้แก่ญาติๆทางสามี จึงได้เดินทางเข้าไปทางเครื่องบินที่กรุงย่างกุ้งนั่นเอง วันที่เดินทางไปถึงสนามบินที่กรุงย่างกุ้งวันแรก มีแต่คนมองดูเธอ เพราะว่าการแต่งกายและลักษณะท่าทางของเธอ ที่มองดูแล้วคล้ายกับดาราภาพยนต์ไทยบางท่าน ด่านตรวจคนเข้าเมืองก็มีถามมาว่า จะมาถ่ายภาพยนต์หรือ? ซึ่งเธอก็อดขำในใจไม่ได้ เมื่อเดินออกมาพบหน้าสามี เธอเล่าว่า เขามองดูคล้ายๆคนขับรถมารับดารายังไงยังงั้นเลย อีกทั้งอู ติซาเองก็ไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นสามีของเธอ และยังยกมือไหว้เธอด้วยความเคยชิน เพราะอย่างที่เคยเล่าให้ฟังว่า อู ติซา จะเคารพเธอเปรียบเสมือนกับเป็นพี่สาวหรือเจ้านายนั่นเองครับ
 

ครั้งนั้นต้องนั่งเครื่องบินต่อไปยังเมืองมิจีน่า ปรากฎว่าญาติๆของสามีมาคอยต้อนรับสะใภ้ชาวไทยกันเป็นขบวนเลยครับ เธอเล่าว่าชาวลีซอเขาไม่ค่อยเห่อลูกสะใภ้สยามกันเท่าไหร่เลยเนอะ???? พอเข้าไปสู่หมู่บ้านของสามี เธอจึงได้รู้ว่าเด็กหนุ่มที่เป็นเลือกมาเป็นคู่ครองนั้น ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เพราะที่หมู่บ้านนั้น เขามีความเคารพรักคุณพ่อของอู ติซา อย่างมาก เพราะท่านเคยรับราชการทหารของรัฐบาลเมียนมามาก่อน อีกทั้งยังเป็นทหารป่าของชาวกระฉิ่มมาด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้คนในหมู่บ้านนับหน้าถือตามากๆ อีกทั้งพี่ชายคนโตของอู ติซา ก็มีฐานะไม่เบาเลยทีเดียว ในส่วนของพี่ชายคนโตนั้น ได้มีลูกชายหนึ่งคน เป็นคนที่มีความชำนาญด้านการขุดหาหยกอย่างหาตัวจับยาก ซึ่งต่อมาได้เข้ามาช่วยเหลือในกิจการของเธอในที่สุด กลับมาที่หมู่บ้านอีกครั้ง หลังจากที่ได้ผ่านมาหลายวัน การคุ้นเคยเริ่มเกิดขึ้น เธอเองเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่ว่างเปล่าอยู่แล้ว ก็ได้ช่วยพ่อ-แม่สามีทำโน้น นี่ นั่นตลอด จนเป็นที่รักใคร่ของท่านทั้งสองและคนในหมู่บ้านนี้ก็มีความรักในตัวเธอเช่นกัน จึงทำให้ง่ายต่อการดำเนินธุรกิจเพชร-พลอยของเธอในเวลาต่อมานั่นเอง

เมื่อครั้งที่มาลงสนามบินที่มิจีน่า ด้วยความที่เคยเป็นสื่อมวลชนมาก่อน ทำให้เธอเป็นคนช่างสังเกตุเป็นทุนเดิม และสิ่งหนึ่งที่เธอสังเกตุเห็นที่นี่ คือแผงขายหยกและพลอยอำพันนั่นเอง เธอเล่าว่าครั้งแรกที่เห็นพลอยสีเหลืองๆ เธอก็เกิดความหลงใหลกับเจ้าพลอยสีเหลืองนี้เข้าให้แล้ว และเมื่ออยู่ในหมู่บ้านจึงทราบว่าเจ้าพลอยสีเหลืองที่เธอเห็นในสนามบินนั้น ที่หมู่บ้านนี้ก็พบเห็นอย่างมากมาย ทำให้เธอเกิดความอยากรู้อยากเห็นขึ้นมาทันที
 

