TRUE+DTAC กับปันผลที่หายไป

03 มี.ค. 2566 | 04:15 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 21:38 น.
549

TRUE+DTAC กับปันผลที่หายไป คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์

*** ภายหลังจากที่ BCP เข้าเทคโอเวอร์ ESSO จะทำให้ ESSO มีอันจะต้องถูกถอดออกจากตลาดฯ ในอนาคต เพื่อให้เหลือ BCP เพียงหนึ่งเดียวเช่นเดียวกันกับกรณีของ TRUE ที่ภายหลังจากควบรวมกับ DTAC ก็จะเหลือเพียง TRUE เพียงรายเดียวเท่านั้น ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดของการควบรวมของ BCP กับ ESSO และการควบรวมของ TRUE กับ DTAC ก็คือ ในส่วนของ BCP และ ESSO ทั้งคู่ต่างก็เป็นบริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะในส่วนของ ESSO ถึงขั้นทิ้งทวนด้วยเงินปันผลในอัตรา 1.00 บาท/หุ้น ดันให้ยีลด์ของ ESSO สูงถึง 11% ก่อนที่จะถูกถอดออกจากตลาดฯ ซึ่งภายหลังรวมตัวกันเสร็จก็มีความเป็นไปได้ว่าบริษัทเกิดใหม่ ยังสามารถที่จะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นต่อไป  

แต่เมื่อมองไปทางฟากของ TRUE และ DTAC กลับพบว่า มีเพียงแค่ฝั่งของ DTAC เท่านั้น ที่สามารถจ่ายปันผล ขณะที่ทางด้านของ TRUE กลับเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ติดลบ และยิ่งเมื่อเทียบสัดส่วนของ TRUE ที่มีขนาดใหญ่กว่า DTAC ค่อนข้างจะมากก็ทำให้มองได้ว่า บริษัทเกิดใหม่อาจจะยังไม่มีเงินปันผลเนื่องจากจะต้องแบกรับภาระในส่วนของ TRUE ที่ผลการดำเนินงานอาจจะยังขาดทุนต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม ของแบบนี้อาจจะต้องดูกันไปอีกสักหน่อย จะแตกต่างกันไปบ้างก็คือทางฝั่งของ TRUE และ DTAC อาจจะต้องดูกันให้นานกว่าปกติ ประมาณว่าดูกันอีกนาน...ไปจนถึงนานมากก็เท่านั้นเอง 
 

*** กลายเป็นส้มหล่นนอกฤดูกาลที่ทำให้ SAWAD ได้เลื่อนชั้นขึ้นไปอยู่ในดัชนีคำนวณ SET50 แทนที่ DTAC ที่หายไปจากตลาดฯ ภายหลังการควบรวมของ TRUE และ DTAC จนเหลือ TRUE เพียงรายเดียว  

อย่างไรก็ตาม ถ้าคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครจะมองว่าอุตส่าห์เข้าไปอยู่ใน SET50 ทั้งทีแต่ราคาหุ้นของ SAWAD กลับไม่ตอบสนองการเลื่อนชั้นในครั้งนี้เอาซะเลย ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงมาจากการที่ราคาหุ้นของ SAWAD ได้ตอบสนองข่าวนี้ไปแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี 

ส่วนอย่างที่สองคือ การเข้า SET50 ในรอบนี้มาในจังหวะที่ต่างชาติกำลังขายหุ้น เพื่อทำกำไรหลังจากเก็บของมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ขณะเดียวกันก็ยังมีแรงกดดันเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงปลายเดือน ที่อาจจะยังปรับขึ้นในอัตรา 0.50% จนทำให้หุ้นกลุ่ม Non-Bank ยังคงต้องแบกรับความกังวลในเรื่องดอกเบี้ยขาขึ้นต่อไปอีก  

อย่างไรก็ตาม สำหรับเจ๊เมาธ์แล้วหุ้นลีสซิ่งรายใหญ่ของไทย ไม่ว่าจะเป็น MTC TIDLOR รวมถึง SAWAD ยังคงเป็นหุ้นที่น่าสนใจ เพราะแม้ว่าราคาหุ้นอาจจะยังไม่ไปไหนไกล แต่ถ้าไม่คิดอะไรมากจังหวะนี้ใช้เป็นหลุมหลบภัยสำหรับเดือนพฤษภาคม (Sell in May) ที่กำลังจะมาถึงก็น่าจะดี เพราะรอบนี้ดูตามทรงแล้วน่ากลัวไม่น้อย

*** สงครามระหว่างรัฐเซีย-ยูเครน ผ่านไป 1 ปี แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นแนวทางของการยุติสงคราม ขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นสงครามตัวแทนที่มีการแบ่งฝ่ายและผู้เล่นเปิดตัวและเปิดหน้าอย่างชัดเจน ซึ่งความยืดเยื้อที่ว่านี้ จะส่งผลให้หุ้นพลังงานเต็มรูปแบบอย่าง PTTEP ยังคงได้อานิสงส์ของสงครามที่หาทางออกไม่ได้ครั้งนี้ไปเต็มๆ   

เพราะถึงแม้ราคาน้ำมันดิบที่นักวิเคราะห์เคยบอกเอาไว้ว่า อาจปรับราคาขึ้นไปได้ถึง 200 ดอลลาร์/บาเรล ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติก็ปรับราคาลงมามาก เมื่อเทียบกับช่วงที่สงครามเริ่มต้น แต่ในเมื่อสงครามยังคงยืดเยื้อไปแบบนี้ ก็ทำให้ราคาพลังงานทั้งหลายยังคงอยู่ในระดับราคาที่สูงมากเช่นเดิม และทั้งหมดที่ว่ามาก็ยังจะส่งผลบวกไปที่ผลการดำเนินงานของ PTTEP ไปได้เรื่อยๆ อีกอย่างแน่นอน และถ้าหากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่ยอมจบ...ราคาหุ้นของ PTTEP ก็ยังจะไปต่อได้อีกไม่จบลงง่ายๆ เช่นกัน

*** กลับมารอบนี้ดูแล้ว BWG ไม่ขี้เหร่แบบที่เคยเป็น อย่างหนึ่งก็เป็นเพราะบริษัทลูกอย่าง ETC ได้ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกทั้ง 10 โรง จากการเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมจำนวน 10 โรง คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 100 MW ซึ่งหากคิดกันแบบกลางๆ ในกรณีที่ทาง ETC สามารถคว้างานมาได้เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ยืนไป ก็จะเป็นโอกาสที่ทำให้ BWG สามารถขายวัตถุดิบให้กับบริษัทลูกรับเงินในเบื้องต้น  

ขณะเดียวกันก็จะได้รับส่วนแบ่งในการขายไฟฟ้าของ ETC ในฐานะของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีหุ้นของ ETC อยู่ในมือถึง 43.93% ขณะเดียวกันการที่ BWG จัดสรรวอแรนท์ BWG-W5 ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 6 หุ้นเดิมต่อ 1 วอแรนท์ ในสิทธิแปลงสิทธิ์ 1.00 บาท ก็ดึงดูดใจให้นักลงทุนสนใจได้ไม่น้อย เอาเป็นว่าอีกไม่กี่วัน เรื่องของการประมูลโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นเกมเปลี่ยนชีวิตของ BWG ก็จะมีความชัดเจน และเมื่อถึงวันนั้น...อนาคตของ BWG ก็จะมีความชัดเจน เช่นเดียวกันเจ้าค่ะ


ที่มา : หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,867 วันที่ 5 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2566