ด้วยพระ ‘บารมี’

07 ก.ค. 2564 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2564 | 01:07 น.

แบรนด์สตอรีส์ โดยกฤษณ์  ศิรประภาศิริ [email protected]

ดาราตุ๊กตาทองเจ้าบทบาท AUDREY HEPBURN ผู้ล่วงลับไปแล้ว เคยให้ข้อคิดคำคมไว้ว่า

 

“AS YOU GROW OLDER, YOU WILL DISCOVER THAT YOU HAVE TWO HANDS : ONE FOR HELPING YOURSELF, THE OTHER FOR HELPING OTHERS”

 

และเธอก็ทำตาม “คำพูด” จน “วาระสุดท้าย” แม้ป่วยด้วยโรคร้าย ก็ยังเข้มแข็ง ไม่ยอมพัก ออกไปเยี่ยมเยียนสงเคราะห์งานกุศลไม่ขาด ด้วยความเชื่อว่า เขาเหล่านั้น ต้องการเวลาของเธอ จนจากไปในท้ายที่สุด

 

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกหลังนี้ ดูท่าทางน่ากลัวมากขึ้น คนที่เรารู้จักเริ่มติดมากขึ้น จากไม่มีตายเป็นตายรายวัน วันละ 40-50 ราย

 

ความเชื่อชาวบ้านที่เชื่อกันว่าฉีดวัคซีนแล้วไม่ติดโควิด ซึ่งไม่จริง เมื่อปรากฏข่าวคนติดโควิดแม้ฉีดวัคซีนไปครบ (2 เข็ม) มีภูมิพอสมควร ก็ทำให้ผู้คนหวั่นไหว ยิ่งคนใจอ่อนกลัวเข็ม กลัวผลข้างเคียง จะถือโอกาสหลีกเลี่ยงไม่ฉีดเอา ซึ่งก็จะทำให้ HERD IMMUNITY “ภูมิคุ้มกันหมู่” ไม่เกิด

 

หากผู้คนในสังคมไม่ยินยอมพร้อมใจกันฉีดวัคซีนเป็นเปอร์เซ็นต์ 50-70% ขึ้นไป

 

“ภูมิคุ้มกันหมู่” จะช่วยไม่ให้ “ไวรัสร้าย” ระบาดไม่ติดกันง่ายๆ และ “โรคระบาด” นี้ ก็จะสงบเงียบหายไปเอง

 

มีคำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้ ถ้า 80% ของประชากรได้รับวัคซีน มีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัส 4 ใน 5 คนที่เกิดไปสัมผัสผู้ติดเชื้อ จะไม่ “ป่วย” และไม่แพร่เชื้อ

 

เราสามารถควบคุม “การระบาด” ได้

 

เชื่อกันว่าถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรถึง 50-90% ตัวเลขการแพร่เชื้อ ผู้ติดโรค จะไม่มีวันลดลง

 

“ภูมิคุ้มกันหมู่” ในสังคมสูงเท่าไหร่ ประชาชนยิ่งจะได้ประโยชน์ ปลอดภัยมากขึ้น

 

เป็นที่มาของการต้องเร่งฉีดฉีด “วัคซีน” เร่งให้คนได้รับเร็วขึ้น มากขึ้น กว้างขวาง ครอบคลุมทั่วถึงขึ้น (ขณะนี้เราฉีดได้แค่ 10%)

 

เมื่อต้นเมษายน 2564 ก่อนวันหยุดสงกรานต์ (ด้วยซ้ำ) มีหมอชื่อดัง 2 ท่าน ออกทีวีให้สัมภาษณ์ว่าถ้าตัวเลขผู้ป่วยขึ้นเป็น 500 ราย 2-3 อาทิตย์ ระบบสาธารณสุขของเรามีปัญหาแน่

 

ต้นเมษาตัวเลขผู้ป่วยขณะนั้นวันละ 300-400 คน หลังจากนั้นไม่กี่วัน ตัวเลขก็พุ่งเป็น 500 ติดต่อกัน และขึ้นมาเป็น 1,000, 2,000, 3,000 ถึงวันนี้ 6,000 โดยตัวเลขไม่ได้ลดลงจากต้นเมษา บัดนี้ก็ผ่านมา 3 เดือนเต็ม มีการตั้ง รพ.สนาม และร้องเตือนกันตลอด “ห้องฉุกเฉิน” เต็มแล้ว

 

ดูเราใช้สรรพกำลังใน “การรักษา” เต็มที่จนเหนื่อยจนอ่อนล้า จน “ประสิทธิภาพ” ถอย (ตามธรรมชาติ)

 

หากเราใช้กำลังเต็มที่ใน “การป้องกัน” ไม่มีกั๊กในการจัดหา ในการบริหารการฉีด ฯลฯ จะดีกว่าไหม

ด้วยพระ ‘บารมี’

นับว่าคนไทยยังโชคดีอยู่บ้างที่ได้ “ฟ้า” มาโปรด ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยประกาศราชกิจจานุเบกษาให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้าวัคซีนมาบริการประชาชนได้ จากที่เดิมมีแค่สภากาชาดไทย และองค์การเภสัชกรรม

 

เป็น “วัคซีนตัวเลือก” เป็น “โอกาส” ที่เอกชนผู้ตระหนักในความปลอดภัยในประสิทธิภาพของการทำงาน ที่ไม่ต้องการเอา “วัคซีน” ฟรีๆ จากทางรัฐ ซึ่งไม่รู้อนาคตขั้นตอนวุ่นวายล่าช้า

 

ขอโทษครับ นี่เป็นมุมมองของ ภาคเอกชน ที่จำทนอยู่ใต้อำนาจ “ราชการ”

 

ผมสมัยรับราชการในมหาวิทยาลัยน้องใหม่ เพิ่งก่อตั้ง ยังขาด CAMPUS ทำงาน ไปขอเช่าอาคารเอกชนทันสมัยกลางพญาไท ได้คุยกับเจ้าของตึกเช่า ขอเช่าหนึ่งฟลอร์ ปรากฏว่าโดนคุณนายปฏิเสธอย่างไม่เกรงใจ “ไม่ให้ข้าราชการเช่าค่ะ เรื่องมาก วุ่นวาย และสกปรก” (ฮา)

 

ความต้องการวัคซีนในภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทที่อยากให้ดำเนินการธุรกิจได้เร็วที่สุด มีมาก ดังจะเห็นจาก SINOPHARM ล้าน DOSE แรก ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้ามาเร็วๆนี้ เริ่มฉีดได้ในเดือนมิถุนายน และยังมีหน่วยงาน องค์กร บริษัทจองคิวอีกยาว ที่ดีถือเป็น CSR คือ 10% ของวัคซีนที่บริษัทซื้อจะบริจาคฉีดให้กับคนชรา คนเสี่ยงติดโควิด คนด้อยโอกาส

 

นี่เป็นการไม่ทิ้ง “คน” ไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง ไม่ใช่สักแต่เป็นคำพูดที่ลอกเลียนมา และพูดกันหรูๆ

 

4 กรกฎาคม “วันคล้ายวันประสูติ” “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์” สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

ทรงพระเจริญ

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,694 วันที่ 8 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564