เธอจึงเริ่มต้นศึกษาเจ้าพลอยสีเหลืองนั้นเพื่อการค้าเลยทันที ต้องเข้าใจว่าในยุคนั้น อินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย และ Google ก็ยังไม่เกิด การจะหาข้อมูลต้องค้นคว้าจึงยากมากๆ ที่ประเทศเมียนมาเอง สถานที่ๆจะหาข้อมูลก็ไม่ใช่ง่ายๆ ต้องไปห้องสมุดของมหาวิทยาลัยจึงจะพอหาได้  ดังนั้นจึงต้องฟังจากการบอกเล่าของผู้รู้หรือผู้คนที่อยู่ที่นั่นเท่านั้น และภาษาที่ใช้ที่นั่นก็แสนจะลำบากสำหรับเธอมาก เพราะคนที่เข้าใจภาษาอังกฤษในหมู่บ้าน ก็งูๆปลาๆ รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง ประกอบกับตัวเธอเองก็เช่นกัน ภาษาอังกฤษของเธอก็ไม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์ พอสื่อสารกันก็เกิดความคาดเคลื่อนเป็นธรรมดาครับ ชาวบ้านทั่วไปจะใช้ภาษาลีซอกันหมด แม้แต่ภาษาพม่าก็ไม่สามารถสื่อสารกันได้ ดังนั้นในช่วงเวลาที่เธออยู่ที่นั่นในทริปแรก แทบจะเรียกว่าไม่ได้ช่องทางการค้าแบบจริงๆจังๆ หรือยังไม่เต็มอิ่มนั่นเองครับ
 

หลังจากเดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯมหานคร เธอได้มีการเอาเม็ดพลอยอำพันกลับมาด้วย และเริ่มเข้าไปศึกษาที่โรงเรียนสอนอัญมณีบนถนนสีลม อันเป็นสถานที่ที่เธอได้เคยศึกษามานั่นเอง จึงได้ทราบว่าพลอยที่เธอถือติดมือกลับมากรุงเทพฯนั้นคือ “อำพัน(Amber)” ซึ่งเป็นอัญมณีเนื้ออ่อน อันเกิดจากยางไม้ที่ทับถมสะสมมาเป็นหลายร้อยหลายพันปีนั่นเองครับ

อัญมณีอำพัน หรือ Amber พบมากที่แถบประเทศริมฝั่งทะเลบอติกและที่ประเทศเมียนมาก็พบมากที่รัฐกระฉิ่น ซึ่งตามความเชื่อของคนเมียนมาโดยเฉพาะคนแถบรัฐกระฉิ่นทางภาคเหนือของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวชาติพันธ์ เขาเชื่อว่าเป็นอัญมณีอำพันนั้น มีสรรพคุณสามารถรักษาศพมิให้เน่าเปื่อยได้ ดังนั้นเวลามีผู้เสียชีวิต เขาจึงนิยมใส่เข้าไปในตัวศพ เพื่อให้ศพนั้นอยู่ยาวนาน
 

เหตุที่เขาเชื่อเช่นนั้น เพราะว่าในเนื้อของอำพันบางเม็ด หรืออำพันก้อนใหญ่ๆ จะมีซากของสัตว์ทั้งสัตว์เล็กๆ เช่นแมลงต่างๆ จนถึงสัตว์ใหญ่ๆ เช่นกระดูกของแมมมอสเป็นต้น เหมือนที่เราเคยดูมาจากภาพยนต์เรื่อง “จูราสสิกปาร์ค” นั่นแหละครับ จึงทำให้เขาเกิดความเชื่อเช่นนั้นมาตลอด 
 

กำลังสนุกเลยนะครับ กระดาษหมดอีกแล้ว คงต้องติดตามตอนต่อไปในอาทิตย์หน้านะครับ